xs
xsm
sm
md
lg

จิตอาสา ผู้ป่วยดูแลผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เชื่อว่าคงไม่มีใครเข้าใจคนเจ็บป่วย เท่ากับคนที่ป่วยเป็นโรคเดียวกัน ซึ่งเปรียบเสมือนคนพูดภาษาเดียวกัน จึงเข้าอกเข้าใจกัน

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจสำนักงานสาขาและการมีส่วนร่วมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า นั่นคือคำพูดของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.และผู้ก่อตั้ง สปสช. ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด โดยท่านตั้ง “มูลนิธิมิตรภาพบำบัด” ซึ่งกองทุนนี้พัฒนามาจากโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือจิตอาสา

ช่วงที่ นพ.สงวน เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งรุมเร้า ได้สัมผัสความทุกข์ทรมาน จึงอยากจะให้คนไข้ที่ป่วยและหายแล้ว หรือผู้มีจิตอาสาให้กำลังใจและช่วยเหลือเพื่อนที่ยังเจ็บป่วยอยู่รู้สึกผ่อนคลาย มีกำลังใจที่จะสู้กับโรคร้ายหรือโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ปัจจุบันมูลนิธิมิตรภาพบำบัด แผ่ขยายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ มีจิตอาสาจำนวนมาก อาทิ กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต HIV และอื่นๆ โดยผู้ป่วยและจิตอาสา ส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 50-70 ปีขึ้นไป

นพ.รัฐพล เล่าให้ฟังว่า ผมทึ่งกับไอเดียของกลุ่มจิตอาสาหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ผู้ป่วยมะเร็งรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ จำเป็นจะต้องฉายแสง ทว่าที่โรงพยาบาลไม่มีเครื่องฉายแสง จะต้องเดินทางมาฉายแสงที่โรงพยาบาลอุบล นี่คือปัญหาอุปสรรคที่คนไข้และญาติคนไข้ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กลุ่มจิตอาสาโรคมะเร็งตระหนักแล้วเข้าใจปัญหานี้เป็นอย่างดี จิตอาสาพอมีเงิน ระดมทุนทรัพย์ส่วนตัว ญาติ เพื่อนๆ รวมกับเงินที่ได้รับจากกองทุนมูลนิธิมิตรบำบัด โดยได้รับจัดสรรทุนมาจาก สปสช. นำไปเช่าบ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งที่จะต้องฉายแสงไม่ต้องเดินทางไกล ขณะเดียวกันยังช่วยกันดูแลและให้กำลังผู้ป่วย ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังคุกคาม

“จิตอาสา รู้ดีว่าการคมนาคมในต่างจังหวัดค่อนข้างลำบาก เพราะจิตอาสาบางคนเผชิญชะตากรรมนี้มาก่อน แล้วการฉายแสง ไม่ใช่ฉายครั้งเดียวจบ ต้องเดินทางมาตรวจรักษาตามที่หมอนัด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนป่วยและญาติ จึงระดมทุนทรัพย์ บ้างจัดกิจกรรมทอดผ้าป่า ทำของที่ระลึกจำหน่าย เย็บเต้านม บางคนพอมีฐานะจะควักเงินส่วนตัวมาช่วยเพื่อนที่ป่วยโรคเดียวกัน” นพ.รัฐพล ฉายภาพจิตอาสาช่วยเยียวยาเพื่อนผู้ป่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน

ขณะที่ นางพนิต มโนการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สปสช.เขตสระบุรี เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จิตอาสาจะมาทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนผู้ป่วยนั้น จะได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ สปสช.มาติดจรวดความรู้โรคภัยไข้เจ็บ การดูแลตนเอง รวมถึงเคล็ดลับการพูด การให้กำลังใจ โดยจิตอาสาจะนำความรู้ไปถ่ายทอดให้ผู้ป่วย ญาติ เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจต่อสู้กับโรคร้ายที่กำลังรุมเร้าสุขภาพอยู่

ในส่วนเขตสระบุรี มีแนวคิดปั้นจิตอาสาในชุมชน โดยจัดทำเป็นเครือข่าย จิตอาสา 1 คน ดูแลความเป็นอยู่ 10 หลังคาเรือน ถ้าหากพบว่าคนที่อยู่ในความรับผิดชอบเกิดเจ็บป่วย จะได้นำตัวส่งไปรักษาได้ทันท่วงที ก่อนจะป่วยหนัก

“มีชาวบ้านรายหนึ่ง ไปหาหมอเล่าว่ามีอาการใจสั่น น้ำหนักตัวลดลง ผลการตรวจออกมาพบว่าปกติ ต่อมาชาวบ้านรายนี้ มาเล่าอาการให้จิตอาสาฟัง ซึ่งจิตอาสาเคยฟังคนไข้รายหนึ่งมีอาการคล้ายๆ กัน ซึ่งป่วยด้วยโรคไทรอยด์ ท้ายที่สุด จิตอาสา พาผู้ป่วยไปหาหมออีกครั้ง ผลการตรวจพบว่าเป็นไทรอยด์จริงๆ สาเหตุที่ครั้งแรกตรวจไม่พบอาจเป็นเพราะอาการไม่เด่นชัด คนไข้เล่าอาการไม่ละเอียดครบถ้วน”

นางพนิต แสดงความเห็นว่า การที่จิตอาสา เพื่อนช่วยเพื่อน เข้าไปช่วยสอดส่องคนในชุมชนเดียวกัน วิธีนี้จะเป็นการสกรีนปัญหาการเจ็บป่วยของเพื่อนบ้านและเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งถึงมือหมอก่อนอาการหนักเป็นเรื่องดีกว่า ป่วยหนักแล้วเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า จิตอาสา 1 คน ต่อ 10 หลังคาเรือน เป็นเรื่องที่ดีโดยเฉพาะสังคมชนบทซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วรู้จักกัน จึงมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ต่างจากสังคมกรุงเทพฯ ที่เป็นสังคมเดียว

ด้าน นางกาญจนา (นามสมมติ) ในฐานะจิตอาสาของ สปสช. เล่าให้ฟังว่า เธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ต้องตัดนมทิ้งไปข้างหนึ่ง และทุกวันนี้ต้องมาพบแพทย์ตามที่นัดทุกครั้ง นางกาญจนา บอกว่า ไม่คิดว่าตัวเองจะป่วยเป็นมะเร็ง แล้วจากการไปหาหมอ ได้เจอผู้หญิงหลายคนที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน จึงมีแนวคิดว่าเราต้องอยู่กับโรคนี้ให้ได้ สร้างกำลังใจให้ตัวเอง และพบว่าโรงพยาบาลที่ตนเองรักษาอยู่มีมูลนิธมิตรภาพบำบัด จึงตัดสินใจสมัครเป็นแกนนำจิตอาสา เข้ารับการอบรมเรื่องมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่ สปสช. จากนั้นได้รวบรวมผู้หญิงมาดีไซน์ชุดชั้นในสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม พูดง่ายๆ ทำชุดชั้นในจำหน่ายในราคาถูก เพื่อให้ผู้หญิงใส่แล้วดูดีเหมือนคนปกติทั่วไป ไม่ใช่ข้างหนึ่งเล็ก ข้างหนึ่งใหญ่ อย่างไรก็ดี รายได้ที่ได้จากการจำหน่าย ออกร้าน บูธ ตามโรงพยาบาลช่วงที่มีกิจกรรม พวกเราจะรวบรวมไว้ให้ผู้ป่วยยากไร้
… จิตอาสา เพื่อนผู้ป่วยดูแลผู้ป่วย นับเป็นโครงการดีๆ ของสังคม ควรต่าแก่การยกย่อง

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น