ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ โพสต์เฟซบุ๊กนัดรวมพล 30 ต.ค.นี้ พร้อมชี้แจงเหตุผล “ทำไมต้องค้านถ่านหิน? ทำไมต้องล้อมทำเนียบ?”
วันนี้ (11 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวหัวข้อ “ทำไมต้องค้านถ่านหิน? ทำไมต้องล้อมทำเนียบ?” โดยระบุว่า
“วันที่ 30 ตุลาคม นี้ ล้อมทำเนียบ” เป็นคำประกาศที่กำลังมีกระแสที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมออนไลน์เป็นคำประกาศที่อาจจะไม่มีคำถามถึงที่มาที่ไปในกลุ่มคนที่มีการติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
แต่อาจจะยังความสงสัยให้แก่สังคมทั่วไป หรือในหมู่คนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมแค่ค้านถ่านหินแค่นี้ ถึงต้องล้อมทำเนียบ มันเกินไปหรือเปล่า ผมว่าต้องไปหาคำตอบกันในวันนั้นครับ แต่ที่จะพออธิบายได้เบื้องต้นแบบไม่ต้องคิดอะไรมากคือ
“หากปัญหานี้ไม่หนักหนาสาหัสจริงๆ แล้ว คงไม่มีใครบ้าพอที่จะกล้าไปทัดทานกับอำนาจทางการเมืองที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในขณะนี้หรอกครับ”
“ถ่านหิน” คือ หายนะ คือความเลวร้ายในการดำรงอยู่ของมนุษย์ และมีความชัดเจนในประชาคมโลกแล้วหลายประเทศ
สำหรับประเทศไทยเอง นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ร่วมแถลงจุดยืนการลดภาวะโลกร้อน และยังร่วมเรียกร้องให้นานาประเทศให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นพิเศษ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
แต่ กฟผ. หรือจะมีกลุ่มทุนถ่านหินใดอยู่เบื้องหลังก็แล้วแต่ ยังดื้อด้านที่จะอาศัยอำนาจทางการเมืองขณะนี้เพื่อที่จะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ให้ได้ ทั้งที่กระบี่ และที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และยังใช้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ คือ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ให้ได้อย่างน้อย 9 โรง กระจายอยู่ทุกหย่อมย่านในภาคใต้
การไม่ยอมรับฟังเสียงทักท้วงของประชาชนในพื้นที่ของ กฟผ. การไม่สนใจข้อมูล หรือเหตุผลทางวิชาการที่ได้พิสูจน์แล้วถึงความเลวร้ายของเชื้อเพลิงจากถ่านหิน และยังยุยงให้ประชาชนในพื้นที่เป็นศัตรูกันท่ามกลางความไม่เข้าใจในข้อมูลที่ กฟผ.พยายามบิดเบือนจนกำลังจะกลายเป็นความขัดแย้งกันเองในหมู่พี่น้อง และยิ่งไปกว่านั้นคือ ความพยายามที่จะรวบรัดขั้นตอนของกระบวนการกลั่นกรองทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยการอาศัยอำนาจพิเศษของ คสช. ล้วนแต่เป็นท่วงทำนองอันไม่เหมาะสมยิ่งของ กฟผ.
“เขาไม่ได้คัดค้านการมีโรงไฟฟ้า หรือการผลิตพลังงานใดๆ ของรัฐ” น่าจะเป็นความเข้าใจร่วมกัน แต่เขาเหล่านั้นกำลังคัดค้านการใช้เชื้อเพลิงชนิดที่เรียกว่า “ถ่านหิน”
นี่คือข้อเสนอที่พยายามส่งเสียงให้ กฟผ.รับฟัง และเป็นการส่งเสียงไปถึงรัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายครั้ง แต่มันคงแผ่วเบาจนไม่มีใครได้ยินเสียงนั้น
“การล้อมทำเนียบในวันที่ 30 ตุลาคม นี้ คงเป็นหนทางสุดท้ายที่เขาอยากให้รัฐบาลรับฟังก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป และที่มากไปกว่านั้นคือ ความต้องการสื่อสารให้สังคมโดยรวมได้เข้าใจต่อเรื่องนี้อย่างถ่องแท้เสียที จึงเป็นที่มาที่ไป ด้วยประการฉะนี้ แล้วพบกันอย่างพร้อมเพรียงครับ”