xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าท่าพังงาขีดเส้นตาย ร้านค้ารุกหาดคึกคักต้องรื้อภายใน 45 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พังงา - เจ้าท่าฯ สาขาพังงา แจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าริมหาดคึกคักรื้อถอนหลังพบมีการบุกรุก ตามนโยบายคืนพื้นที่ชายหาด ของ คสช. ภายใน 45 วันหลังประกาศ ด้านผู้ประกอบการย้ำไม่ชัดกรณีผู้นำชุมชนจัดโซนนิ่งให้ดำเนินกิจการ

วันนี้ (18 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีหนังสือจากสำนักงานกรมเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพังงา ติดประกาศไว้บริเวณหน้าร้านอาหาร จำนวนกว่า 10 ร้าน ของพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา หลังจากได้ตรวจพบสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำเป็นโรงเรือนร้านอาหาร ล่วงล้ำเข้าไปในชายหาดและทะเล บริเวณที่ นสล.ปากคลองขุด หมู่ที่ 3 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานกรมเจ้าท่าฯ สาขาพังงา อันเป็นความผิดตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฉบับที่ (14) พ.ศ.2535 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 118 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฉบับที่ (14) พ.ศ.2535 พร้อมมีคำสั่งให้รื้อถอนภายในระยะเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 นี้ หากมีการพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

โดยเรื่องนี้ทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในบริเวณปิดประกาศของทางสำนักงานกรมเจ้าท่าฯ สาขาพังงา ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านคึกคัก หมู่ที่ 3 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า ได้ออกมาจัดระเบียบโดยจัดสรรพื้นที่ นสล.ปากคลองขุด จำนวน ไร่ พร้อมให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้จองพื้นที่พร้อมดำเนินการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เปิดกิจการร้านค้า แต่เงื่อนไข คือ ให้คนในพื้นที่ได้เข้าดำเนินกิจการเท่านั้น ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมของแต่ละอาคารที่มีความกว้าง 6 เมตร ยาว 25 เมตร ปีละ 8,000 บาท ส่วนค่าดำเนินการก่อสร้างอาคารตกเป็นความรับผิดชอบของผู้เข้าประกอบกิจการ และห้ามมีการเปลี่ยนมือ หรือให้เช่าช่วงต่ออย่างเด็ดขาด

ด้านผู้เจ้าของร้านที่ประสบภัยคลื่นลมพัดจนทำให้ร้านเสียหายในพื้นที่บ้านคึกคัก ยอมรับเงื่อนไขต่อการจัดระเบียบในครั้งนี้ แต่มองว่าไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ในการจัดระเบียบเรื่องนี้จริงๆ ควรจะมีการจัดระเบียบแก่ผู้ประกอบการโรงแรม บังกะโล รีสอร์ตต่างๆในพื้นที่ เพราะมีการรุกล้ำชายหาดคึกคักเช่นเดียวกัน

โดยนางพวงเพ็ญ ตันเก่ง ผู้ประกอบการร้านอาหารแห่งหนึ่งในพื้นที่ กล่าวว่า ตนเองยังกังวลอยู่แม้ว่าทางผู้นำชุมชนจะมีการวางมาตรการในการเคลื่อนย้ายให้ไปอยู่ในที่ นสล. ของหมู่บ้าน เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลายคนจะลงทุนไปสร้างอาคารไว้แล้วแต่ไม่มีความชัดเจนในโครงการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางอำเภอตะกั่วป่า ได้แจ้งกับผู้ประกอบการร้านค้าว่าต้องมีการดำเนินการผ่านทางอำเภอหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ธนารักษ์ กรมเจ้าท่าฯ ที่ดิน และส่วนที่เกี่ยวข้อง จะมีการดำเนินการแค่ทางผู้ใหญ่บ้านนั้นมิได้ เรื่องนี้จึงต้องขอความชัดเจนจากทางผู้ใหญ่บ้าน และนายอำเภอ ส่วนที่ลงทุนสร้างอาคารไปแล้วยังวิตกว่าจะเป็นการสูญเปล่า


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น