xs
xsm
sm
md
lg

สนช.เตรียมถกกฎหมาย 10 ฉบับวาระแรก ยกร่างทวงหนี้ห้ามใช้ความรุนแรง หนุนจัดตั้งวันสต็อปเซอร์วิส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
เปิดสาระร่าง พ.ร.บ.10 ฉบับ ก่อนถกวาระแรกใน สนช. 28-29 ส.ค.นี้ ตั้งแต่กฎหมายรักษาความปลอดภัยสถาบันกษัตริย์ ยกร่างการทวงถามหนี้ไม่ให้ข่มขู่ใช้ความรุนแรง แก้กฎหมายแพ่งส่วนค้ำประกันและจำนอง กำหนดหลักเกณฑ์การนำของเข้าและถ่ายลำ เพิ่มอำนาจ รมว.คลังกำหนดอัตราอากร หนุนจัดตั้งวันสต็อปเซอร์วิส พร้อมปรับปรุงร่างประกันวินาศภัยและประกันชีวิต

วันนี้ (26 ส.ค.) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 28-29 ส.ค. นี้ มีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำนวน 10 ฉบับ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอให้ สนช.พิจารณารับหลักการในวาระแรก

โดยร่างพระราชบัญญัติ 10 ฉบับประกอบด้วย 1. ร่างพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. ... ซึ่งร่างฉบับนี้เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2549 แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวยังคงมีรูปแบบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงทำให้การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการถวายความปลอดภัยของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นเอกภาพ

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย 2 ฉบับ คือ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 36 เรื่องกฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงวันที่ 30 ก.ย. 2549 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2549 (ร่างมาตรา 7)

พร้อมกันนี้ ได้มีการกำหนดนิยามศัพท์ต่างๆ เพื่อความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การถวายความปลอดภัย ให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐทั้งปวง กำหนดให้สมุหราชองครักษ์มีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศกรมราชองครักษ์ เพื่อการรักษาความปลอดภัยได้ รวมทั้งให้มีคณะกรรมการถวายความปลอดภัย โดยมีสมุหราชองครักษ์เป็นประธาน

2. ร่าง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ยกร่างขึ้นใหม่ มีเหตุผลและความจำเป็นเนื่องจากการทวงถามหนี้ในปัจจุบันมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคามโดยขู่เข็ญ การใช้กำลังประทุษร้ายฯ โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีการกำหนดความหมายของ ผู้ถูกถามหนี้ ลูกหนี้ ผู้ให้สินเชื่อและกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎกระทรวง ห้ามไม่ให้ผู้ทวงหนี้ติดต่อกับผู้อื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่บุคคลที่ลูกหนี้ได้มอบอำนาจ

พร้อมกันนี้ได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการทวงถามหนี้กับลูกหนี้ และการทวงถามหนี้ ต้องไม่กระทำการในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่น เสียดสีลูกหนี้ หรือแสดงตนหรือใช้เครื่องหมาย เครื่องแบบ ข้อความที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีอำนาจในการออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการในการทวงถามหนี้ ส่วนบทฝ่าฝืนนั้นก็มีบทลงโทษทั้งทางปกครองและทางอาญา ซึ่งมีทั้งโทษจำคุกและปรับ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจทวงนี้หากฝ่าฝืนกฎหมาย กรรมการกำกับฯ มีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนได้

3. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ....) ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นส่วนเกี่ยวกับค้ำประกันและจำนอง โดยกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน และผู้จำนองซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้ชั้นต้น เนื่องจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพให้กู้ยืม มักอาศัยอำนาจต่อรองที่สูงกว่าหรือใช้ความได้เปรียบในการทางการเงินดำเนินการกับผู้ค้ำประกัน กรณีที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดชำระหนี้ โดยเจ้าหนี้จำนวนมากเลือกที่จะฟ้องผู้ค้ำประกัน แทนการฟ้องลูกหนี้ชั้นต้น จึงทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และกลายเป็นผู้ถูกฟ้องล้มละลายด้วย

ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงแก้ไขเพิ่มเติมให้การค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข ต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้ และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน รวมทั้งจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้เฉพาะหนี้ตามสัญญานั้น กำหนดให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันเป็นผลให้ลดจำนวนหนี้ให้กับลูกหนี้ และให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้อันมีกำหนดเวลาแน่นอนฯ

4. ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่....) เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การนำของเข้าเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำออกนอกราชอาณาจักร ทำให้การศุลกากรของประเทศไม่เป็นไปตามมาตราฐานสากล และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกัน และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการประเมินค่าภาษีและการเสียภาษี จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มบทนิยามคำว่า “การผ่านแดน” และ “การถ่ายลำ” ต่อจากบทนิยามคำว่า “เขตปลอดอากร”

พร้อมกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะนำของเข้ามาในราชอาณาจักรยื่นคำร้องขอให้อธิบดีกรมศุลกากรพิจารณากำหนดราคาของนำเข้า ถิ่นกำเนิดของที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักร กำหนดให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้ราคาตามบทนิยามในมาตรา 2 (2) “ราคาศุลกากร” หรือ “ราคา” มาใช้ในการพิจารณากำหนดราคาของนำเข้าเป็นการล่วงหน้า

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเพื่อจำกัดการใช้อำนาจทางศุลกากรในการตรวจของและป้องกันการลักลอบหนีศุลกากร และให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจสอบ ตรวจค้น ของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำที่อยู่ในยานพาหนะ คอนเทนเนอร์ หรือหีบห่ออย่างอื่น โดยไม่ต้องมีหมายค้น หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าของนั้นเกี่ยวข้องหรือมีไว้เพื่อใช้ก่อการร้ายหรือฝ่าฝืนความมั่นคง ให้มีอำนาจริบได้ และให้ดำเนินการทางศุลกากรในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้

5. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ...) มีสาระสำคัญกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจในการประกาศกำหนดอัตราอากรตามราคา หรือตามสภาพได้ เพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันหรือตามสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ รวมทั้งกำหนดให้การเรียกเก็บและเสียอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาใน หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมาย หรือตามที่ รมว.การคลังประกาศกำหนดโดยความเห็นของของคณะรัฐมนตรี ให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ของที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักร และมีอำนาจพิจารณาตีความพิกัดอัตราศุลกากรฯ

6. ร่าง พ.ร.บ. การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. ... โดยสมควรให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และผู้รับบำนาญและทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด ซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่รับราชการอยู่ในวันก่อนที่บทบัญญัติ หมวด 3 สมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิกแห่ง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับสามารถกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.นี้ได้

โดยได้มีการกำหนดบทนิยามต่างๆ เช่น ข้าราชการ กองทุน เงินสะสม เงินลมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย เพื่อใดสอดคล้องกับการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้ง กำหนดประเภทบุคคลที่มีสิทธิขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก่ ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ผู้รับบำนาญที่เคยเป็นสมาชิกกองทุนฯ และทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด กำหนดระยะเวลาในการแสดงความประสงค์เพื่อขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญ และการสิ้นสุดสมาชิกภาพในกองทุนฯ

7. ร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ... โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตของหน่วยราชการให้ชัดเจน รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุญาตให้มากขึ้น จึงได้กำหนดจัดตั้งศูนย์บริการร่วมเพื่อรับคำร้องและศูนย์รับคำขออนุญาต ณ จุดเดียว (วันสต็อปเซอร์วิส) เพราะที่ผ่านมามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตจำนวนมาก บางฉบับไม่ได้กำหนดระยะเวลา เอกสาร หลักฐานและขั้นตอนที่ชัดเจนทำให้เป็นอุปสรรคต่อประชาชนในการยื่นคำขออนุญาตดำเนินการต่างๆ

8. ร่าง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่....) พ.ศ. ... ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดคำสั่งทางปกครองให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะและอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำคำสั่งทางปกครองแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอยื่นหรือส่งเอกสารที่ถูกต้อง หรือที่ยังขาดอยู่ภายในเวลาที่กำหนดและเมื่อผู้ยื่นคำขอได้จัดส่งเอกสารครบ เจ้าหน้าที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการตามคำขอไม่ได้ และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด

9. ร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และ 10. ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิต (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยทั้ง 2 ฉบับนี้มีเนื้อหาสาระสำคัญคล้ายกันคือ การปรับปรุงโครงสร้างของผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยและพระราชบัญญัติประกันชีวิต เนื่องจากสภาพปัจจุบันโครงสร้างของผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทไม่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจประกันชีวิต อีกทั้งหากบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ธุรกิจประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัยและกองทุนประกันชีวิตจะเข้าไปช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยได้ต่อเมื่อกระบวนการตามกฎหมายล้มละลายเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ซึ่งทำให้กองทุนไม่สามารถคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการประกันได้ท่วงที

จึงได้มีการปรับปรังร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างของผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจประกันภัย โดยกำหนดให้บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วหมด และต้องมีกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด กำหนดให้กองทุนมีอำนาจในการกู้ยืมเงินหรือออกตราสารทางการเงินอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด กำหนดกรอบระยะเวลาและขั้นตอนการตรวจสอบมูลหนี้ของผู้ชำระบัญชีในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกัน

นอกจากนี้ยังกำหนดให้กองทุนชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันแทนบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ.ยังเพิ่มบทกำหนดโทษคณะกรรมการบริษัทที่ไม่ส่งมอบบัญชีและเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งหมดของบริษัทให้แก่ผู้ชำระบัญชีภายใน 7 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น