ประชุม สปช. ถกเรื่องระบบเลือกตั้ง อดีตรองปลัด มท. แจงไม่อยกให้ กกต. จัดเลือกตั้งอยากให้ถ่วงดุล แต่ให้มีอำนาจวินิจฉัยกึ่งใบแดงได้เลย รับมีบางพวกฝักใฝ่การเมืองจริง ต้องกำหนดบทลงโทษ ด้าน สปช. อีกรายปิ๊งไอเดีย เสนอเปลี่ยนคำว่า “นักการเมือง” เป็น “นักพัฒนาประชาธิปไตย” อ้างไม่ให้ประชาธิปไตยถูกทำลาย
วันนี้ (12 ม.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม ในวาระการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของ สปช. เรื่อง ระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรมในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห้นหลากหลาย
อาทิ นายประชา เตรัตน์ สปช. อภิปรายว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า จะให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำท่าตื่นเต้นตกใจเหมือนหวงอำนาจ ไม่อยากให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนจัดการเลือกตั้งนั้น จากประสบการณ์ที่กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2475 - 2540 และไม่ได้จัดเพียงแค่หน่วยงานเดียว แต่ร่วมกับตำรวจ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้น ก็ทำได้ดีมาโดยตลอด
ทั้งนี้ การให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งนั้น เพราะการใช้อำนาจสั่งข้าราชการในจังหวัดเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนสาเหตุที่ไม่ต้องการให้ กกต. จัดการเลือกตั้ง เพราะต้องการให้เกิดการถ่วงดุล แยกฝ่ายจัดการเลือกตั้ง กับฝ่ายสอบสวนไม่ให้เป็นฝ่ายเดียวกัน เพราะหากฝ่ายจัดการเลือกตั้งผิดพลาดแล้วจะกล้าจับผิดตัวเองได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม กกต. ควรจะมีอำนาจวินิจฉัยกึ่งใบแดงได้เลย แต่ก็มีคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะการจัดการเลือกตั้งไม่ใช่คดีอาญา ไม่จำต้องให้ศาลไต่สวนจนสิ้นสงสัย หรือไม่ต้องรอใบเสร็จที่หาได้ยาก แต่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นเขารู้หมดว่าใครซื้อเสียง และซื้อกันเท่าไหร่
อดีตรองปลัดมหาดไทย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ กกต. ออกมาเปรียบเทียบว่า การให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งเหมือนกับการยื่นดาบให้โจรนั้น เข้าใจว่าคงไม่ได้ตั้งใจที่จะหมายความอย่างนั้น แต่ยอมรับว่าข้าราชการนั้นมีการฝักใฝ่การเมืองจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องไปออกแบบกฎกติกาว่า หากข้าราชการเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายการเมืองนั้นจะต้องมีบทลงโทษที่มีการกำหนดไว้ชัดเจน และให้อำนาจ กกต. ในช่วงหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งว่า หากข้าราชการคนใดฝักใฝ่การเมืองหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สามารถที่จะสั่งโยกย้ายได้เลย
ด้าน นายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล สปช. กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาใครที่เป็นหัวคะแนนในหมู่บ้านนั้นชาวบ้านรู้กันหมดว่าใครจะนำเงินมาจ่าย ใครเรียกเก็บบัตรประชาชนชาวบ้านรู้กันหมด ยกเว้น กกต. ที่ไม่รู้อยู่คนเดียว ทั้งนี้ สถานการณ์ขณะนี้การประกาศกฎอัยการศึกสำหรับการเลือกตั้งยังเป็นเรื่องที่จำเป็น และควรนำทหารจากต่างพื้นที่ไปควบคุมการเลือกตั้งด้วย โดยสืบค้นหัวคะแนนที่จะเป็นคนรับออเดอร์มาจากผู้สมัครพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าใน 1 - 2 ปีจากนี้ยังควรต้องใช้วิธีนี้อยู่ จากนั้นเมื่อได้พัฒนาปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนได้เห็นผลและมีความรับผิดชอบมากขึ้นจึงค่อยกลับสู่ระบบปกติ
“เมื่อมีการพูดถึงนักการเมืองจะถูกมองว่าเลวร้าย หยาบคาย ดังนั้น ผมคิดว่าเรา ควรเปลี่ยนคำว่านักการเมืองเป็นนักพัฒนาประชาธิปไตยแทน เหมือนที่เราเปลี่ยนคำเรียกยาม้า เป็นยาบ้าแล้วได้ผล สามารถลดปัญหายาเสพติดได้ ต่อไปก็จะไม่มีใครกล้าทำลายประชาธิปไตยของเราได้อีก" นายเดชฤทธิ์ กล่าว
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. อภิปรายว่าโจทย์ก็การแก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงคือทำอย่างไรให้นายกรัฐมนตรี มีอิสระจากสภาฯ หากทำได้การเลือกตั้งก็จะไม่รุนแรง การทุจริตจะลดน้อยลง หากเราสามารถจัดสรรอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติได้ลงตัวก็จะได้ระบบการเมืองที่ดี ที่สำคัญคนที่จะเป็น ส.ส. ต่อไปในอนาคตข้างหน้าต้องเป็นคนดี หรือทำคุณงามความดีมาก่อน คนเหล่านี้ก็ไม่ต้องใช้เงิน หากสามารถจัดสรรตรงนี้ได้ การใช้เงินซื้อเสียงก็จะน้อยลง ส่วนที่มีแนวคิดให้มีศาลเลือกตั้งนั้น ตนไม่เป็นด้วย และที่ผ่านมา กกต. ถูกแทรกแซง ทำงานอยู่บนผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ กกต. ถูกฟ้องร้อง หรือถูกดำเนินคดี ตนจึงเห็นว่าสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด คือต้องกำหนดให้อำนาจการให้ใบเหลือง ใบแดง กับผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้งทั้งหมดไปอยู่ที่ศาลยุติธรรม เว้นแต่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ควรให้ กกต. เป็นผู้ให้ใบเหลือง ใบแดงได้เลย
นายสยุมพร ลิ่มไทย สปช. อภิปรายว่า จะต้องมีการป้องปราม เพื่อให้มีการกระทำการทุจริตซื้อเสียงน้อยลง เป็นเรื่องที่ทำได้ หากมีการทำอย่างจริงจังจากผู้เกี่ยวข้อง การกำหนดโทษของผู้ที่กระทำความผิด ในส่วนผู้ซื่อเสียง หรือผู้สมัคร อาจมีความจำเป็นที่จะต้องลงโทษอย่างรุนแรง การตัดสิทธิทางการเมือง 3 - 5 ปี อาจจะเบาไป เพราะจะกลับมาได้อีก ดังนั้นต้องตัดสิทธิ ตลอดชีวิต และหัวคะแนนก็ต้องมีบทลงโทษ ต้องเอาตัวออกมาจากพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้ เช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ โดยการเอาตัวมาประจำส่วนกลาง
นายไพโรจน์ พรหมสาส์น สปช. อภิปรายว่า ระบบเลือกตั้งที่ดีมีสิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่การการทำทะเบียนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 10 ล้านคน ไม่ให้มีคนตาย คนย้ายออก มาใช้สิทธิ จนถึงการตรวจสอบการลงคะแนน การนับคะแนนที่ควรเป็นการนับในหน่วยเลือกตั้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างขนย้ายหีบบัตรเลือกตั้ง นอกจากนี้ จำเป็นต้องบ่มเพาะจิตสำนึกไม่ให้มีการซื้อขายสิทธิ เพราะการซื้อขายเสียงในปัจจุบันไม่ได้มีอยู่แค่คืนหมาหอน แต่มีการทำล่วงหน้าผ่านหลายช่องทาง ทั้งเครือข่ายแม่บ้านสตรีในท้องที่ เมื่อถึงเวลาก็รู้ว่าจะต้องเลือกใคร พรรคใด สิ่งเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้
ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงว่า การแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ ทางกรรมาธิการยกร่างฯไม่ได้เข้ามาร่วมรับฟังด้วย ดังนั้น จึงได้ขอให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อคิดเห็นของสมาชิกทั้งหมด เพื่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯทั้ง 36 คนได้รับทราบข้อเสนอต่างๆ