ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ประกอบการ ร่ม เตียง ทุกหาดในภูเก็ต ร้องขอความชัดเจนจากผู้มีอำนาจ กำหนดเวลาที่ชัดเจนให้ลงไปประกอบอาชีพบนหาด โอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาไม่ได้ประกอบอาชีพเดือดร้อนหนัก ด้านผู้ประกอบการหาดป่าตองเผย นักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 95 ยังต้องการร่ม เตียง นอนอาบแดด ครวญไม่มีร่ม เตียง ไม่อยากมาเยือนภูเก็ต เพราะนั่ง นอน ชายหาดไม่สะดวกสบาย
วันนี้ (10 ส.ค.) คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สภาประชาชนคนภูเก็ต จัดสัมนาทางวิชาการรับฟังความคิดเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชาวภูเก็ตกรณีการจัดระเบียบชายหาด และที่สาธารณะ ตามนโยบายของ คสช.โดยมี ดร.จันทินี บุญชัย อาจารย์ประจำภาคคณะเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.แสงดาว วงสาย ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติอันดามัน นายพลัฎฐ์ จันทรโศภิน ประธานสภาประชาชนคนภูเก็ต ผู้ประกอบการชายหาดในภูเก็ตทุกหาดเข้าร่วม ทั้งร่ม เตียง นวด หิ้วกระติกขายเครื่องดื่ม เจ็ตสกี เรือหางยาว และอื่นๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ หอประชุมอนุภาษภูเก็ตการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
ทั้งนี้ เพื่อเปิดรับฟังความเดือดของผู้ประกอบการบนชายหาด ไมว่าจะเป็น ร่ม เตียง นวด หิ้วกระติก และอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนจากกรณีที่ทาง คสช.ได้มอบหมายให้ทางจังหวัดภูเก็ต เข้าไปจัดระเบียบชายหาด และพื้นที่สาธารณะด้วยการไม่อนุญาตให้นำร่ม เตียง ลงวางบนชายหาดทุกหาดในจังหวัดภูเก็ต เป็นเวลาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาในวันนี้ ทางสภาประชาชนคนภูเก็ตจะนำเสนอไปยัง คสช. จังหวัดภูเก็ต และทัพเรือภาคที่ 3 ในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการบนชายหาดทุกสาขาอาชีพต้องการมากที่สุดในขณะนี้ คือ ความชัดเจนจากหน่วยงานราชการว่าจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการลงไปประกอบอาชีพบนชายหาดได้เมื่อไหร่ และอย่างไร เพราะหลังจากที่ไม่ได้ไปประกอบอาชีพบนชายหาดเป็นเวลา 1 เดือน ปรากฏว่า ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนไม่มีอาชีพอื่นสำรอง ทำแต่อาชีพบนชายหาดมาตั้งแต่ที่ภูเก็ตเริ่มมีการท่องเที่ยว ทุกคนจะต้องเลี้ยงครอบครัว มีหนี้สิน ลูกกำลังศึกษาต้องใช้เงินในการส่งเสียลูกๆ และเงินเก็บที่มีอยู่ก็เริ่มที่จะหมดแล้วเช่นกัน รวมทั้งในการกลับไปประกอบอาชีพ ร่ม เตียง บนชายหาดนั้น ทางผู้ประกอบการทั้งที่หาดกะรน และหาดป่าตอง ได้กำหนดแนวทางคร่าวๆ เสนอต่อทางภาครัฐ โดยการวางเตียงเพียง 2 แถว เว้นพื้นที่ว่างให้นักท่องเที่ยวได้ลงหาดกว้าง 6 เมตร และในเรื่องของพื้นที่วาง ร่ม เตียง แต่ละรายนั้นให้ยึดของเดิมที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องการให้ภาครัฐมาจัดสรรให้ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน เพราะขณะนี้มีข่าวว่า ทางภาครัฐมีแนวคิดที่จะจัดสรรพื้นที่ให้ประกอบการได้คนละ 20 เมตรเท่านั้น
ในการสัมนาวันนี้ ผู้ประกอบการ ร่ม เตียง หาดป่าตอง ได้นำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อนักท่องเที่ยวภายหลังมีการจัดระเบียบชายหาด และไม่ยอมให้มี ร่ม เตียง บนชายหาดของภูเก็ต โดยนายจักรรินทร์ เจริญจิตต์ ตัวแทนกลุ่มชมรมร่ม เตียง หาดป่าตอง กล่าวว่า ทุกวันนี้หลังจากมีการประกาศของจังหวัดภูเก็ต ฉบับที่ 1/2557 เรื่องห้ามยึดถือครอบครองพื้นที่สาธารณประโยชน์บริเวณหน้าหาด ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.2557 เป็นต้นมา ด้วยการรื้อสิ่งปลูกสร้าง และร่ม เตียง บนชายหาดทุกหาดในภูเก็ต ปรากฏว่า มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวที่หาดป่าตองด้วย เพราะชายหาดป่าตองในขณะนี้เหมือนหาดร้าง มีคนตกงานกว่าพันคน รวมถึงนักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกบนชายหาด
เพราะจากการที่ทางชมรม ร่ม เตียง หาดป่าตอง ได้ทำแบบสำรวจสอบถามความต้องการของนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับ ร่ม เตียง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บนชายหาด จำนวน 200 ตัวอย่าง ปรากฏว่า นักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 95 ต้องการให้มีร่ม เตียง บนชายหาดป่าตอง และสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เพราะนักท่องเที่ยวต้องการความปลอดภัย และอัธยาศัยของคนไทยมากกว่าหลายประเทศ
“นักท่องเที่ยวหลายคนเดินทางมาหาดป่าตองมากกว่า 5 ครั้ง และมีแผนที่จะมาอีก แต่พอเห็นสภาพการณ์ในปัจจุบันทำให้ต้องการเกิดทบทวนโปรแกรมที่จะเดินทางมาภูเก็ต บางคนถึงกับยกเลิกการจองที่พักในภูเก็ตก็เกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้ เพราะนักท่องเที่ยวต้องการความสะดวกสบาย และการอาบแดดที่ภูเก็ตนั้นนักท่องเที่ยวต้องการร่มชายหาด เพราะที่ภูเก็ตแดดจะแสงมาก หากไม่มีร่มนักท่องเที่ยวจะไม่กล้าไปนอนอาบแดด เพราะจะทำให้ผิวไหม้ได้” นายจักรรินทร์ กล่าวและว่า
ผู้ประกอบการ ร่ม เตียง หาดป่าตองทุกราย ได้รับอนุญาตถูกต้องจากเทศบาลเมืองป่าตอง ไม่ได้ยึดครองที่สาธารณะ รวมทั้งไม่ได้ก่อสร้างร้านค้า หรือร้านอาหารแบบถาวร และไม่เป็นระเบียบ เกะกะอยู่ริมหาดแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการจะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดโดยเทศบาลป่าตองอย่างเคร่งครัดตั้งแต่หลังเกิดสึนามิเป็นต้นมา
นายจักรินทร์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุดในขณะนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวที่หาดป่าตอง จึงอยากจะให้ผู้ที่มีอำนาจสั่งการให้สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ โดยสมาชิกชมรม ร่ม เตียงป่าตองทุกคนสนับสนุนให้เกิดการจัดระเบียบชายหาด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามแนวนโยบายของทาง คสช. ซึ่งในการลงไปประกอบอาชีพรอบใหม่นี้ ทางผู้ประกอบการหาดป่าตองก็ได้หารือถึงแนวทางในการดำเนินการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยผู้ประกอบการที่มีอยู่ทั้ง 62 ราย จะวางเตียงเพียง 2 แถวเท่านั้น และมีการเว้นพื้นที่ว่างทั้งหาดประมาณ 10 จุด แต่ละจุดกว้างประมาณ 6 เมตร หรือจะกว้างกว่านี้ก็ได้หากหน่วยงานราชการต้องการพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้น แต่ขอพื้นที่สำหรับรับวางร่ม เตียง แต่ละเจ้าเท่ากับของเดิมที่มีอยู่ ไม่ใช่ให้หน่วยงานราชการมาจัดสรรให้คนละเท่ากัน คือ 20 เมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีการดำเนินการที่ผ่านมาตลอดเวลา 30 ปี และวิถีปฏิบัติดังกล่าวทางผู้ประกอบการก็ยอมรับได้