xs
xsm
sm
md
lg

ส.ค.ส.2558 เพื่อแผ่นดินใต้ / อานนท์ วาทยานนท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...อานนท์ วาทยานนท์

จากการที่ผมในฐานะของภาคธุรกิจเอกชน ที่ได้ร่วมติดตามการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ซึ่งกำลังได้รับหรือจะได้รับผลกระทบ และไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ หรือที่เรียกขานกันว่า “แผนพัฒนาภาคใต้” (อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง นิคมอุตสาหกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน นิวเคลียร์ ท่าเรือน้ำลึก โรงกลั่น โรงเหล็ก รวมทั้งแท่นเจาะน้ำมันที่อยู่ผิดที่ผิดทางข้างๆ เกาะสมุยและในพื้นที่ทำกินของชุมชน เป็นต้น)

 
ผมได้รับเชิญเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมเรื่อง “แผนพัฒนาภาคใต้” ของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.) หรือ NGOใต้ ณ หน่วยรักษาพันธุ์ป่าโตนงาช้าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 27-28 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา
 
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารความเข้าใจกับสาธารณะชนทั่วไปและหน่วยงานภาครัฐ ถึงเป้าหมายในการทำงานของ NGO และเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ได้รับผลกระทบจาก “แผนพัฒนาภาคใต้” จึงขอนำข้อสังเกตและสาระสำคัญบางประการจากการประชุมมาถ่ายทอดดังนี้
 

 
***ลักษณะพื้นฐานทั่วไป


1.) พื้นฐานที่มาของ NGOภาคใต้ โดยส่วนใหญ่แล้วคือกลุ่มคนในพื้นที่ที่ตื่นตัวทางความคิดและรับผิดชอบต่อ “หน้าที่” ทางสังคม ให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพของพื้นฐานความเป็นมนุษย์ และหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่เห็นด้วยกับความ “ไม่เป็นธรรม” ที่เกิดขึ้น (จากโครงการต่างๆ) กับทรัพยากร คุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชนและประเทศของตัวเอง

2.) พื้นฐานจิตใจของ NGOใต้ แทบทุกคนที่ได้สัมผัสเป็นผู้มีจิตสาธารณะ ไม่ใช่ผู้นิยมการก้าวร้าวรุนแรง มีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาประเทศไปสู่การพึ่งพาตัวเองได้บนฐานการพัฒนาอย่างสมดุลประโยชน์ของประชาชน และสมดุลการลงทุนจากฐานทรัพยากรอันหลากหลายของประเทศ
 

 
3.) เนื่องจากงานของ NGO ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน มักเป็นงานที่มีเป้าหมายที่แตกต่าง หรือสูญเสียผลประโยชน์จากกลุ่มทุนและรัฐ (ที่มักอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มทุนการเมือง) ทำให้ตกเป็นเป้าของการโจมตีให้ “ขาดความน่าเชื่อถือ” โดยเครื่องมือสื่อและหน่วยงานต่างๆ ที่รัฐและกลุ่มทุนมีอยู่ รวมถึงการถูกคุกคามทางสวัสดิภาพส่วนตัว ขาดระบบการดูแลทุกด้านจากรัฐ ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยและความมั่นคงของรายได้และอาชีพที่จะต้องเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว

4.) รายได้และงบประมาณการสนับสนุนการทำงาน มาจากการสนับสนุนของหน่วยงานวิจัยและส่งเสริมด้านต่างๆ คือ ด้านสุขภาพ (สุขภาวะ) ชุมชน สิทธิชุมชน เศรษฐกิจชุมชนและอาชีพ ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม เป็นต้น โดยมีหน่วยงานของรัฐเอง หรือองค์กรอิสระทางวิชาการที่รัฐให้การรับรองช่วยสนับสนุนด้านงบประมาณ เช่น สสส.  สช. สกว. พอช. สถาบันพระปกเกล้า สภาพัฒนาการเมือง และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้รวมถึงเงินที่ได้จากการระดมทุนจากชุมชน หน่วยงานธุรกิจเอกชน เพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิหรือปกป้องชุมชนเองอีกด้วย
 

 
***ลักษณะการทำงาน 

การทำงานที่ผ่านมา ในการเคลื่อนงานยังเป็นลักษณะพื้นที่ใครพื้นที่มัน เช่น ที่สมุย เคลื่อนไหวเพื่อรักษาพื้นที่การท่องเที่ยวและแหล่งอาหารในทะเลจากแปลงสัมปทานปิโตรเลียม ที่กระบี่ต่อสู้เพื่อปกป้องสุขภาพชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยวและแหล่งอาหารจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ปากบาราต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชุมชุมจากอาชีพประมง ท่องเที่ยวและการเกษตรให้รอดพ้นจากการต้องการพื้นที่เพื่อทำท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
 
อาจมีบ้างที่ “การเคลื่อน” มีลักษณะเป็น “ขบวน” หนุนเสริมกัน ที่เห็นชัดเจนคือเรื่อง “ขาหุ้นพลังงาน” ที่ประชุมส่วนมากเข้าใจความสำคัญและจำเป็นของการเคลื่อนในพื้นที่ตัวเอง แต่ก็สนับสนุนให้มีการทำงานบางโอกาสที่ต้องให้ความสำคัญกับการเคลื่อนในลักษณะ “ขบวน” เพื่อหนุนกันในบางประเด็นร่วม
 

 
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามเสนอให้มี “ประเด็นร่วม” ในการทำงานในปีใหม่ 2558 นี้จากประเด็น “แผนพัฒนาภาคใต้ภาคประชาชน” เพื่อเสริมการเคลื่อนในลักษณะ “ขบวน” แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปชัดเจนว่าจะทำกันอย่างไร
 
แต่เป็นที่น่าสังเกตในเวทีที่แกนนำ NGO ต่างมีท่าทีตอบรับที่ดีกับข้อเสนอใหม่ และคำวิจารณ์จากคนทำงาน “รุ่นใหม่” และ “คนนอก” หลายส่วน เช่น นักธุรกิจ (ผม) สื่อ (ASTVผู้จัดการภาคใต้) นักกฎหมาย Enlaw (คุณทอมและคุณสุภาภรณ์) กรรมการสิทธิ์ (คุณชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์) เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการประชุมที่มีความ “ก้าวหน้า” อย่างน่าสนใจ
 

 
สำหรับการเคลื่อนงานหลักๆ ในปีใหม่ 2558 นี้ มีทั้งงานเชิงรุก และงานเชิงรับ (เรื่องถ่านหิน สัมปทานปิโตรเลียม ความมั่นคงทางอาหาร ที่ดิน ผังเมือง ฯลฯ) รวมทั้งงานที่จะร่วมกันทำ “ชุดความคิดใหม่” เรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ฉบับประชาชน ที่บางท่าน (คุณประสิทธิชัย หนูนวล) ขันอาสาไป “เริ่มทำก่อน” เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ ทางสังคมและหน่วยราชการ เพื่อสร้างความเข้าใจในทางเลือกใหม่ของภาคประชาชนต่อการพัฒนาภาคใต้อย่างมีความสมดุล
 
การเคลื่อนในประเด็นอื่นๆ ให้เน้นการประสานเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานอื่นให้มากที่สุด “ชวนเพื่อนช่วยทำ” รวมทั้งการใช้จังหวะและโอกาสจากช่องทางการทำงานในแนวทางของ สปช.ด้วย ทั้งนี้ กำหนดกรอบเวลาทำงานทั้งสามเดือนและหกเดือน และกำหนดประเมินการทำงานทุกๆ สามเดือน
 

 
ทั้งหมดคือสรุปย่อๆ ของภารกิจและทิศทางการทำงานของพี่น้อง NGOใต้กลุ่มเล็กๆ เพื่อประคับประคองทิศทางการพัฒนาของชาติอย่างเท่าทันกับกระแสของทุนโลกาภิวัตน์ ที่ต้องการแผ่นดินใต้ไปใช้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบ ผลประโยชน์อย่างยั่งยืน และมีความเป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ
 
แน่นอนว่าการต่อสู้กับ “อำนาจทุน+รัฐ” เป็นเรื่องยาก แต่การออกแบบ “ชุดความคิดใหม่ที่มีความชอบธรรมกับคนทุกกลุ่ม” แล้วเสนอเป็น “ทางออก” ให้กับทิศทางการพัฒนาภาคใต้ (แหล่งอาหาร ท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและชุมชน) แล้ว
 
ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่ง “ความสุขอย่างยั่งยืน” ของประเทศ จากการลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้และสิทธิในการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์
 

 
ผมหวังว่าการสื่อสารนี้จะทำให้เราได้เข้าใจการทำงานของพี่น้องเครือข่ายภาคประชาสังคมและพี่น้อง NGOใต้ (หรือทั้งประเทศ) อย่างถูกต้อง และมีความเข้าใจกันมากขึ้น
 
ส่วน “ชุดความคิดทางเลือกใหม่” ของประชาชนที่ร่วมดำเนินการโดยพี่น้อง NGOใต้ จะมีสาระสำคัญอย่างไรบ้างนั้น ผมจะนำมาพูดคุยต่อไปครับ และขอสวัสดีปีใหม่ ขอให้มีความสุขกายสุขใจตลอดปีใหม่ 2558 นี้ทุกท่านครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น