xs
xsm
sm
md
lg

“วงจรอุบาทว์” หรือ “คนอุบาทว์” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์ทางการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนมาทุกยุคสมัย (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

ในสถานการณ์การปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองในปัจจุบัน คอการเมืองหลายคนถามข้าพเจ้าว่า “การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้จะสามารถตัดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองได้หรือไม่” ซึ่งข้าพเจ้าตอบสวนกลับไปโดยไม่ลังเลว่า “ไม่” เพราะ “วงจร” มันไม่ได้อุบาทว์ แต่ “คน” ต่างหากที่อุบาทว์ ตราบใดที่เราไม่พัฒนาคน สร้างคนให้มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย จะปฏิรูปกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่แสนครั้งก็จะยังพบกับความ “อุบาทว์” หรือวงจรอุบาทว์วงใหม่ๆ ตลอดไปไม่มีวันจบสิ้น

คำว่า “วงจรอุบาทว์” ถูกนำมาใช้อธิบาย หรือสรุปพัฒนาการทางการเมืองการปกครองไทยช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยนำปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยที่เริ่มจากความขัดแย้งแตกแยกของรัฐบาลพลเรือนอันเนื่องมาจากการแย่งชิงผลประโยชน์ การทุจริตคอร์รัปชันฉ้อราษฎร์บังหลวงจนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจโดยผู้นำทางทหาร ใช้ประกาศคณะปฏิวัติแทนรัฐธรรมนูญ บริหารบ้านเมืองโดยเผด็จการทหาร พร้อมๆ กับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสร็จแล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งก็มีการจัดตั้งรัฐบาลผสม เกิดความแตกแยกจากปัญหาเดิมๆ นำไปสู่การยึดอำนาจของทหาร วนเวียนอยู่เช่นนี้ เป็นการสลับสับเปลี่ยนกันบริหารประเทศระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตยแบบจอมปลอมที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเผด็จการรัฐสภากับเผด็จการทหาร ตลอดเวลาเกือบศตวรรษหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (โดยรูปแบบ) ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา

ตลอดเวลาที่ผ่านมาประมาณ 83 ปีของการเมืองไทย มีการปฏิวัติรัฐประหารทั้งสิ้น 19 ครั้ง ทำสำเร็จ 12 ครั้ง ไม่สำเร็จ 7 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ มีผู้นำรัฐบาล 28 คน มาจากการเลือกตั้งเพียง 9 คน มีเวลาในการบริหารประเทศรวมทั้งหมด 19 ปี นี่คือวงจรอุบาทว์ที่เราต่างคาดหวังให้มันหลุดไปจากสังคมการเมืองไทย

สาเหตุที่สังคมไทยไม่อาจจะหลุดออกจากวงจรอุบาทว์เพราะเราไม่ได้แก้ปัญหาที่คนอันเป็นปัจจัยสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามแนวคิดหลักพื้นฐานที่ว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” คน หรือประชาชนจึงมีความหมายมีความสำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นนักการเมือง (ที่เขากำลังจะเปลี่ยนเป็น “นักพัฒนาประชาธิปไตย” จนหลายคนอ้วกแตกไปแล้วเมื่อจินตนาการถึงพฤติกรรมของนักการเมืองหลายของบ้านเรา) หรือที่ชาวบ้านเรียก “นักเลือกตั้ง” ผู้จัดการการเลือกตั้ง (อดีตและปัจจุบันคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่อนาคตอาจจะเป็นมหาดไทย สาธารณสุข หรือศึกษาธิการ หรือโจรจันทโครพ และนางโมรา) และประชาชนผู้ทำหน้าที่เลือกตั้งบุคคลเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการทำให้การเมืองไทยมี “คนอุบาทว์” เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ดังที่เห็นๆ กันอยู่

แนวทางในการตัดวงจรอุบาทว์โดยหลักการ จะต้องสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยให้เป็นจริง และมั่นคงตลอดไป โดยสร้างอำนาจอธิปไตยของปวงชน ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างความเสมอภาค ภราดรภาพ สร้างกฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม สร้างวัฒนธรรมการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ทำลายการปกครองแบบเผด็จการทั้ง 2 รูปแบบคือ เผด็จการรัฐสภา และเผด็จการทหาร สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยแบบปรองดอง

ความฝันของคนไทยส่วนใหญ่หลังปฏิวัติของ คสช.เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คือ คาดหวังว่า คสช.จะขุดรากถอนโคน กำจัดนักการเมืองโกงบ้านกินเมืองให้สิ้นซากไปได้ คาดหวังว่า คสช.จะสามารถเรียกคืนทรัพย์สินทั้งหมดที่รัฐบาลทรราชฉ้อโกงไปจากประเทศชาติ และประชาชน และคาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง

แต่เมื่อเวลาในการบริหารจัดการบ้านเมืองภายใต้รัฐบาล คสช.และเครือข่ายแม่น้ำทุกสาย ตลอดระยะเวลาประมาณ 8 เดือนที่ผ่านมา ก็มีบางสิ่ง และบางส่วนที่อาจจะทำให้ความคาดหวังของประชาชนยิ่งถอยห่างจากความเป็นไปได้มากขึ้นทุกที แม้ว่าบางสิ่ง บางส่วนอาจจะสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนมากมายก็ตามที ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ายังมีคนที่มีส่วนทำให้ “วงจรอุบาทว์” วงใหม่ๆ มันเกิดขึ้นในสังคมไทยในหลากหลายรูปแบบ และกระบวนการ ไม่ว่าจะในกรณีถอดถอนอดีตผู้นำทางการเมืองทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ การบริหารจัดการพลังงาน การยกร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ในกระบวนการเหล่านี้ยังมีคนที่ไร้ประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศในวาระสำคัญแห่งชาติอยู่พอสมควร โดยเฉพาะผู้ที่ “งดออกเสียง” ในการลงมติที่สำคัญๆ อันเป็นความหวังของพี่น้องประชาชนในทุกกรณี เช่น กรณีการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ของรัฐบาล

สังคมไทยวันนี้ยังมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ และไพร่ฟ้ามากกว่าวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมที่นานาอารยประเทศเขาเป็นกัน จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในเร็ววัน โดยเปลี่ยนจากสังคมแห่งความเชื่อ และความจำไปสู่สังคมแห่งความคิดพิจารณญาณ และเปลี่ยนจากสังคมที่ใช้ความรู้สึกไปสู่สังคมแห่งความรู้ในการดำเนินชีวิตเพราะ

“ความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองจะมีเกินคุณภาพของประชาชนไปไม่ได้”

(คำกล่าวของ ดร.สาโรช บัวศรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร)
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น