ประธานอนุ กมธ.ว่าด้วยนิติธรรม ศาล และการตรวจสอบอำนาจรัฐ นัดอนุฯ ประชุม 24 พ.ย.พิจารณารายละเอียดสาระสำคัญการยกร่าง รธน. เตรียมเสนอให้คงองค์กรอิสระ แต่ลดอำนาจ กกต.ไม่ให้วินิจฉัยความผิด พร้อมชงตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชน ทั้ง 77 จังหวัด ให้อำนาจฟ้ององค์กร และผู้บิหารท้องถิ่นได้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วยนิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใชัอำนาจรัฐ ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในการประชุมอนุกมธ.ฯ วันจันทร์ที่ 24 พ.ย. จะมีการพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป็นกรอบสาระสำคัญต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เบื้องต้นในกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น ตนมีแนวคิดจะใช้ 3 ส่วนหลัก
1.องค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดไว้ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น 2.ส่วนของผู้แทนปวงชนชาวไทย คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตรวจสอบในประเด็นนโยบายรัฐบาล โครงการรัฐบาลที่กระทบต่อภาพกว้าง ซึ่งให้สิทธิส.ส. ส.ว. สามารถตรวจสอบความผิดรัฐมนตรี และยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมได้โดยตรง และ 3.ภาคประชาชนโดยจัดตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชน จำนวน 77 จังหวัด ให้ตรวจสอบในส่วนของท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และให้อำนาจยื่นฟ้องศาลห รืออัยการประจำจังหวัดได้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือกระบวนการสรรหานั้นเป็นสิ่งที่ อนุ กมธ.พิจารณาร่วมด้วย โดยประเด็นสำคัญคือ องค์กรอิสระ เช่น กกต. ไม่ใช่องค์อำนาจธิปไตยที่ 4 ดังนั้น กระบวนการให้โทษ หรือให้คุณ จึงไม่ถือเป็นอำนาจขององค์กรอิสระ จึงไม่ควรมีหน้าที่วินิจฉัยความผิดเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นำเสนอดังกล่าวจะถูกยกเข้าสู่ที่ประชุมอนุฯ เพื่อพิจารณากำหนดเป็นแนวทางที่นำไปยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป เบื้องต้นอาจมีความเห็นที่แตกต่างจากนี้