รองนายกฯ แจง “ยิ่งลักษณ์” รบ.ไม่ได้ลับลวงพรางคดีข้าว การออกคำสั่งทางปกครองเอาผิด เป็นกระบวนการปกติ ใช้มากว่า 20 ปี ชี้ ป.ป.ช.ชงมาว่าประมาทเลินเล่อร้ายแรง ถือว่าเข้าข่าย ปัดเลี่ยงศาลเพราะต้องวางเงินมัดจำ ยันไม่มีทางเลือกอื่น รอคดีอาญาเสร็จก่อนไม่ได้ เพราะจะหมดอายุความ ย้อนไม่พอใจไปฟ้องศาลและเถียง ป.ป.ช.เองไม่ใช่รัฐ เผยรายงาน คกก.ชุดที่ 2 ยังไม่เสร็จ
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเรียกเก็บเงินจำนำข้าวด้วยการฟ้องศาลแทนการออกคำสั่งทางการปกครองว่า เข้าใจว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะให้คนมายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 13 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์อาจจะส่งมาให้ตนดูรายละเอียดข้อร้องเรียนดังกล่าวซึ่งการดำเนินการของรัฐบาลไม่มีอะไรที่ลับลวงพราง ตนได้ชี้แจงมาเป็นระยะว่าการดำเนินคดีทั่วไป รัฐจะเป็นผู้ฟ้องว่ากระทำผิด แต่เนื่องจากมี พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2539 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิดและการกระทำนั้นเป็นการประมาทเลินเล่อ ไม่ร้ายแรง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถไล่ผู้ร้ายแล้วชนใครบาดเจ็บเสียหายให้ฟ้องหน่วยงาน ไม่ฟ้องเจ้าตัว ถือเป็นการช่วยเจ้าหน้าที่ แต่หากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดและการกระทำนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องฟ้องเจ้าตัว ไม่ให้ฟ้องรัฐ โดยการดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองภายใน 2 ปี หากไม่พอใจสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ ซึ่งวิธีที่รัฐบาลจะดำเนินการเป็นกระบวนการปกติ ใช้มากว่า 20 ปี มีมาหลายสมัย
นายวิษณุกล่าวอีกว่า ประเด็นอยู่ที่ว่ากรณีนี้เข้าข่ายตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อมีการรายงานว่าเข้าข่าย เพราะผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นการกระทำละเมิด เป็นการกระทำที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมา จึงต้องนำไปสู่กระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตั้งข้อสังเกตว่าการออกคำสั่งทางปกครองเป็นการหลีกเลี่ยงการดำเนินการทางศาล เพราะต้องวางเงินประกันศาลนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยง แต่รัฐไม่สามารถใช้กระบวนการอื่นได้ เพราะกฎหมายสร้างกระบวนการนี้ไว้ และไม่ใช่มีวิธีเลือกสองทางแล้วมาเลือกทางนี้ แต่ไม่มีวิธีอื่นให้เลือกอีกเลย
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการให้การดำเนินคดีอาญาเสร็จสิ้นก่อน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้ เพราะอายุความมีเพียง 2 ปี หากเลย 2 ปีไปแล้วไม่สามารถออกคำสั่งได้อีก และหากศาลฎีกาตัดสินออกมาอีกแบบหนึ่งก็ไม่เป็นไร หากมีการร้องคัดค้านคำสั่งต่อศาลปกครอง การพิจารณาอาจใช้เวลานาน คำพิพากษาในคดีอาญาออกมาว่าอย่างไร ศาลปกครองก็คงฟัง เขาไม่ได้ชิงตัดสินอยู่แล้ว แต่เราต้องรีบออกคำสั่ง และหากรอคดีอาญาซึ่งไม่รู้ว่าจะกี่ปีแล้วจะทำอย่างไร หากปล่อยให้อายุความขาดรัฐก็จะกลายเป็นจำเลย
“ประเด็นคือ มี 2 กระบวนการสำหรับการดำเนินคดี ไม่ใช่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หากเข้าล็อกอย่างนี้ต้องใช่กระบวนการ ก. คือฟ้องปกติ หากอีกอย่างหนึ่งต้องใช้กระบวนการ ข. คือการใช้กฎหมายความรับผิดทางละเมิด ไม่ใช่เลือกว่า ก.หรือ ข.ก็ได้ การจะใช้กระบวนการ ก.หรือ ข. หากผู้กระทำผิดกระทำโดยไม่จงใจ ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องใช้กระบวนการ ก. แต่ถ้าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงต้องใช้กระบวนการ ข.เท่านั้น วันนี้เมื่อ ป.ป.ช.บอกเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็ต้องใช้กระบวนการ ข. หากไม่พอใจไปฟ้องศาลก็มีสิทธิจะยกว่าเรื่องนี้ไม่ควรใช้กระบวนการ ข. เพราะไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็คือต้องเถียงกับป.ป.ช. ไม่ใช่รัฐบาล” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดที่ 2 มีการยื่นเข้ามาแล้วหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่มีการยื่นเข้ามา และชุดแรกที่ตนได้รับก่อนหน้านั้น ตนยังไม่ส่งให้นายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเรื่องไม่สามารถนำมารวมกันได้