รองนายกฯ ปัดตอบประธาน กรธ.เชิญอดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯ นั่งที่ปรึกษา แต่ชี้อยากได้ช่วยเพื่อเชื่อมร่างฯ เก่า งานเร็วขึ้น ตัวเองเมินร่วม รับจำเป็นก็ต้องแก้เผื่อประชามติไม่ผ่าน แต่ไม่รีบกันครหา ยังไม่คิดยืดเวลา กรธ. รับไม่เคยคิดเรื่องล้างผิด ดัก “ยิ่งลักษณ์” รบ.สามารถบังคับคดีให้จ่ายแพ่งคดีข้าว หมดสิทธิดื้อแพ่งไม่จ่าย แย้มเสียดอกเบี้ยเพิ่ม ชี้จัดการหัวขบวนการก่อน เหตุเป็นตัวการกันหมดอายุความ
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเชิญนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 มาเป็นที่ปรึกษา กรธ.ว่า ไม่ขอตอบ เป็นเรื่องของ กรธ. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนหน้านี้กำหนดให้ตั้งที่ปรึกษา กรธ.ได้ไม่เกิน 9 คน เบี้ยประชุมวันละ 4,000 บาท วันไหนไม่เข้าจะไม่ได้ ไม่มีเงินเดือน และให้คำนึงถึงคนที่เคยเป็น กมธ.ยกร่างฯ ปี 40, 50 และ 58 เอามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง เพราะสังคมเรียกร้องอยากให้มีความยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับนี้ เพื่อจะได้เร็วขึ้น ดังนั้น เมื่อคำสั่งเขียนแบบนี้นายมีชัยจึงอยากจะได้คนที่เป็นเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ในอดีต เช่น นายบวรศักดิ์ อดีตเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ปี 40 นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ปี 50 และนางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ อดีตเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ปี 58 และสามารถเชิญบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นได้เช่นกัน แต่ตนคงไม่เข้าร่วม ส่วนสังคมจะยี้หรือไม่ยี้ตนไม่รู้ แต่ความจริงตัวคนไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่เขาจะมาเล่า
เมื่อถามถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อหาทางออกกรณีทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นายวิษณุกล่าวว่า หากจำเป็นก็ต้องแก้ เพราะก่อนหน้านี้สื่อสงสัยและถามตนทุกวันว่าถ้า กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญแล้วไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร ตอนนี้ไม่มีคำตอบ แต่ต้องสร้างคำตอบขึ้นมาให้ได้ เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องรีบทำ ถ้าทำเร็วจะหาว่าเป็นการส่งสัญญาณอีกว่าจะไม่ผ่านประชามติหรือไม่ ต่อข้อถามว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีโอกาสที่จะขยายเวลาให้กับ กรธ. นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้คิด ไม่ควร ตนได้คุยกับนายมีชัยแล้ว โดยนายมีชัยไม่เคยบ่นว่าจะขอเวลาเพิ่ม เพียงแต่เล่าให้ฟังว่ามีระยะเวลา 180 วันก็จริง แต่หักวันหยุดไปแล้วจะเหลือ 120 วัน ไม่ได้มาบ่นว่าเวลาน้อยเลย
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีนายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) และแกนนำคนเสื้อแดง เสนอให้นิรโทษกรรมให้แก่คนเผาบ้านเผาเมืองว่า ไม่รู้ กระแสไม่ได้มาจากตน แต่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยพูดแล้วว่า มี 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่เข้ามาสู่กระบวนการ 2. กลุ่มที่เข้ามาสู่กระบวนการจนจบแล้ว และ 3. กลุ่มที่หนีกระบวนการ โดยต้องจัดลำดับว่าใครอยู่ในกระบวนการไหน ซึ่งตนคิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะดำเนินการอย่างไร และไม่เคยคิดด้วย
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีหากนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งทางปกครองให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีต้องชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว แต่ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่จ่ายเงิน ขณะเดียวกันก็ไม่ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่ง รัฐบาลจะสามารถบังคับคดีได้หรือไม่ว่า สามารถทำได้โดยจะมีผลเหมือนกับที่ศาลตัดสิน ส่วนระยะเวลาเป็นไปตามปกติทั่วไปเหมือนการยึดทรัพย์บังคับคดี ซึ่งอาจเป็นกระบวนการทางศาล จะจัดการจนได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า คำสั่งทางปกครองมีศักดิ์และศรีเท่ากับคำพิพากษาของศาลใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่มีวิธีบังคับได้ และยังไม่บอกว่าจะบังคับอย่างไร เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาเยอะแล้วประมาณ 300 กว่าราย บางคดีฟ้องศาลปกครองใช้เวลาเป็น 10 ปี ศาลก็ตัดสินให้บางคนผิด ให้บางคนเพิกถอนคำสั่ง เมื่อถามว่าหากคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองจำเป็นต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามจำนวนวงเงินหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องเสียดอกเบี้ย แต่เริ่มต้นต้องดูที่คำสั่งทางปกครองว่าให้ชดใช้เท่าไร และเมื่อมีการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งหากศาลเพิกถอนก็เพิกถอนทั้งหมด แต่ถ้าศาลไม่เพิกถอนจะต้องจ่ายตามที่คำสั่งเขียนไว้ จะไม่เหมือนคดีแพ่งธรรมดา อย่างไรก็ตาม เรื่องยังไปอีกยาว ยังไม่ต้องเตรียมตัว
ต่อข้อถามว่า ขณะนี้ยังไม่มีการฟ้องร้องฝ่ายปฏิบัติ แต่มีการดำเนินการกับหัวขบวนก่อน รองนายกฯ กล่าวว่า การดำเนินคดีมี 2 อย่าง 1. เอาหัวขบวนก่อน และ 2. เอาหางขบวนก่อน แล้วแต่จะเรียงลำดับ แต่เรื่องนี้ต้องเอาหัวขบวนก่อน เพราะอายุความจะครบกำหนดเร็วกว่า และเป็นเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจส่งเรื่องมา ส่วนหางขบวน ป.ป.ช.ไม่ได้ส่งมา และกำหนดเวลาเป็นอีกแบบหนึ่ง การจะฟ้องศาลก็เป็นคนละคดี คนละข้อหา และคนละศาล หากเปรียบเทียบแบบไม่ตรงนัก ซึ่งหัวขบวนคือตัวการ หางขบวนเป็นผู้สนับสนุน ถ้าไม่ฟ้องตัวกลางก่อนจะบอกได้อย่างไรว่าผู้สนับสนุนมีความผิด