xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเอาจริงปัญหาร่มเตียงชายหาดพัทยา ลดพื้นที่ทำกิน คืนที่สาธารณะ เพิ่มค่าธรรมเนียม ล้างปัญหาเช่าช่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเชาวลิตร แสงอุทัย ปลัดจังหวัดชลบุรี
ศูนย์ข่าวศรีราชา - ถึงคิวร่มเตียงชายหาดพัทยาถูกจัดระเบียบ ตั้งธงลดพื้นที่ทำกิน คืนที่สาธารณะ เหลือ 1 ราย 1 ล็อกต่อ 1 หาด เพิ่มค่าธรรมเนียม ล้างปัญหาเช่าช่วง มั่นใจได้พื้นทีคืนถึง 2 ใน 3 ย้ำชัดทำเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมทุกฝ่ายต้องร่วมมือ หากดื้อแพ่งอาจใช้กฎหมายจัดการเด็ดขาด

วันนี้ (18 ก.ย.) นายเชาวลิตร แสงอุทัย ปลัดจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระเบียบร่มเตียงชายหาด เขตเมืองพัทยา ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รวมเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น อำเภอบางละมุง เมืองพัทยา มทบ.14 สำนักงานเจ้าท่า ที่ดินอำเภอบางละมุง สภ.เมืองพัทยา ตำรวจท่องเที่ยว องค์กรภาคธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยบนชายหาด

นายเชาวลิตร กล่าวว่า ปัจจุบันมีการร้องเรียน และเป็นข่าวทางสื่อมวลชน เกี่ยวกับการประกอบการร่มเตียงชายหาด และกิจการทางด้านการบริการบนพื้นที่สาธารณะ ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ทั้งด้านสินค้าและบริการ เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อน สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมา ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดระเบียบร่มเตียงชายหาดของ จ.ภูเก็ต และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบกับต่อมายังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอนักท่องเที่ยวที่เกาะล้านเมืองพัทยา ถูกลูกจ้างชาวกัมพูชาของผู้ประกอบการร่มเตียง ใช้เท้าเตะทรายใส่เพื่อไล่ออกจากพื้นที่ คสช.จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าของพื้นที่เข้ามาแก้ไขปัญหา ควบคุม กำกับดูแล และจัดระเบียบอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม สำหรับเมืองพัทยานั้น นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัด มีนโยบายคืนพื้นที่ส่วนใหญ่แก่สาธารณะ แต่ต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการที่ทำกินมาเป็นเวลานาน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดระเบียบ เพื่อให้ร่วมกันสำรวจ พิจารณา กำหนดแนวทางทำกิน และมาตรฐานการให้บริการที่ชัดเจน โดยใช้หลักเกณฑ์ในระเบียบของเมืองพัทยาที่เคยนำมาปฏิบัติใช้ในปี 2551 เป็นเกณฑ์ เพราะค่อนข้างมีความชัดเจนในการตีกรอบการประกอบการ เพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการ และเกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว

เช่น การกำหนดระยะการทำกินแต่ละราย การเว้นระยะเพื่อเปิดพื้นที่สันทนาการ การกำหนดอัตราค่าบริการ ค่าธรรมเนียม การประกอบอาหาร รวมทั้งห้ามเซ้งซื้อต่อ หรือเช่าช่วง มีบทลงโทษ รวมทั้งยังจัดทำทะเบียนของผู้ประกอบการทั้ง 2 หาดไว้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ชายหาดพัทยา มีผู้ประกอบการ 116 ราย 228 ล็อก ชายหาดจอมเทียน 256 ราย 452 ล็อก

นายเชาวลิตร กล่าวว่า จำนวนผู้ประกอบการ และจำนวนล็อกพบว่าไม่มีความสอดคล้อง เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนประกอบการเกินกว่า 1 ล็อก ดังนั้น เพื่อเป็นการคืนพื้นที่สาธารณะ จึงมีนโยบายในการลดพื้นที่ทำกินใหม่ โดยระบุให้ผู้ประกอบการ 1 รายดั้งเดิม ถือสิทธิทำกินได้เพียง 1 ล็อก ในระยะ 7 X 7 เมตร และมีได้เพียงชายหาดเดียวเท่านั้น

ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวจะทำให้ชายหาดทั้ง 2 แห่ง มีพื้นที่ว่างเปล่าเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวใช้ประโยชน์ถึง 2 ใน 3 นอกจากนี้ ยังมีนโยบายในเรื่องของการพิจารณาเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม ที่เดิมภาครัฐได้เพียง 500 บาทต่อปี รวมทั้งการตรวจสอบปัญหาการเช่า เซ้ง และขายต่อกิจการ ซึ่งหากตรวจพบก็จำเป็นต้องยกเลิก เนื่องจากจะอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่ทำกินมานานตามทะเบียนที่ลงไว้ในปี 2551 และสามารถยกเป็นมรดกให้แก่ครอบครัวได้เพียง 1 ช่วงเท่านั้น พร้อมทั้งหยุดประกอบการสัปดาห์ละ 1 วัน

“มาตรการดังกล่าวถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยจะใช้เกณฑ์มาตรฐาน และทะเบียนจากข้อมูลในปี 2551 ของเมืองพัทยาเป็นหลัก ซึ่งไม่ถือเป็นการทำลายช่องทางทำกินของคนในท้องถิ่น เพียงแต่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย คาดว่าอาจมีผลกระทบอยู่บ้าง แต่หากฝ่าฝืนก็อาจมีมาตรการเด็ดขาด เนื่องจากชายหาดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้”

ด้าน นายปกรณ์ สุคนธชาติ ปลัดเมืองพัทยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาถือว่าร่มเตียงชายหาดมีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ไร้ระเบียบ กระทำผิดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการขยายพื้นที่ทำกิน ประกอบการนอกกรอบของกฎหมาย มีการเช่า เซ้ง ซื้อขายกันอย่างเอิกเกริก ซึ่งปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 ล้านบาทต่อล็อก นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยเช่ารายเดือน 4-5 หมื่นบาท ทำให้ขณะนี้ทั้ง 2 ชายหาดมีผู้ประกอบการตัวจริงอยู่ไม่ถึง 5% เท่านั้น ขณะที่การจ่ายค่าธรรมเนียมแก่ภาครัฐเพียง 500 บาทถือว่าไม่ถูกต้อง สิ่งสำคัญ คือ ชายหาดถือเป็นที่สาธารณะที่พลเมืองทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งแผ่นดิน

ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงเหมือนเป็นการลิดรอนสิทธิ กระทั่งภาครัฐเองก็ไม่สามารถอนุญาตให้มีการยกเว้นใช้พื้นที่สำหรับทำประโยชน์ได้ ปัจจุบันถึงกับมีกระแสจากภาคธุรกิจว่า จะยอมออกเงินซื้อพื้นที่คืนจากผู้ประกอบการเพื่อให้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า ใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ เหมือนกับ จ.ภูเก็ต ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับอย่างดี คาดว่าหากทำในเมืองพัทยาด้วย จะทำให้การท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นอีกกว่า 30% ดังนั้น การกำหนดมาตรการ และการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดระเบียบจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกลไก และโปร่งใส

ทั้งนี้ ที่ประชุมต่างมีมติเห็นชอบตามข้อกำหนดที่ทางคณะกรรมการระบุไว้ ได้แก่ การกำหนดพื้นที่ทำกิน 1 ราย 1 ล็อก 1 หาด รวมทั้งตรวจสอบกรรมสิทธิ์ ปัญหาการเช่า เซ้ง ซื้อขาย การเรียกเก็บผลประโยชน์หรือส่วย โดยจะจัดตั้งคณะทำงาน 10 ชุด ลงพื้นที่สำรวจเร่งด่วน ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอีกครั้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น