ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชุดเฉพาะกิจตำรวจภูธรภาค 8 ปฏิบัติการทวงคืนชายหาดให้ประชาชนอย่างยั่งยืน และถาวร ประเดิมแจ้งข้อกล่าวหา 15 ผู้ประกอบการเตียงร่มบนหาดกะตะ กะรน และนายกเทศมนตรีตำบลกะรน ข้อหาบุกรุกพื้นที่สาธารณะ หลังลงพื้นที่เก็บรวบรวมพยานหลักฐานจนพบผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดสรรที่ชายหาดจากเทศบาล นำพื้นที่ไปเซ้งต่อให้โรงแรมในราคาที่สูงกว่าปีละหลายล้านบาท เผยผู้ประกอบการดิ้นรนขอลงหาดเพราะมีผลประโยชน์มหาศาลรออยู่ เฉพาะเตียงร่มอย่างเดียวมีรายได้สูงกว่าปีละ 4,000 ล้านบาท
เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ห้องประชุมสถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต พล.ต.ท.ปัญญา มาเม่น ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 พร้อมด้วย พล.ต.ต.สมชาย อ่วมถนอม รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 พล.ต.ต.กระจ่าง สุวรรณรัตน์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 รักษาราชการผู้บังคับการตำรวจภูธรภูเก็ต พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 8 พ.ต.อ.พีรยุทธ์ การะเจดีย์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าว ความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหากลุ่มแท็กซี่ที่มีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพล และกลุ่มผู้ยึดถือครอบครองพื้นที่ชายหาดสาธารณะ ในจังหวัดภูเก็ต
พล.ต.ท.ปัญญา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาแท็กซี่ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลได้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว มีการส่งฟ้อง และดำเนินคดีต่อบางรายแล้วในการออกหมายจับครั้งแรกไปทั้งสิ้น 116 หมาย ผู้ต้องหา 113 คน ส่วนครั้งที่ 2 นั้น การสอบสวนได้สิ้นสุดลงแล้วอยู่ในขั้นตอนการเสนอทางอัยการสั่งฟ้อง และหลังจากได้ดำเนินการในเรื่องของแท็กซี่มีความคืบหน้าไปแล้วนั้น ทางตำรวจภูธรภาค 8 ได้ตั้งชุดเฉพาะลงมาดำเนินการในเรื่องของการแก้ไขปัญหากลุ่มบุคคลผู้ยึดถือครองพื้นที่ชายหาดสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต เพื่อคืนพื้นที่ชายหาดให้แก่ประชาชนคนภูเก็ต และคนไทยทุกคน รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ไม่ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งนำพื้นที่ชายหาดที่เป็นพื้นที่สาธารณะมาหาผลประโยชน์เหมือนที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินการในพื้นที่หาดกะตะ กะรน เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งขณะนี้ชุดเฉพาะที่ได้รับการแต่งตั้งได้ลงพื้นที่ดำเนินการเก็บพยานหลักฐานมีความคืบหน้าไปมากแล้ว จนสามารถออกหมายเรียกกลุ่มบุคคลได้ถึง 15 คน
พ.ต.อ.พีรยุทธ์ การะเจดีย์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดระเบียบชายหาดให้มีความสวยงามตามนโยบายของ คสช. ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูเก็ตได้ลงไปจัดระเบียบชายหาดให้สวยงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ยากลำบากมาก และเพื่อไม่ให้ปัญหาการนำพื้นที่ชายหาดมาหาผลประโยชน์เหมือนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทางตำรวจภูธรภาค 8 จึงได้แต่งตั้งชุดเฉพาะลงมาดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดสิ้นไปอย่างยั่งยืน และถาวร
โดยชุดเฉพาะกิจตำรวจภูธรภาค 8 ได้ตรวจสอบรวบรวมขอมูล ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานในเรื่องนี้ พบว่า เมื่อปี 2549 ศาลจังหวัดภูเก็ต ได้มีคำพิพากษาตัดสินว่าผู้ที่ใช้พื้นที่สาธารณะชายหาดไตรตรัง ต.กะทู้ จ.ภูเก็ต ตั้งเตียงร่ม มีความผิดฐานบุกรุกที่สาธารณะ ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 6,000 บาท ในขณะเดียวกัน ผู้กระทำผิดได้ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง และนายอำเภอกะทู้ในสมัยนั้นต่อศาลปกครอง โดยอ้างว่าการใช้พื้นที่สาธารณะได้รับอนุญาตจากเทศบาลป่าตองแล้ว ซึ่งศาลปกครองได้วินิจฉัยว่า เทศบาลไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้ผู้ใดใช้พื้นที่สาธารณะวางร่มเตียงเก็บค่าบริการ การกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชุดเฉพาะกิจจึงอาศัยคำพิพากษาของศาลภูเก็ต และคำวินิจฉัยของศาลปกครองเป็นบรรทัดฐานในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินการต่อผู้กระทำผิด
โดยชุดเฉพาะกิจได้เริ่มสืบสวนสอบสวน เริ่มต้นจากพื้นที่ชายหาดกะตะ กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต พบว่ามีพยานหลักฐานการให้เช่าพื้นที่ชายหาด โดยเทศบาลตำบลกะรนได้จัดสรรพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเข้าทำประโยชน์บนชายหาด หลังได้รับการจัดสรรแล้ว ผู้ประกอบการบางรายได้นำพื้นที่ดังกล่าวไปทำสัญญาเช่าช่วงต่อ หรือเซ้งให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ในราคาที่สูงมาก ถือได้ว่าทั้งผู้ประกอบการ และผู้อนุญาตร่วมกันกระทำความผิดฐานบุกรุกที่สาธารณะ ซึ่งขณะนี้สามารถสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานยืนยันผู้กระทำผิดได้จำนวน 15 คน หนึ่งในนั้น คือ นายทวี ทองแช่ม นายกเทศบาลตำบลกะรน และในวันนี้ (25 ก.ย.) ทางตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้ง 15 คน มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แต่ผู้ต้องหาได้ขอเลื่อนการมารับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน ซึ่งสามารถกระทำได้ตามสิทธิ หลังจากนี้ ทางตำรวจจะออกหมายเลขครั้งที่ 2 หากผู้ต้องหาทั้ง 15 รายยังไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ทางตำรวจจะต้องออกหมายจับต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์ศิรินทร์ ผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 8 กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ตำรวจภูธรภาค 8 กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ ยุทธการทวงคืนชายหาดให้แก่ประชาชนอย่างถาวร เพราะชายหาดไม่ใช่ของใคร แต่ทรายทุกเม็ดบนชายหาดเป็นของประชาชนทุกคน ใครคนใดคนหนึ่งจะเอาไปหาประโยชน์ไม่ได้ และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ตพบว่า ประชาชนถึงร้อยละ 99.99 เห็นด้วย และต้องการชายหาดที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องการชายหาดที่เต็มไปด้วยเตียงร่ม ร้านอาหาร และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ และการนำพื้นที่ชายหาดไปหาผลประโยชน์ถือว่ามีความผิดทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ และผู้ที่อนุญาต ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลจังหวัดภูเก็ตอยู่แล้วว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ และคำวินิจฉัยของศาลปกครองว่าเทศบาลไม่มีอำนาจในการนำพื้นที่ชายหาดไปจัดสรรให้คนใดคนหนึ่งมาหาผลประโยชน์ เรื่องนี้ผู้บริหารเทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบดีอยู่แล้ว แต่ยังปล่อยปละละเลย เพราะบนชายหาดในภูเก็ตมีผลประโยชน์มหาศาล
จากการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทำให้ทราบว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่หาดกะตะ กะรน ได้นำพื้นที่ชายหาดที่ได้รับการจัดสรรจากเทศบาลตำบลกะรน ไปทำสัญญาให้โรงแรมเช่าเพื่อให้แขกของโรงแรมได้ลงไปทำกิจกรรมนอนอาบแดดบนชายหาด เพราะหากโรงแรมไม่เช่าพื้นที่ดังกล่าวแขกของโรงแรมไม่สามารถที่จะลงไปนอนบนชายหาดได้ จะต้องไปเช่าเตียงร่มจากผู้ประกอบการเท่านั้น โรงแรมจำเป็น และจำยอมจะต้องทำสัญญาเช่ากับผู้ประกอบการดังกล่าว ซึ่งการเช่านั้นจะต้องทำสัญญาระยะสั้น 1 ปี ระยะปานกลาง 3 ปี และระยะยาว 5 ปี โดยค่าเช่าที่ผู้ประกอบการได้รับอยู่ในอัตราที่สูงมาก เช่น พื้นที่ชายหาดบริเวณโรงแรมยาว 80 เมตร ทำสัญญาเช่า 3 ปี ในราคาค่าเช่า 4.5 ล้านบาท พื้นที่ 99 เมตร ทำสัญญาเช่า 5 ปี ในอัตราค่าเช่า 6 ล้าน 2 แสน 5 หมื่นบาท และสัญญาเช่า 1 ปี ค่าเช่า 1 ล้าน 6 แสน 9 หมื่นบาท บางรายมีการบังคับให้โรงแรมต้องจ่ายค่าเช่ารายเดือนอีกเดือนละ 25,000 บาท สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะเทศบาลตำบลกะรน ได้จัดสรรพื้นที่ให้แก่ผู้ประกอบการ และการดำเนินการในครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบไปถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ประกอบการทั้ง 15 รายอีกด้วย
พล.ต.ต.ปวีณ กล่าวต่อว่า การดำเนินการต่อผู้ที่บุกรุกชายหาดในครั้งนี้มีหลักฐานแน่นหนาสามารถเอาผิดได้ทั้ง 15 คน ในข้อบุกรุกพื้นที่สาธารณะ และร่วมกันสนับสนุนให้มีการบุกรุกที่สาธารณะ และการดำเนินการในครั้งนี้ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ดำเนินการตรงไปตรงมา ไม่ได้กลั่นแกล้งใครใดๆ ทั้งสิ้น และที่ผู้ประกอบการออกมาเรียกร้องด้วยการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอลงไปประกอบการบนชายหาดนั้น เพราะบนชายหาดมีผลประโยชน์มหาศาล อย่างกรณีที่หาดป่าตอง มีความยาว 3,000 เมตร วางเตียงร่มได้ประมาณ 2,500 ตัว/แถว ค่าบริการ 200 บาท/ตัว นักท่องเที่ยวใช้บริการโดยเฉลี่ย 2 รอบต่อวัน วาง 4 แถว คิดเป็นรายได้ต่อวันที่เกิดขึ้น 4 ล้านบาท เดือนละ 120 ล้านบาท ปีละ 1,440 ล้านบาท
หาดกะรน มีความยาว 2,900 เมตร วางเตียงร่ม ได้ประมาณ 2,400 ตัว/แถว มีทั้งหมด 4 แถว เหมือนกับที่หาดป่าตอง จะมีรายได้เกิดขึ้นวันละ 3.8 ล้านบาท เดือนละ 115 ล้าน ปีละ 1,382 ล้านบาท เช่นเดียวกันหาดกะตะน้อย และหาดกะตะ ที่มีความยาว 2,220 เมตร วางเตียงได้ 2,000 ตัว 4 แถว นักท่องเที่ยวใช้บริการเหมือนกับที่หาดกะรน จะมีรายได้เกิดขึ้นวันละ 3.2 ล้านบาท เดือนละ 96 ล้านบาท ปีละ 1,152 ล้านบาท ถามว่ารายได้เหล่านี้ไปอยู่กับใคร และพื้นที่ที่ทำให้เกิดรายได้เหล่านี้เป็นกอบเป็นกำเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นสมบัติของชาติ และของประชาชนทุกคน ซึ่งจะเห็นว่าเฉพาะ 3 หาดนี้ รายได้ที่เกิดขึ้นสูงเกือบ 4 พันล้านบาทต่อปี จึงทำให้ผู้ประกอบการบนชายหาดต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ได้กลับลงไปบนชายหาดเหมือนเดิม
พล.ต.ต.ปวีณ กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการที่หาดกะตะ กะรน ต่อผู้ประกอบการทั้ง 15 ราย รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่น เป็นเพียงการนำร่องเท่านั้น ทางเจ้าหน้าที่จะไม่หยุดอยู่แค่นี้จะดำเนินการต่อผู้บุกรุกชายหาดทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก หรือรายใหญ่ และหลังจากนี้เป้าหมายต่อไปคือ หาดป่าตอง เพราะเป็นชายหาดที่มีผลประโยชน์สูงที่สุดในภูเก็ต ปีละกว่า 1,400 ล้านบาท เฉพาะเตียงร่ม ยังไม่รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย