นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ยื่นข้อเสนอ สปช. แนะยกฐานะ อบจ.เป็นจังหวัดจัดการตนเอง มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ ให้ อบต.เป็นเทศบาล ใช้สัดส่วน 1 ส.ท.ต่อ 2 หมื่นคน ผุด กม.ระเบียบ ขรก.ท้องถิ่น โอนกรมส่งเสริมการปกครองตั้งสภาพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติคุม อปท.ขึ้นตรงนายกฯ ผุดศาล อปท.เพิ่มโทษหาก บิ๊ก ขรก.ผิดนักการเมืองต้องผิดด้วย ค้านพวกแต่งตั้งผสม
วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 12.30 น. นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทยและคณะ เข้ายื่นข้อเสนอในการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปองค์กรท้องถิ่น ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผ่าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายวุฒิสาร ตันไชย กรรมาธิการและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
โดยนายพิพัฒน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น โดยมีข้อเสนอ 1. ให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2 ชั้น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือจังหวัดจัดการตนเอง และเทศบาล โดยให้ปรับปรุง อปท.ในปัจจุบัน คือ ยังคงรูปแบบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แต่ปรับให้มีบทบาทความรับผิดชอบเฉพาะงานระดับจังหวัด เช่น การจัดการมลพิษ สิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ ส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมยกฐานะ อบจ.ที่มีความพร้อมขึ้นเป็นจังหวัดจัดการตนเอง มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงจากประชาชน เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น ยกฐานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขึ้นเป็นเทศบาลทั่วประเทศ และควบรวมเทศบาล หรือ อบต.ที่อยู่ในเขตเดียวกันเป็นเทศบาลเมือง เทศบาลนคร โดยใช้สัดส่วนสมาชิกสภาท้องถิ่น 1 คนต่อประชาชน 15,000-20,000 คน
2. ให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น 3. เพิ่มอำนาจหน้าที่ของ อปท. เช่น ในเรื่องการจัดการจราจร ที่ปัจจุบันยังเป็นภารกิจของตำรวจ ก็ควรให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการดำเนินการแทน 4. ให้มีการจัดตั้งสภาพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติขึ้นมากำกับดูแลการบริหารงานของ อปท. โดยสภาดังกล่าวขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมกับโอนทรัพย์สินหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมาเป็นของสำนักงานเลขาธิการสภาพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติ ที่จะมีสถานะเทียบเท่ากระทรวง 5. ให้มีศาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอาจจะเป็นแผนกหนึ่งในศาลปกครองก็ได้ เนื่องจากในมิติการบริหารงานของท้องถิ่นนั้นจะต้องคำนึงของถึงเรื่องวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเหมาะสมของท้องถิ่นนั้น ทำให้มีความแตกต่างจากการบริหารส่วนกลาง ดังนั้น การจะมีหน่วยงานตรวจสอบต้องเป็นหน่วยที่มีความเข้าใจสภาพความเป็นไปของท้องถิ่นเป็นหลัก และกำหนดบทลงโทษผู้บริหารท้องถิ่นสถานหนัก โดยให้การกระทำผิดของข้าราชการประจำซึ่งผ่านการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของศาลแล้วว่าผิด เป็นความผิดของผู้บริหารท้องถิ่นด้วย โดยต้องรับผิดชอบทางการเมืองและอาญา ตามฐานความผิด เช่นให้ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งและมิให้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไป เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ต้องมีต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม การเข้าเสนอความเห็นดังกล่าว ทาง พล.อ.เลิศรัตน์ได้สอบถามว่า ในส่วนที่มาของนายกและสมาชิกสภาท้องถิ่น ทางสมาคมฯ มีความเห็นอย่างไรหากจะมีการเสนอให้มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้งอย่างละครึ่ง นายพิพัฒน์กล่าวว่า จากการสัมมนาทั่วประเทศเห็นร่วมกันว่า การให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเหมาะสมอยู่แล้ว แต่ในส่วนของสมาชิกสภาท้องถิ่น อย่างเช่น สมาชิกสภาเทศบาล ที่ใช้วิธีการเลืออกตั้งเขตละ 6 คนนั้น ไม่ค่อยเหมาะสม เพราะบางครั้งไม่มีสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนของหมู่บ้านที่อยู่ในภายเขตเทศบาลนั้นๆ เลย จึงเห็นควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว