xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอย “ส่วยน้ำมันเถื่อนใต้” ในกระแสทลายแก๊งสีกากี “พงศ์พัฒน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...เมือง ไม้ขม
 
การจับกุม พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) และพวกที่เป็นข่าวใหญ่ และคนทั้งประเทศให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ในหลายๆ ข้อกล่าวที่มีการพาดพิงถึงคือ การเรียกรับสินบน หรือส่วย และหนึ่งในส่วยที่ถูกกล่าวถึงคือ…
 
“ส่วยน้ำมันเถื่อน
 
เมื่อพูดถึงน้ำมันเถื่อนก็ต้องหมายถึง “ภาคใต้” เพราะพื้นแผ่นดินด้ามขวานไทยเป็นพื้นที่ที่ติดฝั่งทะเลทั้ง 2 ฟากฝั่ง ทั้งด้านทะเลอ่าวไทย และทะเลอันดามัน อันเป็นพื้นที่อันมีการค้าน้ำมันเถื่อนที่ขึ้นชื่อลือชา มีขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนทั้งทางบก และทางทะเล
 
นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สินค้าหนีภาษีในพื้นที่ภาคใต้ที่มีต้นทางมาจากประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่เลื่องชื่อ และทำกำไรให้แก่นายทุนมากที่สุดคือ “น้ำมันเถื่อน”
 
เส้นทางการนำเข้าน้ำมันเถื่อนมี 2 ทางด้วยกัน เส้นทางบกขนกันด้วยรถยนต์ ซึ่งมักจะถูกกล่าวถึงมากที่สุด เพราะเป็นเส้นทางที่เปิดเผย โดยต้องผ่านด่านศุลกากรพรมแดนไทย-มาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นที่ อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ อ.แว้ง ในพื้นที่ จ.นราธิวาส หรือ อ.สะเดา อ.นาทวี ในพื้นที่ จ.สงขลา และ อ.ควนโดน ในพื้นที่ จ.สตูล
 
ทั้งนี้ เป็นการนำเข้าน้ำมันเถื่อนจากประเทศมาเลเซียที่ประชาชนทั่วไปมองเห็น และรับทราบได้ รวมทั้งรับรู้กันดีว่า การที่รถยนต์ดัดแปลงนับพันคัน รวมทั้งรถบรรทุกน้ำมันสามารถวิ่งผ่านด่านตรวจ จุดตรวจ ทั้งของศุลกากร และของตำรวจได้โดยไม่มีการจับกุม เพราะมีการจ่ายส่วยให้แก่หน่วยงานเหล่านั้นแล้ว
 
สำหรับส่วยน้ำมันเถื่อนทางบกนั้น แม้ว่าชาวบ้านจะเห็นว่ามีการขนน้ำมันเถื่อนอย่างเปิดเผย อันปรากฏต่อสายตาของประชาชน แต่ “เม็ดเงิน” ในการจ่ายส่วยน้ำมันเถื่อนทางบกให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงหลัก “ร้อยล้าน” ต่อเดือนเท่านั้น
 
ไม่เหมือนกับส่วยน้ำมันเถื่อนที่มีการนำเข้าทางทะเล โดยเฉพาะทางด้านอ่าวไทยที่มีมากที่สุด ไล่เรียงตั้งแต่พื้นที่ จ.สงขลา จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี และเรื่อยไปจนถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
ส่วนด้านทะเลอันดามัน เริ่มตั้งแต่ จ.สตูล จ.ตรัง เรื่อยไปจนถึง จ.ภูเก็ต และ จ.ระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่นำเข้าน้ำมันเถื่อนจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อันมีปริมาณมากกว่าการนำเข้าน้ำมันเถื่อนทางบกหลายร้อยหลายพันเท่า
 
เนื่องจากเป็นการนำเข้าทางเรือบรรทุกน้ำมันที่เป็นเรือเดินสมุทร ก่อนที่จะนำมาขายให้แก่เรือประมงดัดแปลงแล้วนำขึ้นฝั่ง รวมทั้งการขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจำนวนน้ำมันเถื่อนทางทะเลนั้นประมาณการกันว่า มีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อวันเลยทีเดียว
 
และที่สำคัญไม่ว่าจะนำน้ำมันเถื่อนในทะเลเหล่านั้นขายในแผ่นดินไทย ลาว หรือเขมร หรือขายให้เรือประมงที่ทำประมงในน่านน้ำสากล ขบวนการก็จะต้องจ่ายส่วยให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น เพราะหากไม่จ่ายแล้วเรือแท็งเกอร์ที่ลอยลำอยู่ในน่านน้ำสากลก็จะถูกตามราวี จนเส้นทางการค้าน้ำมันเถื่อน และการเงินไม่ลื่นไหล
 
โดยหน่วยงานที่จะเป็นผู้ประสานงานในการจัดเก็บส่วยสาอากรการค้าน้ำมันเถื่อนกลางทะเลคือ “ตำรวจน้ำ” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังกัดอยู่กับสำนักงานตำรวจสอบสวนกลางนั่นเอง
 
ผู้คนในวงการน้ำมันเถื่อน ไม่ว่าจะเป็นทางบก หรือทางทะเล และไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก้อน หรือขบวนการที่ใหญ่ๆ มักหนีไม่พ้น “นักการเมือง” ในภาคใต้ทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ซึ่งมักจะมีคำนำหน้าว่า “นายกฯ” แทบทั้งสิ้น และมีหุ้นส่วนที่เป็นนายทุนทั้งในภาคใต้ และในภาคกลางเป็นผู้ลงทุน
 
โดยจะมีการเคลียร์เส้นทางเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเปิดไฟเขียวแบบไม่มีการจับกุม หรือหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ ทำการจับกุมได้ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องปล่อย เพราะมีคำสั่งจาก “ผู้ใหญ่” และบ่อยครั้งที่คนจับอาจจะกลายเป็นคนผิดที่ไม่ดูตาม้าตาเรือว่า ใครเป็นคนรับส่วย จนซวยกันไปทั้งหน่วยงาน
 
นอกจากส่วยน้ำมันเถื่อนที่จัดเป็นส่วยเบอร์ 1 ที่ต้องมีการจ่ายนับพันล้านบาทต่อเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานหลักๆ ไม่ต่ำกว่า 5 หน่วยงานแล้ว ส่วยเบอร์ 2 ที่เป็นส่วยก้อนใหญ่อีก 1 ก้อนคือ “ส่วยการค้ามนุษย์” มีการเรียกเก็บตั้งแต่การการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ เช่น การส่งออกโรฮิงญา การส่งออกแรงงานพม่า และแรงงานเขมร รวมทั้งบุคลากรในกิจการคาราโอเกะ หรือห้องอาหารที่มีการค้าประเวณี ซึ่งต้องจ่ายส่วยเป็นรายหัวให้แก่เจ้าหน้าที่ ส่วนส่วยตัวสุดท้ายที่มีการจ่ายเป็นกอบเป็นกำคือ “ส่วยบ่อนการพนัน”
 
เส้นทางของส่วยสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่ว่าเป็นการค้าน้ำมันเถื่อน การค้ามนุษย์ การเปิดบ่อนการพนัน และอื่นๆ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับป่าไม้ เหมืองแร่ เหมืองหิน เหมืองทราย และบ่อดิน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีการจ่ายส่วยทั้งสิ้น และหน่วยงานที่ผู้ทำธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้รู้จักกันดีคือ “สอบสวนกลาง”
 
ในการจ่ายส่วยเพื่อซื้อไฟเขียวทางธุรกิจนอกระบบจากเจ้าหน้าที่นั้น “ส่วยน้ำมันเถื่อน” เป็นส่วยที่มีการจ่ายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือ 22 หน่วยงาน แต่หน่วยงานที่ถูกจัดหนักที่สุดไม่ใช่ตำรวจท้องที่ ไม่ไช่ บก.ภ.จว. ไม่ใช่ ผบช.ภ. แต่เป็นการจ่ายให้แก่ผู้ที่อ้างว่ามาจาก “สอบสวนกลาง”
 
ทั้งนี้ หน่วยงานที่อ้างว่ามาจาก “สวนสวนกลาง” ที่มีการจัดตั้งชุด “ปนม.” หรือ “ปราบน้ำมันเถื่อน” ทั้งที่เป็นของ “สอบสวนกลาง” เอง และเป็นของ “กองปราบ”  ที่เดินสายเรียกเก็บส่วยในพื้นที่ภาคใต้มีไม่ต่ำกว่า 12 ชุด
 
อีกทั้งเป็นที่รู้จักกันดีของคนในวงการที่ทำผิดกฎหมายที่จะต้อง “ใส่ซอง” หรือโอนเงินให้แก่ “นายหน้า” ในแต่ละจังหวัด แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ใจกล้าในการให้เจ้าของธุรกิจเถื่อนโอนเงินเข้าบัญชีของตนเองโดยตรง
 
จากการที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” โดยชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อน ได้เคยตรวจค้น และยึดเอกสารจากเรือน้ำมันเถื่อนของนายทุนใหญ่ในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.สงขลาได้นั้น ในเอกสารการจ่ายส่วยถึงกับมีการระชื่อจริง ยศ ตำแหน่ง เลขที่บัญชีธนาคาร และจำนวนเงินต่อเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งแต่ “นายดาบ” จนถึง “นายพล” อีกทั้งมีชื่อของพลเรือนที่เป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรตั้งแต่ “นายด่าน” จนถึง “ผอ.ทางทะเล”
 
ที่สำคัญมีตัวเลขตั้งแต่หลักหลาย 10 ล้านบาทต่อเดือน ไล่ลงมาเรื่อยๆ จนถึงหลัก 5 หมื่นบาทต่อเดือน
 
นั่นเป็นเพียงบัญชีส่วยของนายทุนเพียงรายเดียว ในขณะที่ข้อเท็จจริงเฉพาะในสงขลาจังหวัดเดียว ก็็็มี “นายทุนใหญ่” เฉพาะของขบวนการน้ำมันเถื่อนไม่ต่ำกว่า 10 รายแล้ว
 
ดังนั้น รายรับส่วยน้ำมันเถื่อนของบรรดาเจ้าหน้าที่จึงประมาณการกันว่า ต้องมีไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือนแน่นอน
 
นี่เป็นตัวเลขเฉพาะของส่วยน้ำมันเท่านั้น ส่วนส่วยจากการค้ามนุษย์ ส่วยบ่อนการพนัน และส่วยในกิจกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ ยังไม่ได้ถูกนำมานับรวมไว้ด้วย
 
ดังนี้แล้ว การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการทลาย “แก๊งรับส่วย” อันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสังกัดเป็นตัวหลัก จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้านสะเทือนวงการสีกากีอย่างยิ่ง
 
ไม่ว่าการจับกุมแก๊งนายตำรวจใหญ่ครั้งนี้จะมีเบื้องหลังอย่างไรก็ตาม แต่ก็กลายเป็นความหวังของคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเห็นการ “ปฏิรูป” ในหน่วยงานของกองทัพสีกากี เนื่องจากเรื่องการรับส่วยนั้นเป็นเรื่องการทำลายชื่อเสียง และเกียรติยศของวงการตำรวจเอง จนทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อองค์กรนี้มาอย่างยาวนาน
 
จึงน่าจะเชื่อได้ว่า การทลายห้างแหล่งผลประโยชน์ใน “สอบสวนกลาง” ครั้งนี้จะส่งผลให้การจ่าย “ส่วยน้ำมันเถื่อน” ในภาคใต้ รวมทั้งส่วยอื่นๆ คงจะสะดุดหยุดชะงักลงได้ในระดับหนึ่ง และเมื่อไม่มีการจ่ายส่วย การทำธุรกิจผิดกฎหมายแล้วก็จะต้องได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งก็เป็นผลดีต่อประเทศชาติ และประชาชน
 
แต่ที่ถือได้ว่าจะสร้างประโยชน์ที่สุดคือ องค์กรตำรวจควรจะต้องมีการ “ปฏิรูปครั้งใหญ่” นั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น