xs
xsm
sm
md
lg

“วิชาเฝ้าไข้” และคำแนะนำจากแพทย์อาวุโส

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมไม่ได้ส่งบทความครับ ทั้งๆ ที่สัญญากับตัวเองว่าพยายามจะไม่ขาด เหตุผลเพราะต้องไปช่วยเฝ้าพี่สาวที่ป่วยอยู่โรงพยาบาล ที่ไม่ได้ส่งไม่ใช่เพราะไม่มีเวลาเขียน แต่เพราะไม่มีระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ระหว่างที่เฝ้าไข้ผมมีเรื่องน่าสนใจที่หลายคนควรจะทราบเอาไว้เป็นบทเรียน เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ผมขออนุญาตทบทวนความตั้งใจของผมสักนิดก่อนครับ

หลายคนคงจะงงว่าในอดีตบทความผมมีแต่เรื่องพลังงานเป็นส่วนใหญ่ แล้วจู่ๆ มาเขียนเรื่อง “วิชาเฝ้าไข้” ได้อย่างไร

เตือนความจำกันสักนิดว่าผมได้ตั้งชื่อคอลัมน์นี้ว่า “โลกที่ซับซ้อน” (Complex World) ซึ่งบอกอยู่ในตัวแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องพลังงานอย่างเดียว เพียงแต่สถานการณ์ของประเทศเรามันมีปัญหาเรื่องพลังงานมาก แล้วไม่ค่อยมีใครเขียนถึงในมุมที่ผมมอง ความจริงแล้วผมสนใจหลายเรื่องที่มันซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การเมือง การศึกษา รวมถึงเรื่องของชุมชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นต้น

ผมจำคำพูดที่คมคายและลึกซึ้งของศาสตราจารย์ Noam Chomsky แห่งสถาบันเอ็มไอทีที่ว่า “หน้าที่ของปัญญาชนมี 2 อย่าง คือพูดความจริงและชี้ให้เห็นการโกหก” ซึ่งหากท่านผู้อ่านสังเกต ผมก็พยายามทำในสองหน้าที่นี้มาตลอดแม้จะยังไม่ดีพอก็ตาม

ผมเริ่มเขียนประจำในคอลัมน์นี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ในระยะนั้นทาง “เอเอสทีวีผู้จัดการ” มีค่าตอบแทนให้ด้วยอยู่พักหนึ่ง แต่เมื่อเขาประสบปัญหาทางการเงิน ผมก็ยังคงเขียนมาตลอด จนถึงวันนี้ก็ 172 ชิ้นแล้วและตั้งใจว่าจะเขียนต่อไปตราบเท่าที่ยังเขียนไหวและมีคนอ่าน ขอบคุณเอเอสทีวีและเจ้าหน้าที่ที่ให้โอกาสผมได้ทำในสิ่งที่ผมตั้งใจ

ในระยะหลัง ผมถูก “บางคน” เข้ามาด่าอย่างหยาบคายชนิดที่คนธรรมดาไม่ควรกระทำต่อคนด้วยกัน ที่เบาหน่อยหาว่าผมเป็นนายหน้าขายโซลาร์เซลล์แต่ผมก็ไม่ท้อถอย

ความจริงก่อนที่ผมจะเกษียณราชการ ผมได้สะสมเอกสารที่น่าสนใจเอาไว้เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ซึ่งบ้านเรามีปัญหามาก ไม่ว่าการสอนโดยไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง การประยุกต์ใช้ไม่เป็น ตีความไม่ได้ ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าที่กำลังทำอยู่นั้นคืออะไร ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไมแต่ในที่สุดผมก็มาสนใจเรื่องพลังงานมากเป็นพิเศษเพราะสถานการณ์มันพาไปแท้ๆ เลยครับ

คราวนี้มาถึงเรื่องการเฝ้าไข้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความเข้าใจของญาติผู้เฝ้าไข้ รวมถึงการสื่อสารระหว่างญาติกับฝ่ายแพทย์และพยาบาล

คิดแล้วผมก็อายตัวเองครับที่ไม่ค่อยจะมีความรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์ซึ่งก็คือร่างกายของผมเอง ที่ไม่เข้าใจส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่เราถูกสอนให้จำมากกว่าให้คิด

พี่สาวผมวัย 80 ปี เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว ช่วงวิกฤตหนักๆ เต้นเร็วถึง 160-180 ครั้งต่อนาที (คนปกติประมาณ 70-80 ครั้ง) ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ ปัสสาวะน้อย สีขุ่นข้น ความดันก็ตก เบาหวานก็สูง

ผมได้เฝ้าดูอาการป่วยของพี่สาวที่โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ จังหวัดนครศรีธรรมราชถึง 3 วัน อาการก็ดีขึ้นเป็นลำดับจากที่ต้องครอบจมูกเพื่อพ่นยาเป็นระยะ ให้ออกซิเจนตลอดเวลา แต่ที่ผมเป็นกังวลก็คือเธอเอาแต่หลับ พูดคุยยังไม่ทันจบความเธอก็หลับต่อ ผมสงสัยว่าเกิดจากพิษยาหรือเปล่า

“หมอไม่ได้ให้ยาอะไรที่เกี่ยวกับการนอนหลับเลย” หมอตอบพร้อมกับใช้ปากกากวาดไปที่รายการประวัติคนไข้ (ชาร์จ) “คงเป็นเพราะร่างกายอ่อนเพลียมั่ง” หมอให้เหตุผล

วันที่หมอบอกว่า “คนไข้กลับบ้านได้แล้ว” เพราะอาการภายนอกดีขึ้นมาก ผมได้ตั้งคำถามแบบคนไม่ค่อยจะรู้เรื่องว่า

“แล้วการทำงานของไตละครับตอนนี้มันทำงานได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ จะต้องทำอะไรต่อไหมครับ” ที่ผมต้องถามอย่างนี้เพราะได้ข้อมูลจากญาติคนอื่นว่า คนไข้มีอาการไตวายอาจจะต้องฟอกไต

ตอนนั้นเรียนตามตรงว่า ผมยังไม่ได้คิดถึงความเชื่อมโยงระหว่างหัวใจกับไตเลย พูดชัดๆ คือผมไม่เข้าใจระบบการทำงานของร่างกาย

คุณหมอตอบว่า “เรื่องไตเอาไว้ก่อน ถ้าการทำงานของหัวใจดีขึ้น ไตก็จะดีตาม เอาไว้ดูอีก 2-3 เดือนแล้วค่อยมาว่ากัน”

แล้วพี่สาวผมก็ได้ออกจากโรงพยาบาลด้วยความรู้สึกที่ไม่ค่อยมั่นใจ

หมอถามพี่เป็นครั้งที่สองว่า “ไม่ดีใจหรือที่ได้กลับบ้าน” เธอจึงได้ตอบออกมาว่า “ดีใจ”

ความจริงที่พี่สาวผมรู้สึกกังวลก็เพราะว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยมาอยู่โรงพยาบาลนี้นานถึง 9 วัน เป็นห้องไอซียูถึง 7 วัน อาการหนักเอาการ แต่เมื่อได้กลับไปบ้านแล้วยังไม่ทันข้ามคืนก็ต้องกลับมาโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉินอีกในตอนดึก เพราะออกซิเจนในถังที่บ้านหมด วันรุ่งขึ้นเธอจำความไม่ได้เลยว่าเธอต้องกลับมานอนอยู่โรงพยาบาลอีกครั้งได้อย่างไร จึงไม่แปลกที่เธอไม่ตอบคุณหมอว่าดีใจไหมในคำถามแรก

ประเด็นที่ผมนำเรื่องพี่สาวมาเล่า คือประเด็นของการสื่อสารระหว่างญาติผู้ป่วยกับฝ่ายแพทย์และพยาบาล ด้านหนึ่งญาติไม่มีความรู้ (เช่นผมเอง) อีกด้านหนึ่งหมอก็ไม่มีเวลาอธิบายหรือไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาง่ายๆ ได้ คล้ายๆ กับปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์ที่ผมสอน บางทีผู้สอนก็ไม่สามารถอธิบายให้คนต่างสาขาเข้าใจได้ง่ายๆ

เท่าที่ผมทราบ ในโรงเรียนแพทย์บางแห่งในต่างประเทศเขาจะสอนวิชาการสื่อสารกับญาติคนไข้ ซึ่งผมคิดว่าถ้าทำให้ดีๆ จะสามารถแก้ปัญหาในวงการนี้ได้เยอะเลยทั้งการช่วยลดความกังวลที่มากเกินเหตุและการรักษาตนเองในอนาคต

หลังจากพี่สาวออกจากโรงพยาบาลได้ 2 วัน น้าชายวัย 87 ปีของผมก็เข้าโรงพยาบาลเดียวกันอีกคน ผมมีโอกาสไปเยี่ยม เท่าที่ดูอาการทั้งภายนอกและข้อมูลทางการแพทย์บางตัวที่เห็น ผมคิดว่าไม่น่าวิกฤตเท่าใดนัก แนวโน้มหลายอย่างก็ดีขึ้นตามลำดับอาการภายนอกก็คล้ายกับของพี่สาวผม

แต่แล้ว ผมได้รับคำถามเชิงปรึกษาจากลูกของน้าว่า “หมอถามว่าถ้าเกิดฉุกเฉินจะให้ปั๊มไหม?”

มันเป็นคำถามที่ช็อกความรู้สึกของผมมาก เพราะหลายอย่างดีขึ้น ผมก็ตอบไม่ได้ ผมจึงได้โทร.ไปปรึกษาคุณหมออาวุโสที่ผมเคารพมากท่านหนึ่ง (นายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ)

สิ่งที่คุณหมออนันต์ได้กรุณาแนะนำผมมี 2 ประการ

ประการแรก ท่านได้อธิบายการทำงานของหัวใจได้อย่างเข้าใจง่าย เห็นภาพ“หัวใจก็เหมือนปั๊มน้ำ ทำหน้าที่ปั๊มเลือดที่มีออกซิเจนเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ รวมทั้งไตซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย”

“ถ้าหัวใจเต้นเร็วมากก็เหมือนกับสูบลมที่ทำงานไม่สุดกระบอกสูบลมก็ออกมาน้อย เข้าสู่ลูกบอลก็น้อย ก็เหมือนเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะอื่นๆ ได้ไม่มากพอ”

เมื่อได้ยินคำอธิบายดังกล่าว ผมเข้าใจเลย ในวันต่อมาผมต้องสูบลมให้ลูกบาสเกตบอลผมลองแกล้งสูบเร็วๆ อย่างที่คุณหมออธิบาย โดยไม่เต็มสูบ ลมก็เข้าได้น้อยจริงๆ แต่เมื่อปั๊มเต็มลูกสูบแต่ช้าลง ลมก็เข้าดี เดี๋ยวๆ ก็เต็ม

คุณหมออนันต์ได้กรุณาอธิบายการทำงานของไตเพิ่มเติม เช่น ปัสสาวะได้มากขึ้น (ไม่ควรจะน้อยกว่า 400 ซีซีต่อวัน) ใสขึ้น แสดงว่าไตทำงานได้ดีขึ้น

เมื่อได้รับข้อมูลที่มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นนี้ก็ทำให้ญาติตัดสินใจลำบากหากเกิดกรณี “ฉุกเฉิน” ขึ้น

ประการที่สอง คุณหมออนันต์ได้อธิบายว่า เราก็ไม่รู้อาการป่วยที่แท้จริงของคนไข้ หมอรู้มากกว่าญาติอย่างแน่นอน แต่ครั้นหมอจะตัดสินใจอะไรก็กลัวว่าจะถูกญาติจะตำหนิในภายหลัง

คุณหมออนันต์แนะนำว่า “เอาอย่างนี้ซิ ญาติปรึกษากันเองก่อน แล้วถามหมอตรงๆ ให้หมอช่วยอธิบายข้อดีข้อเสีย รวมถึงผลที่อาจจะตามมาแล้วมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับหมอ แล้วญาติๆ พร้อมจะรับสภาพไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นขอให้หมอเป็นผู้ตัดสินใจโดยปราศจากความกังวล”

ผมถ่ายทอดคำแนะนำนี้ให้กับลูกสาวคนโตของน้าทางโทรศัพท์ เธอรู้สึกโล่งใจมากกับคำแนะนำดังกล่าว

ผมติดตามอาการของน้าชายอย่างใกล้ชิด บางช่วงก็ดีขึ้น ทั้งการเต้นของหัวใจและความใสของปัสสาวะ แต่แล้วสิ่งที่หมอพบในภายหลังว่า “พบฝีในช่องท้องขนาด 7 เซ็นติเมตรอยู่ใกล้เส้นเลือดใหญ่ที่อาจจะปริเมื่อไหร่ก็ได้ พบนิ่วในไต ในถุงน้ำดี”

ตอนแรกหมอบอกว่าจะส่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลที่จังหวัด แต่ในวันต่อมาหมอก็อธิบายให้ญาติฟังอย่างละเอียด ในที่สุดก็ไม่ต้องส่งต่อ และไม่ต้องปั๊มหัวใจ

ขณะเขียนบทความนี้ ผมได้รับโทรศัพท์ว่าน้าชายเสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบ

สุดท้ายที่อยากจะเล่าเพิ่มเติมก็คือ ความสะอาดของโรงพยาบาลแห่งนี้ ดีมากๆ ผมสัมผัสครั้งแรกเมื่อผมท้องเสียต้องเข้าส้วมผู้ป่วยหญิง และรู้สึกทึ่งมากก็ตอนที่ไปเจอแจกันดอกไม้สดสวยงามวางในห้องน้ำสาธารณะซึ่งผมไม่เคยเห็นห้องน้ำที่ไหนยกเว้นในโรงแรมหรูๆ

เท่าที่ผมได้คุยกับคนไข้หลายคนก็กล่าวชมเชยโดยไม่ได้นัดหมาย ผมได้มีโอกาสคุยกับพนักงานทำความสะอาดและขอบคุณเธอจนเธอรู้สึกหน้าบานในโรงอาหารก็เปิดโอกาสให้ลูกค้าคัดแยกเศษอาหารจากจานของตนเอง ผมยังจำภาพสิบเอกสาว แยกหลอดกาแฟออกจากแก้วน้ำ ช่างเป็นภาพที่น่ารักมาก ก่อนหน้านี้ผมได้เรียนรู้จากประเทศเยอรมนีว่า “นโยบายการกำจัดขยะต้องเริ่มต้นที่ประชาชนร่วมรับผิดชอบ” ในขณะที่ประเทศไทยเรากำลังเป็น “กระทงหลงทาง” จะสร้างโรงไฟฟ้าด้วยการเผาขยะจำนวนมาก (วกเข้าเรื่องพลังงานจนได้) ในขณะที่ศาลในรัฐอริโซนาของสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินว่า การเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าไม่สามารถรับเงินอุดหนุนจากกองทุนพลังงานหมุนเวียนได้

ขอบคุณทุกท่านในโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ และหากบทความของผมนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มพลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่รวมถึงการปรับปรุงอีกเล็กน้อยในเรื่องการสื่อสารแบบที่เข้าใจได้ง่ายๆ ให้มากขึ้น ผมก็จะสบายใจไปด้วย

ขอขอบคุณในโอกาสวันพ่อ แม้จะสูญเสียน้าชายที่แม่ผมเคยเล่าให้ฟังว่าในช่วงวัยรุ่นน้า (พวน เพชรแก้ว) ได้ช่วยเลี้ยงพี่น้องผมและช่วยแม่ทำนาไปในคราวเดียวกัน

นานๆ ครั้งที่บทความของผมจะไม่มีกราฟประกอบ!
กำลังโหลดความคิดเห็น