ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ประกอบการทุกชายหาดในภูเก็ต ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ รวมตัวยื่นหนังสื่อถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และคสช.ขอความชัดเจนแนวทางจัดสรรพื้นที่ประกอบอาชีพ เพราะได้รับความเดือดร้อนหลังหยุดประกอบอาชีพมากว่า 3 เดือน ไม่มีรายได้ หนี้สินเพิ่ม
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (9 ก.ย.) ที่สนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาด หมอนวด ร้านอาหาร และอาชีพอื่นๆรวม 10 อาชีพจากทุกชายหาดในจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด กว่า 300 คน นำโดย นายพลัฏฐ์ จันทรโศภิน ประธานชมรมผู้ประกอบการบริการท่องเที่ยวภูเก็ต รวมตัวเพื่อยื่นหนังสือพร้อมเอกสารล่ารายชื่อผู้ได้รับผลกระทบ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผ่านไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อขอความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาช่วยเหลือจัดสรรที่ทำกิน หลังต้องหยุดประกอบอาชีพ และคืนพื้นที่ชายหาดมาเป็นเวลากว่า 3 เดือน ทำให้ขาดรายได้ ไม่มีเงินใช้จ่ายจนต้องกู้ยืมสิน โดย นายไมตรี อินทุสูต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เดินทางลงมารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการถึงแนวทางแก้ปัญหา และให้ตัวแทนผู้ประกอบการนำเอกสารทั้งหมดไปมอบให้ภายในศาลากลางจังหวัด
นายพลัฏฐ์ จันทรโศภิน ประธานชมรมผู้ประกอบการบริการท่องเที่ยวภูเก็ต กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีทั้งร่มเตียงชายหาด หมอนวด ร้านอาหาร และอาชีพอื่นๆรวม 10 อาชีพ ซึ่งทำอาชีพมานาน บางรายสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จากการรวบรวมตัวเลขพบว่ามีทั้งหมดถึง 1,000 ราย ที่ได้รับความเดือดร้อน ในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เดินทางมารวมตัว เพื่อขอให้จังหวัด และคณะรักษาความสงบแห่งชาติช่วยเหลือเร่งด่วน เพราะมีปัญหาเรื่องรายได้จากการหยุดประกอบอาชีพ ขณะที่บางส่วนที่ไม่ได้เดินทางมาก็ได้ร่วมลงชื่อมอบให้ตัวแทนนำมาส่งถึงจังหวัดเพื่อขอให้เร่งดำเนินการ หลังจากที่ผ่านมา ทางจังหวัดมีการให้ความหวังว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้สามารถประกอบอาชีพได้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงรอ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน
ขณะที่ นางสมคิด มั่นคง หมอนวดชายหาดป่าตอง กล่าวว่า ตนก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากหยุดประกอบอาชีพมากว่า 3 เดือน ไม่มีรายได้ ต้องกู้เงินนอกระบบมาจ่ายค่าเช่าบ้าน และส่งลูกเรียน อยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดสรรที่ทำกินแก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว ส่วนที่มีข่าวว่าจะขอให้ผู้ประกอบการบางส่วนเปลี่ยนอาชีพนั้นตน ไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนตนเองก็ทำอาชีพนวดนี้มากว่า 20 ปี ให้ไปทำอย่างอื่นคงไม่ไหว แต่ถ้าจะให้เปลี่ยนสถานที่ตามที่จัดสรรให้นั้นก็คงดีกว่าเปลี่ยนอาชีพ
ด้านนายไมตรี กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า ที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบมาลงชื่อพร้อมให้ข้อมูลไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าหากเปลี่ยนแปลง ทัศนคติ หรือพฤติกรรม เปลี่ยนแปลงอาชีพ เปลี่ยนแปลงสถานที่ทำกินนั้นสามารถทำได้หรือไม่ ก่อนหาแนวทางช่วยเหลือ แต่ปัญหาที่พบคือ มีผู้ประกอบการบางส่วนที่มาลงชื่อไม่กล้าให้รายละเอียด เช่น รายได้ต่อเดือน คนในครอบครัวทำอาชีพอะไรบ้าง และมีเครื่องมือประกอบอาชีพอะไร ทั้งหมดก็เพื่อจะดูความแตกต่างของปัญหาของแต่ละท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาได้สอดคล้องกัน เช่น อาชีพหมอนวดชายหาด มีบางส่วนที่โรงแรมสามารถจะรับเข้าทำงานได้ก็ให้เข้าทำงานในโรงแรม เช่น ในพื้นที่ตำบลเชิงทะเล ส่วนการจัดสรรที่ให้ก็ต้องพิจารณาว่าถูกต้องตามเงื่อนไขที่สาธารณะมั้ย เพราะถ้าให้จุดใดจุดหนึ่ง จุดอื่นก็จะร้องขอตามมา
อย่างไรก็ตาม ในแนวทางแก้ปัญหานั้นก็จะต้องให้ความสำคัญต่อผู้ได้รับผลกระทบ และก็เป็นแนวทางที่คนส่วนใหญ่รับได้ ยืนยันว่าทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ตลอด แต่เพราะปัญหาแต่ละแห่งสภาพปัญหา และเงื่อนไขต่างๆไม่เหมือนกันจึงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้บางส่วน เช่น ที่หาดป่าตอง ก็มองสถานที่จัดสรรไว้ให้แล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างตัดสินใจเนื่องจากเกรงว่าผู้ประกอบการจะไม่เห็นด้วย
นอกจากนี้ ในแนวทางแก้ปัญหาส่วนหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ ก็ได้ทำควบคู่ในการลงไปแต่ละพื้นที่ คือให้ศูนย์พัฒนาแรงงานอาชีพเข้าไปจัดฝึกอบรมเพื่อเป็นทางเลือก ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพก็ตาม แต่จังหวัดก็พยายามช่วยเหลือ