xs
xsm
sm
md
lg

“วิชาเฝ้าไข้” และคำแนะนำจากแพทย์อาวุโส / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไม่ได้ส่งบทความครับ ทั้งๆ ที่สัญญากับตัวเองว่าพยายามจะไม่ขาด เหตุผลเพราะต้องไปช่วยเฝ้าพี่สาวที่ป่วยอยู่โรงพยาบาล ที่ไม่ได้ส่งไม่ใช่เพราะไม่มีเวลาเขียน แต่เพราะไม่มีระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ระหว่างที่เฝ้าไข้ผมมีเรื่องน่าสนใจที่หลายคนควรจะทราบเอาไว้เป็นบทเรียน เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ผมขออนุญาตทบทวนความตั้งใจของผมสักนิดก่อนครับ

หลายคนคงจะงงว่าในอดีตบทความผมมีแต่เรื่องพลังงานเป็นส่วนใหญ่ แล้วจู่ๆ มาเขียนเรื่อง “วิชาเฝ้าไข้” ได้อย่างไร

เตือนความจำกันสักนิดว่า ผมได้ตั้งชื่อคอลัมน์นี้ว่า “โลกที่ซับซ้อน” (Complex World) ซึ่งบอกอยู่ในตัวแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องพลังงานอย่างเดียว เพียงแต่สถานการณ์ของประเทศเรามันมีปัญหาเรื่องพลังงานมาก แล้วไม่ค่อยมีใครเขียนถึงในมุมที่ผมมอง ความจริงแล้วผมสนใจหลายเรื่องที่มันซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การเมือง การศึกษา รวมถึงเรื่องของชุมชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นต้น
 
ผมจำคำพูดที่คมคาย และลึกซึ้งของศาสตราจารย์ Noam Chomsky แห่งสถาบันเอ็มไอที ที่ว่า “หน้าที่ของปัญญาชนมี 2 อย่าง คือ พูดความจริง และชี้ให้เห็นการโกหก” ซึ่งหากท่านผู้อ่านสังเกต ผมก็พยายามทำใน 2 หน้าที่นี้มาตลอดแม้จะยังไม่ดีพอก็ตาม

ผมเริ่มเขียนประจำในคอลัมน์นี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ในระยะนั้นทาง “เอเอสทีวีผู้จัดการ” มีค่าตอบแทนให้ด้วยอยู่พักหนึ่ง แต่เมื่อเขาประสบปัญหาทางการเงิน ผมก็ยังคงเขียนมาตลอด จนถึงวันนี้ก็ 172 ชิ้นแล้ว และตั้งใจว่าจะเขียนต่อไปตราบเท่าที่ยังเขียนไหว และมีคนอ่าน ขอบคุณเอเอสทีวี และเจ้าหน้าที่ที่ให้โอกาสผมได้ทำในสิ่งที่ผมตั้งใจ

ในระยะหลัง ผมถูก “บางคน” เข้ามาด่าอย่างหยาบคายชนิดที่คนธรรมดาไม่ควรกระทำต่อคนด้วยกัน ที่เบาหน่อยหาว่าผมเป็นนายหน้าขายโซลาร์เซลล์ แต่ผมก็ไม่ท้อถอย

ความจริงก่อนที่ผมจะเกษียณราชการ ผมได้สะสมเอกสารที่น่าสนใจเอาไว้เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ซึ่งบ้านเรามีปัญหามาก ไม่ว่าการสอนโดยไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง การประยุกต์ใช้ไม่เป็น ตีความไม่ได้ ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าที่กำลังทำอยู่นั้นคืออะไร ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม แต่ในที่สุดผมก็มาสนใจเรื่องพลังงานมากเป็นพิเศษ เพราะสถานการณ์มันพาไปแท้ๆ เลยครับ

คราวนี้มาถึงเรื่องการเฝ้าไข้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความเข้าใจของญาติผู้เฝ้าไข้ รวมถึงการสื่อสารระหว่างญาติกับฝ่ายแพทย์ และพยาบาล

คิดแล้วผมก็อายตัวเองครับที่ไม่ค่อยจะมีความรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์ ซึ่งก็คือ ร่างกายของผมเอง ที่ไม่เข้าใจส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่ เราถูกสอนให้จำมากกว่าให้คิด

พี่สาวผมวัย 80 ปี เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว ช่วงวิกฤตหนักๆ เต้นเร็วถึง 160-180 ครั้งต่อนาที (คนปกติประมาณ 70-80 ครั้ง) ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ ปัสสาวะน้อย สีขุ่นข้น ความดันก็ตก เบาหวานก็สูง

ผมได้เฝ้าดูอาการป่วยของพี่สาวที่โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึง 3 วันอาการก็ดีขึ้นเป็นลำดับ จากที่ต้องครอบจมูกเพื่อพ่นยาเป็นระยะ ให้ออกซิเจนตลอดเวลา แต่ที่ผมเป็นกังวลก็คือ เธอเอาแต่หลับ พูดคุยยังไม่ทันจบความเธอก็หลับต่อ ผมสงสัยว่าเกิดจากพิษยาหรือเปล่า

“หมอไม่ได้ให้ยาอะไรที่เกี่ยวกับการนอนหลับเลย” หมอตอบพร้อมกับใช้ปากกากวาดไปที่รายการประวัติคนไข้ (ชาร์ต) “คงเป็นเพราะร่างกายอ่อนเพลียมั้ง” หมอให้เหตุผล

วันที่หมอบอกว่า “คนไข้กลับบ้านได้แล้ว” เพราะอาการภายนอกดีขึ้นมาก ผมได้ตั้งคำถามแบบคนไม่ค่อยจะรู้เรื่องว่า

“แล้วการทำงานของไตละครับ ตอนนี้มันทำงานได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ จะต้องทำอะไรต่อไหมครับ” ที่ผมต้องถามอย่างนี้เพราะได้ข้อมูลจากญาติคนอื่นว่า คนไข้มีอาการไตวาย อาจจะต้องฟอกไต

ตอนนั้นเรียนตามตรงว่า ผมยังไม่ได้คิดถึงความเชื่อมโยงระหว่างหัวใจกับไตเลย พูดชัดๆ คือ ผมไม่เข้าใจระบบการทำงานของร่างกาย

คุณหมอตอบว่า “เรื่องไตเอาไว้ก่อน ถ้าการทำงานของหัวใจดีขึ้น ไตก็จะดีตาม เอาไว้ดูอีก 2-3 เดือนแล้วค่อยมาว่ากัน”

แล้วพี่สาวผมก็ได้ออกจากโรงพยาบาลด้วยความรู้สึกที่ไม่ค่อยมั่นใจ

หมอถามพี่เป็นครั้งที่สองว่า “ไม่ดีใจหรือที่ได้กลับบ้าน” เธอจึงได้ตอบออกมาว่า “ดีใจ”

ความจริงที่พี่สาวผมรู้สึกกังวลก็เพราะว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยมาอยู่โรงพยาบาลนี้นานถึง 9 วัน เป็นห้องไอซียูถึง 7 วัน อาการหนักเอาการ แต่เมื่อได้กลับไปบ้านแล้วยังไม่ทันข้ามคืนก็ต้องกลับมาโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉินอีกในตอนดึก เพราะออกซิเจนในถังที่บ้านหมด วันรุ่งขึ้นเธอจำความไม่ได้เลยว่าเธอต้องกลับมานอนอยู่โรงพยาบาลอีกครั้งได้อย่างไร จึงไม่แปลกที่เธอไม่ตอบคุณหมอว่าดีใจไหมในคำถามแรก

ประเด็นที่ผมนำเรื่องพี่สาวมาเล่า คือ ประเด็นของการสื่อสารระหว่างญาติผู้ป่วยกับฝ่ายแพทย์และพยาบาล ด้านหนึ่งญาติไม่มีความรู้ (เช่นผมเอง) อีกด้านหนึ่งหมอก็ไม่มีเวลาอธิบาย หรือไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาง่ายๆ ได้ คล้ายๆ กับปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์ที่ผมสอน บางทีผู้สอนก็ไม่สามารถอธิบายให้คนต่างสาขาเข้าใจได้ง่ายๆ

เท่าที่ผมทราบ ในโรงเรียนแพทย์บางแห่งในต่างประเทศเขาจะสอนวิชาการสื่อสารกับญาติคนไข้ ซึ่งผมคิดว่าถ้าทำให้ดีๆ จะสามารถแก้ปัญหาในวงการนี้ได้เยอะเลย ทั้งการช่วยลดความกังวลที่มากเกินเหตุ และการรักษาตนเองในอนาคต

หลังจากพี่สาวออกจากโรงพยาบาลได้ 2 วัน น้าชายวัย 87 ปี ของผมก็เข้าโรงพยาบาลเดียวกันอีกคน ผมมีโอกาสไปเยี่ยม เท่าที่ดูอาการทั้งภายนอก และข้อมูลทางการแพทย์บางตัวที่เห็น ผมคิดว่าไม่น่าวิกฤตเท่าใดนัก แนวโน้มหลายอย่างก็ดีขึ้นตามลำดับ อาการภายนอกก็คล้ายกับของพี่สาวผม

แต่แล้วผมได้รับคำถามเชิงปรึกษาจากลูกของน้าว่า “หมอถามว่าถ้าเกิดฉุกเฉินจะให้ปั๊มไหม?”

มันเป็นคำถามที่ช็อกความรู้สึกของผมมาก เพราะหลายอย่างดีขึ้น ผมก็ตอบไม่ได้ ผมจึงได้โทร.ไปปรึกษาคุณหมออาวุโสที่ผมเคารพมากท่านหนึ่ง (นายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ)

สิ่งที่คุณหมออนันต์ ได้กรุณาแนะนำผมมี 2 ประการ

ประการแรก ท่านได้อธิบายการทำงานของหัวใจได้อย่างเข้าใจง่าย เห็นภาพ “หัวใจก็เหมือนปั๊มน้ำ ทำหน้าที่ปั๊มเลือดที่มีออกซิเจนเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ รวมทั้งไต ซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย”

“ถ้าหัวใจเต้นเร็วมาก ก็เหมือนกับสูบลมที่ทำงานไม่สุด กระบอกสูบลมก็ออกมาน้อย เข้าสู่ลูกบอลก็น้อย ก็เหมือนเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะอื่นๆ ได้ไม่มากพอ”

เมื่อได้ยินคำอธิบายดังกล่าว ผมเข้าใจเลย ในวันต่อมา ผมต้องสูบลมให้ลูกบาสเกตบอล ผมลองแกล้งสูบเร็วๆ อย่างที่คุณหมออธิบาย โดยไม่เต็มสูบ ลมก็เข้าได้น้อยจริงๆ แต่เมื่อปั๊มเต็มลูกสูบแต่ช้าลง ลมก็เข้าดี เดี๋ยวๆ ก็เต็ม

คุณหมออนันต์ ได้กรุณาอธิบายการทำงานของไตเพิ่มเติม เช่น ปัสสาวะได้มากขึ้น (ไม่ควรจะน้อยกว่า 400 ซีซีต่อวัน) ใสขึ้น แสดงว่าไตทำงานได้ดีขึ้น

เมื่อได้รับข้อมูลที่มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นนี้ ก็ทำให้ญาติตัดสินใจลำบากหากเกิดกรณี “ฉุกเฉิน” ขึ้น

ประการที่สอง คุณหมออนันต์ ได้อธิบายว่า เราก็ไม่รู้อาการป่วยที่แท้จริงของคนไข้ หมอรู้มากกว่าญาติอย่างแน่นอน แต่ครั้นหมอจะตัดสินใจอะไรก็กลัวว่าจะถูกญาติจะตำหนิในภายหลัง

คุณหมออนันต์แนะนำว่า “เอาอย่างนี้สิ ญาติปรึกษากันเองก่อน แล้วถามหมอตรงๆ ให้หมอช่วยอธิบายข้อดีข้อเสีย รวมถึงผลที่อาจจะตามมา แล้วมอบอำนาจการตัดสินใจให้แก่หมอ แล้วญาติๆ พร้อมจะรับสภาพไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้หมอเป็นผู้ตัดสินใจโดยปราศจากความกังวล”

ผมถ่ายทอดคำแนะนำนี้ให้แก่ลูกสาวคนโตของน้าทางโทรศัพท์ เธอรู้สึกโล่งใจมากกับคำแนะนำดังกล่าว

ผมติดตามอาการของน้าชายอย่างใกล้ชิด บางช่วงก็ดีขึ้น ทั้งการเต้นของหัวใจ และความใสของปัสสาวะ แต่แล้วสิ่งที่หมอพบในภายหลังว่า “พบฝีในช่องท้องขนาด 7 เซนติเมตร อยู่ใกล้เส้นเลือดใหญ่ที่อาจจะปริเมื่อไหร่ก็ได้ พบนิ่วในไต ในถุงน้ำดี”

ตอนแรกหมอบอกว่าจะส่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลที่จังหวัด แต่ในวันต่อมาหมอก็อธิบายให้ญาติฟังอย่างละเอียด ในที่สุดก็ไม่ต้องส่งต่อ และไม่ต้องปั๊มหัวใจ

ขณะเขียนบทความนี้ ผมได้รับโทรศัพท์ว่าน้าชายเสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบ

สุดท้ายที่อยากจะเล่าเพิ่มเติมก็คือ ความสะอาดของโรงพยาบาลแห่งนี้ดีมากๆ ผมสัมผัสครั้งแรกเมื่อผมท้องเสียต้องเข้าส้วมผู้ป่วยหญิง และรู้สึกทึ่งมากก็ตอนที่ไปเจอแจกันดอกไม้สดสวยงามวางในห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งผมไม่เคยเห็นห้องน้ำที่ไหน ยกเว้นในโรงแรมหรูๆ

เท่าที่ผมได้คุยกับคนไข้หลายคนก็กล่าวชมเชยโดยไม่ได้นัดหมาย ผมได้มีโอกาสคุยกับพนักงานทำความสะอาด และขอบคุณเธอจนเธอรู้สึกหน้าบาน ในโรงอาหารก็เปิดโอกาสให้ลูกค้าคัดแยกเศษอาหารจากจานของตนเอง ผมยังจำภาพสิบเอกสาวแยกหลอดกาแฟออกจากแก้วน้ำ ช่างเป็นภาพที่น่ารักมาก
 
ก่อนหน้านี้ ผมได้เรียนรู้จากประเทศเยอรมนีว่า “นโยบายการกำจัดขยะต้องเริ่มต้นที่ประชาชนร่วมรับผิดชอบ” ในขณะที่ประเทศไทยเรากำลังเป็น “กระทงหลงทาง” จะสร้างโรงไฟฟ้าด้วยการเผาขยะจำนวนมาก (วกเข้าเรื่องพลังงานจนได้) ในขณะที่ศาลในรัฐแอริโซนา ของสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินว่า การเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ไม่สามารถรับเงินอุดหนุนจากกองทุนพลังงานหมุนเวียนได้

ขอบคุณทุกท่านในโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ และหากบทความของผมนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มพลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการปรับปรุงอีกเล็กน้อยในเรื่องการสื่อสารแบบที่เข้าใจได้ง่ายๆ ให้มากขึ้น ผมก็จะสบายใจไปด้วย

ขอขอบคุณในโอกาสวันพ่อ แม้จะสูญเสียน้าชายที่แม่ผมเคยเล่าให้ฟังว่า ในช่วงวัยรุ่นน้า (พวน เพชรแก้ว) ได้ช่วยเลี้ยงพี่น้องผม และช่วยแม่ทำนาไปในคราวเดียวกัน

นานๆ ครั้งที่บทความของผมจะไม่มีกราฟประกอบ!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น