ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ย้ำจัดระเบียบชายหาดเป็นการคืนความสุขแก่ประชาชนชาวภูเก็ต และนักท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมหามาตรการในการช่วยเหลือต่อไป
วันนี้ (11 ก.ค.) นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดระเบียบชายหาดของจังหวัดภูเก็ต ว่า หลังจากที่ คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวได้ลงพื้นที่จัดระเบียบชายหาดต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จนถึงในขณะนี้ได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าภาพในการนำประกาศไปติดให้ผู้ประกอบการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากชายหาด ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชายหาดทางตะวันตกของจังหวัดภูเก็ต 14 ชายหาดใหญ่ๆ ก็มีการจัดระเบียบไปแล้วประมาณ 45% โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 41 เจ้าหน้าที่ทหารเรือทัพภาคที่ 3 อส. ในจังหวัดภูเก็ตให้การสนับสนุนในการรื้อถอน ทำให้ขณะนี้ชายหาดต่างๆ ที่มีการรื้อถอนไปแล้วมีความสวยงาม ซึ่งเป็นการคืนธรรมชาติ และคืนความสุขให้แก่นักท่องเที่ยว และประชาชน เพราะชายหาดปัจจุบันไม่มีสิ่งที่บดบังทัศนียภาพ ดูแล้วเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่รกหูรกตาเหมือนเมื่อก่อน
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินการจัดระเบียบชายหาด ทางจังหวัดได้ดำเนินตามกฎหมาย 4 ฉบับ คือ 1.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2.พ.ร.บ.สาธารณสุข 3.พ.ร.บ.เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 4.พ.ร.บ.เกี่ยวกับเจ้าท่า ซึ่งในแต่ละหาดมีความแตกต่างกัน หากการดำเนินการมีปัญหา หรือติดขัดในเรื่องของกฎหมาย ก็จะปรึกษาทางกฤษฎีกาก่อนเพื่อที่จะดำเนินการให้ถูกต้อง และคิดในหลัก 4 และ 5 ร ประกอบด้วย 1.ร่วมมือ 2.ระเบียบกฎหมาย 3.รอบคอบและรอบด้าน 4.ไม่รอนสิทธิประชาชน 5.ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน สำหรับในประการที่ 5 ทางท้องถิ่นก็ทำบัญชีสำรวจไว้ว่ามีร้านรวมกี่ร้าน มีเต็นท์เท่าไหร่ เพื่อที่จะจัดหาสถานที่ที่ถูกต้องให้ดำเนินการต่อไป และหาทางช่วยเหลือ นอกจากจะประกอบอาชีพด้านนี้ด้านเดียวแล้ว ยังจะให้ประกอบอาชีพด้านอื่นด้วย และตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำในทุกๆ ชายหาด และมีความคืบหน้าไปด้วยดี
นายไมตรี ยังได้กล่าวต่อไปว่า หลังจากจัดระเบียบชายหาดแล้ว การจะรักษาชายหาดให้คงอยู่ในสภาพปัจจุบัน ทางจังหวัดก็ต้องขอความร่วมมือพี่น้องทุกภาคี ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในละแวกนั้น โรงแรมต่างๆ เจ้าของสถานที่ต่างๆ ให้ร่วมมือดูแลอย่าให้เกิดการรุกล้ำเข้ามาอีก ส่วนทางราชการก็จะกำกับดูแลไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมากว่า 20 ปีต่อเนื่องกันมาตลอด ก็คิดว่าที่ทำน่าจะถูก แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อบังคับใช้กฎหมายไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการรอนสิทธิคนอื่นเขาด้วย ฉะนั้น การดำเนินการแต่ละแห่งจะทำไม่เหมือนกัน เนื่องจากว่ามีเงื่อนไขต่างกัน บางแห่งมีการรุกล้ำเกี่ยวกับท่าเรือ ก็จะใช้กฎหมายเจ้าท่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร รุกล้ำมาที่ชายหาดแล้วก็มาต่อเติมอาคารโดยไม่รับอนุญาต ซึ่งการจัดระเบียบดังกล่าวได้เดินมาด้วยความเรียบร้อย และได้รับความร่วมมือทุกฝ่าย หลักก็คือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพก่อน แล้วทางจังหวัดก็ให้การสนับสนุนกำลังต่างๆ ที่แต่ละท้องถิ่นจะขอมา ส่วนใหญ่ก็จะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่เข้าใจในการจัดระเบียบครั้งนี้ สำหรับคดีที่อยู่ระหว่างศาล บางเรื่องที่รุกล้ำชายหาด ศาลก็ลงโทษทั้งจำคุก รอลงอาญา และปรับ นับว่าการจัดระเบียบดังกล่าวได้ทำงานร่วมกันทุกฝ่าย
“สำหรับพื้นที่ที่จะหาให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถดำรงอาชีพอยู่ได้นั้น ก็ต้องว่ากันไปตามความยากง่ายของแต่ละพื้นที่ บางแห่งก็ต้องไปขออนุญาตใช้พื้นที่ของเอกชน และบางแห่งต้องไปสร้างซุ้มให้รวมกัน แต่เป็นสถานที่ที่ทางราชการเลือกให้ได้ แต่ไม่ใช่ที่หลวง หรือถ้าเป็นพื้นที่ที่เอกชน เอกชนก็ต้องยินยอม ก็ต้องเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับองค์กรในพื้นที่ และภาคเอกชน ถ้ามีพื้นที่ที่จะให้พี่น้องประชาชนมีพื้นที่ทำมาหากินก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี” นายไมตรี กล่าว
หลังจากมีการรื้อสิ่งปลูกสร้างออกจากชายหาด ปรากฏว่า นักท่องเที่ยวให้การตอบรับดีมาก อะไรที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน และนักท่องเที่ยว ทางจังหวัดจะทำให้เกิดดุลยภาพ และเกิดความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทางจังหวัดเห็นว่าชาวบ้านที่จะทำมาหากินในบริเวณนั้น ก็จะหาพื้นที่ให้ถูกต้อง และทางอำเภอกับท้องถิ่นจะมีมาตรการลงไปให้ความช่วยเหลือ และขณะนี้ได้ลงไปให้ความช่วยเหลือแล้ว ขณะที่พื้นที่ป่าตอง 352 รายได้มาลงทะเบียนแล้ว พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือต่อไป