xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก่อชนวนขัดแย้งไทยพุทธ-มุสลิม ร้องรัฐเร่งจัดการมาเฟียรับงานมาป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายพัฒนาเมืองเทพา จัดงาน “ค่าของแผ่นดินเมืองเทพา” ยืนยัน อ.เทพา ไม่เหมาะสำหรับเป็นที่ตั้งของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่สำคัญของชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จี้หน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการต่อกลุ่มอิทธิพลเถื่อนรับงานมารังแกคุกคามชาวบ้าน หวั่นเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างไทยพุทธ-มุสลิม ด้านกรรมการสิทธิระบุ การปกป้องทรัพยากรชุมชนเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แม้แต่ คสช.ก็ห้ามไม่ได้

 
วันนี้ (25 ม.ค.) ที่ลานอเนกประสงค์โครงการเอสเอ็มแอล ม.6 บ้านคลองขุด ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายพัฒนาเมืองเทพา ได้ร่วมกันจัดงาน “ค่าของแผ่นดินเมืองเทพา” เพื่อสื่อสารให้สังคมรับทราบถึงวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวเทพา รวมทั้งให้เกิดการตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ อ.เทพา ซึ่งมีบทบาทเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้ แต่ขณะเดียวกัน ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เลือกให้พื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา เป็นที่ตั้งของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ทำให้ชาวบ้านกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต

 
ทั้งนี้ นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาเมืองเทพา ได้เป็นตัวแทนอ่านคำแถลงการณ์เรื่อง “ขอทางเลือกพัฒนาเมืองเทพาอย่างยั่งยืน” มีใจความว่า เราขอส่งความปรารถนาดีต่อพี่น้องคนไทยว่า อ.เทพา จ.สงขลา เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีจารีตประเพณี และวัฒนธรรมที่สร้างความสงบสันติสุขให้แก่ผู้คนในสังคม

 
เมืองเทพา มีทั้งภูเขา แม่น้ำ และทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยป่าไม้ ไม้ผล พืชผัก พืชสมุนไพร สัตว์ป่า สัตว์น้ำนานาชนิด เทพามีแม่น้ำที่ไหลมาจากเขตภูเขาสูงจากเขตแดนมาเลเซีย ผ่านพื้นที่ต่างๆ ใน อ.กาบัง จ.ยะลา และ อ.สะบ้าย้อย มาสู่ อ.เทพา จ.สงขลา ได้สร้างความชุ่มชื้นความอุดมสมบูรณ์ให้แก่คนในพื้นที่ตลอดมา

 

 
อ.เทพา มีทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เป็นแหล่งผลิตอาหารให้แก่ผู้คนทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีชายหาดที่สวยงามเป็นแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดต่างๆ ชายหาดเทพา เต็มไปด้วยผู้คนนับหมื่นนับแสนคน ก่อให้เกิดร้านค้า ที่พักบังกะโล รีสอร์ตต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังมีเกาะขาม แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยปะการังนานาชนิด

 
อ.เทพา มีคลองตูหยง ที่แตกสาขาเหมือนนิ้วมือเป็นคลองที่เชื่อมต่อแม่น้ำเทพา และแม่น้ำปัตตานีเข้าด้วยกัน ท้ายคลองตูหยง มีป่าชายเลนที่เป็นเกาะแก่งน่าพิศวง ที่บ้านเกาะแลหนัง ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งผลิตกุ้งหอย ปู ปลา ให้ผู้คนได้กิน ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล เป็นแหล่งรายได้สร้างผู้คนในตำบลปากบาง มีปลากระบอก อันแสนอร่อย และมีราคาแพงมาก ก่อให้เกิดกลุ่มจับปลาด้วยมือที่มีเทคนิควิธีการที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในสงขลาก็ว่าได้

 
ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้เมืองเทพา มีชื่อเสียงโด่งดัง กลายเป็นเมืองน่าอยู่น่าอาศัย เป็นแหล่งท่องเที่ยวน่าแวะ น่าพัก เป็นแหล่งผลิตอาหารเต็มไปด้วยคุณค่าทรัพยากร เมืองเทพาได้สร้างคุณประโยชน์ต่อผู้คนในชาติอย่างมหาศาล สร้างรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี สร้างงานให้แก่ผู้คนนับหมื่นคน

 
ด้วยเหตุนี้ ทางเครือข่ายประชาชนพัฒนาเมืองเทพา จึงได้จัดงาน “ค่าของแผ่นเมืองเทพา” ขึ้นมา เพื่อเผยแพร่ให้ผู้คนได้ตระหนักรู้ถึงศักยภาพ และคุณค่าให้คนในสังคมไทยได้รับรู้ และเข้าใจเมืองเทพาได้อย่างถูกต้อง เมืองเทพาเป็นเมืองผลิตอาหารไม่ใช่เมืองที่ว่างเปล่า ไร้ผู้คน ไม่มีมูลค่าเศรษฐกิจเราขอประกาศว่า “เมืองเทพาเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรที่หลากหลายไม่เหมาะสมสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่”

 

 
อย่างไรก็ตาม การจัดงานในครั้งนี้ได้มีบุคคลบางกลุ่มได้ทำลาย ขโมย ป้ายประชาสัมพันธ์ มีการข่มขู่ คุกคาม มีการเสนอผลประโยชน์ไม่ให้มีการจัดงาน มีการสกัดกั้นผู้คนไม่ให้เข้าร่วม มีการสร้างข่าวลือที่จะก่อเหตุความรุนแรงในงาน มีการใส่ร้ายป้ายสีผู้จัดงานตามช่องทางสื่อต่างๆ

 

 
พวกเราในนาม เครือข่ายประชาชนพัฒนาเมืองเทพา จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งประชาชนคนไทยทั้งประเทศว่า 1.ขอให้ช่วยกันตรวจสอบ หยุดยั้ง ห้ามปราม บุคคลที่กระทำการไม่สอดคล้องต่อจารีตประเพณี และศาสนาอันดีงามของคนเทพา ไม่ว่าการทำลายป้ายประชาสัมพันธ์ การข่มขู่ คุกคามต่อชีวิต และทรัพย์สินผู้อื่น การใส่ร้ายป้ายสี การสร้างข่าวลือที่จะก่อเหตุรุนแรง สร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้อื่น การบริจาคการให้ผลตอบแทน การสร้างความแตกแยกระหว่างผู้คนในสังคม โดยเฉพาะชาวพุทธกับมุสลิม

2.ขอให้หน่วยงานภาครัฐ และ กฟผ.ได้ตระหนักว่า เมืองเทพา เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นอันดีงาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรพัฒนาจากต้นทุนเดิมเหล่านี้ และไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะพัฒนาเมืองเทพา โดยการทำลายแหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตอาหาร จารีตประเพณี ศาสนา และ วัฒนธรรมอันดีงามโดยการเนรมิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขึ้นแล้วมันจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อสิ่งที่สูญเสียสิ่งที่ได้มาได้ก่อให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ผู้คนในสังคม

3.ขอให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน และผู้คนได้พัฒนาเมืองเทพาบนฐานทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์บนต้นทุนความรู้ที่สะสมกันมานาน และการพัฒนาต่างๆ ควรคำนึงถึงความปลอดภัย การมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่เป็นหลักสำคัญไม่ก่อความเสียหายเดือดร้อนให้แก่ผู้คนถึงแม้คนคนนั้นจะมีแค่คนเดียว ชีวิตเดียว มีสถานการณ์ทางสังคมที่ต่ำก็ตาม เพราะเขาก็คือ มนุษย์เหมือนกันกับพวกเรา

สุดท้ายนี้ พวกเราขอประกาศว่า ทุกศาสนาสอนให้เราปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และเผ่าพันธุ์จากความเสียหายต่างๆ โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม ถือว่าเป็นการญิฮาดชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่ได้เข้าสวรรค์โดยไม่ต้องสอบสวน

 
หลังจากนั้น เป็นการเสวนาในหัวข้อ “สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากร” โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายหุสดีน อุสมา ประธานเครือข่ายรักษ์อ่าวปากบารา เป็นวิทยากรร่วมเสวนา

โดย นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า การลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรของชุมชนไม่ให้เสื่อมสลายไปเนื่องจากโครงการพัฒนาของรัฐ ถือเป็นสิทธิที่ชาวบ้านทุกชุมชนควรกระทำ เพราะสิ่งที่จะตามมาจากการพัฒนาล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

“สิทธิในการปกป้อง และบริหารจัดการทรัพยากรของชาวบ้านเป็นสิทธิที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ แม้แต่ในคำสั่งของ คสช.ก็ยังรับรองสิทธิในด้านนี้ ดังนั้น ประชาชนต้องตื่นตัวและศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะข้อมูลที่นักวิชาการซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เหมือนกับชาวบ้านเป็นผู้มาเก็บข้อมูลประกอบการทำรายงานอีไอเอนั้น ที่ผ่านมา พบว่าหลายโครงการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ล้วนไม่ตรงต่อความเป็นจริงตามที่ชาวบ้านรับรู้ เช่น กรณีของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ จ.สตูล เป็นต้น” นพ.นิรันดร์ กล่าว

 

 
ด้านนายหุสดีน กล่าวว่า กรณีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมขอโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล พบว่า มีการชักชวนชาวบ้านไปเที่ยว และศึกษาดูงานในหลายพื้นที่ และยังมีการแจกข้าวของให้แก่ชาวบ้านหลายครั้ง โดยทุกครั้งจะมีการให้ชาวบ้านลงชื่อ สุดท้ายก็มีการนำรายชื่อดังกล่าวไปอ้างว่าเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เห็นด้วยต่อโครงการ ทั้งที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโครงการใดๆ ทั้งสิ้นเลย

“ที่สตูล ก่อนหน้านี้ชาวบ้านหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าโครงการใหญ่ๆ เข้ามาในพื้นที่จะต้องมีการพัฒนา ชาวบ้านจะอยู่ดีกินดี แต่เขาลืมนึกถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต เราจึงชวนกันไปศึกษาในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ที่มาบตาพุด ก็ไปเห็นว่าชาวบ้านอยู่กันในสภาพที่มีมลพิษมากมาย ชาวบ้านจากสตูลจึงได้เขใจว่า หากในพื้นที่มีโรงงานใหญ่ๆ แบบนั้น ก็จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล หลายคนจึงเริ่มรู้ และปฏิเสธการพัฒนาในรูปแบบนั้น” นายหุสดีน กล่าว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น