ผ่าประเด็นร้อน
แม้จะอยู่ในช่วงของการเสนอและรับฟังความคิดเห็นของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นเพียงแค่เริ่มต้น ยังอีกสักพักกว่าจะตกผลึก แล้วนำไปสู่การยกร่างเป็นรายมาตราในต้นปีหน้า ถึงตอนนั้นคงจะเดินหน้ากันเต็มตัวจะได้เห็นแนวโน้มความเป็นไปได้ของเนื้อหาที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ก็คงได้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน และพลังประชาชนหลากหลายกลุ่มที่ออกมาสนับสนุนและต่อต้านกันมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะตัองเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี ตามปฏิทินกำหนดการตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมพิจารณาความเห็นจากกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูปฯ 18 คณะ ซึ่งเชื่อว่าจะมีประเด็นต่างๆ มากมายเสนอเข้ามาสำหรับการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นลำดับถัดไป
ที่ผ่านมา มีข้อเสนอที่หลากหลายบางเรื่องเป็นชนวนทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างเข้มข้น เช่น ประเด็นข้อเสนอให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรง การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตโดยให้ยึดประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง หรือเป็นแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว ใช้วิธีการนับคะแนนแบบการเลือกตั้งของประเทศเยอรมนี เสนอให้มีการเลือกตั้งให้คนที่ได้เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่ง หากไม่ถึงต้องเลือกตั้งรอบที่สองเพื่อเอาคนที่ได้คะแนนที่หนึ่งกับที่สองมาแข่งขันกัน สารพัดวิธีการ รวมไปถึงข้อเสนอในการสกัดกั้นคนโกง การควบคุมการบริหาร การถ่วงดุลอำนาจ ฯลฯ
แน่นอนว่า หลายคนอาจรู้สึกรำคาญกับข้อเสนอและความคิดเห็นที่พรั่งพรูออกมาสารพัด ไม่ต่างจากพวกบ้าน้ำลาย ที่พูดกันได้ทั้งวัน แต่ถ้ามองในแง่บวกก็ต้องบอกว่านี่แหละ “ใช่เลย” เพราะเมื่อมีการเปิดให้แสดงความเห็น ดังนั้น ใครที่คิดอย่างไร ฝันเอาไว้อย่างไรก็เสนอเข้ามาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ก่อนที่จะนำมาร่อนลดลงมาเรื่อยๆ จนตกผลึก แล้วนำไปกำหนดในรัฐธรรมนูญต่อไป ดังนั้น อย่าเพิ่งไปรำคาญ หรือเห็นว่าเพ้อเจ้ออะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าไม่มีการเสนอความเห็นนี่สิน่ากลัวกว่า และเชื่อได้เลยว่าพอถึงเวลาจริงๆ ก็จะเสนอเพียงไม่กี่ประเด็นเท่านั้นที่จะนำมาถกเถียงจนได้ข้อสรุป ขอเพียงแต่ว่าตีองเป็นการเสนออย่างสร้างสรรค์ ให้เกิดความก้าวหน้าเท่านั้น
น่าสังเกตก็คือ ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้ สิ่งที่เห็นตรงกันก็คือการตื่นตัวเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการทุกระดับ เชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีข้อบัญญัติและตั้งองค์กรขึ้นมาควบคุมอย่างเข้มงวดแน่นอน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจและน่าจับตา ก็คือ ทิศทางของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เปิดเผยออกมาจากปากของ สุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญคณะที่ 3 ที่เปิดเผยถึงข้อสรุปเบื้องต้นในกรอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญตามกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ตามมาตรา 35(4)
ระบุไว้ว่ารัฐธรรมนูญถาวรจะต้องมี “กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด”
นั่นเป็นคำยืนยันที่นำขึ้นมาระบุอย่างชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำลังจะมีการยกร่างรายมาตราในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ความหมายก็คือคงหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว จะต้องเป็นไปตามนี้ นั่นคือคนที่เคยถูกคำสั่งศาลชี้ขาดในคดีทุจริต กระทำทุจริตเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึง “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งถ้าตีความหมายก็คือการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยในคดีโครงการรับจำนำข้าวด้วย ดังนั้น ย้ำกันอีกทีว่าตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พวกบ้านเลขที่ 111 บ้านเลขที่ 109 ก็จะถูกห้ามลงสนามการเมืองตลอดชีวิต
ซึ่งก็ต้องเดินไปทางนี้จะเลี่ยงไม่ได้ เพราะกำหนดเป็นบัญญัติ 10 ประการเอาไว้แล้วในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เว้นเสียแต่ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนกับที่เคยมีการชี้ช่องเอาไว้ในกรณีหากมีการ “ลงประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ไม่ได้กำหนดเอาไว้ ก็อาจแก้ไขเพิ่มเติมในคราวเดียวกันโดยยกเลิกหรือตัดทอนเพิ่มเติมข้อความขึ้นมาใหม่ก็ได้ แต่นั่นต้องรอดูว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ตอนนี้ “หนาว” ไว้ก่อน !!