xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ตั้ง กมธ.ศึกษา กม.ป.ป.ช. อนุฯ แนะชะลอรอร่าง รธน. แย้ม กกต.เลิกให้แดง-เหลือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1(แฟ้มภาพ)
รองประธาน สนช.เผยผลการประชุม สนช.เห็นชอบตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไข กม.ป.ป.ช. ใช้เวลา 30 วัน “ไพบูลย์” หนุน เหตุ กม.นี้ผลต่อการร่าง รธน. แนะ สนช.ชะลอรอร่าง รธน.ฉบับใหม่ก่อน กันเสียเวลา หากไม่สอดคล้องกัน แย้มหนุนฟ้องตรงศาลไม่ผ่านอัยการ เผยอนุฯ ส่วนใหญ่จ่อตัดอำนาจ กกต.แจกใบเหลือง-แดงให้ศาล ชี้สอดคล้องคำแนะนำกลุ่มการเมือง

วันนี้ (27 พ.ย.) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ในฐานะประธานการประชุม ได้เข้าสู่วาระการพิจารณา ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้เสนอ เพื่อให้สอดคล้องต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามทุจริต ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นศึกษากฎหมายฉบับนี้ ตามข้อบังคับที่ 116 วรรคสอง จำนวน 30 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ 8 คน คณะกรรมาธิการการเมือง 6 คน คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน 4 คน คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ 1 คน คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช. 1 คน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 คน โดยให้ใช้เวลาศึกษาทั้งสิ้น 30 วัน

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วยหลักนิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใชัอำนาจรัฐ กล่าวว่า เห็นด้วยต่อการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ก่อนให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาเห็นชอบ เนื่องจากการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะส่งผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในส่วนขององค์กรอิสระ หากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ ป.ป.ช.ขอแก้ไขก็จะทำให้ต้องใช้เวลาในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ของ ป.ป.ช.ในภายหลัง เหมือนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายได้ให้ความเห็นไว้ ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็ควรมีการชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อรอดูโครงร่างของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วค่อยร่างกฎหมายลูกให้สอดคล้องกัน แม้เบื้องต้นอนุกรรมาธิการที่ตนรับผิดชอบจะมีความเห็นที่สอดคล้องในบางมาตราที่ ป.ป.ช.ขอแก้ไข อาทิ การฟ้องตรงต่อศาลได้โดยไม่ต้องผ่านชั้นอัยการ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายมาตราที่ยังเห็นแตกต่างอยู่เช่นกัน

นายไพบูลย์กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาของอนุกรรมธิการฯว่าด้วย นิติธรรม ศาลและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็ได้มีการพิจารณากรอบอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการเชิญตัวแทนจากสำนักงาน กกต.เข้ามาหารือ ซึ่งเบื้องต้นอนุกรรมาธิการส่วนใหญ่ก็มีความคิดเห็นสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันว่า กกต.ควรมีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเพียงอย่างเดียว อำนาจพิพากษาให้ใบเหลือง-แดง แก่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง หากพบการทุจริตการเลือกตั้ง ให้อยู่ในความรับผิดชอบของศาล ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะให้มีการตั้งศาลเลือกตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษหรือไม่ ส่วน กกต.ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนและฟ้องร้องโดยตรงต่อศาลโดยไม่ต้องผ่านชั้นอัยการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวทางดังกล่าวนี้ก็สอดคล้องต่อความเห็นที่ตัวแทนจากพรรคการเมืองและกลุ่มมวลชนได้เข้ามาเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น