xs
xsm
sm
md
lg

“พล.อ.ธีรเดช” หนุนแนวคิด กกต. เชียร์ “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ เผยคดีขึ้นเบี้ยประชุมสู้ถึงฎีกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานสมาชิกวุฒิสภา(แฟ้มภาพ)
อดีต ปธ. วุฒิฯ หนุนแนวคิด กกต. เชื่อคนไทยรับไม่ได้ทำผิดคดีร้ายแรง จะเป็นนักการเมืองดีได้ เห็นด้วยห้ามคู่สมรส - ลูก ลงเลือกตั้งสมัยเดียวกัน ต้องเฉลี่ยให้หลากหลาย แนะอย่าให้ความสำคัญคุณวุฒิมาก ยกคนมีความรู้แต่ไม่ได้รับการศึกษาแยะ ชม กกต. ชุดนี้มีประโยชน์ชาติ ชู หน. คสช. เหมาะนั่งนายกฯ อุบไต๋ฟ้องกลับคดีขึ้นเบี้ยประชุม รับเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล กกต.- ป.ป.ช. สู้จนถึงฎีกา

วันนี้ (11 ก.ค.) พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ตนสนับสนุนแนวความคิดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะนำเสนอต่อสภาปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า เป็นความคิดที่ดี โดยเชื่อว่าคนไทยร้อยละร้อยรับไม่ได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง คดียาเสพติด คดีทุจริตทางการเมือง ซึ่งมองว่าเมื่อใครก็ตามที่มีความผิดในคดีร้ายแรงที่มีภัยต่อประเทศชาติแบบนี้ ก็คิดว่าไม่มีความเหมาะสมโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อคนเหล่านี้พ้นโทษออกมาก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะเป็นนักการเมืองที่ดีได้ โดยจะต้องมองว่าทำอย่างไรถึงจะได้นักการเมืองที่ดี เพราะนักการเมืองถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทต่อประเทศชาติมาก ส่วนในกรณีที่ห้ามไม่ให้คู่สมรสหรืออดีตคู่สมรส และบุตรตามกฎหมาย ลงรับสมัครเลือกตั้งในสมัยเดียวกันนั้น ก็เห็นด้วย เพราะควรจะกระจายขอบข่ายการบริหารประเทศออกไปในวงกว้างไม่ใช่ว่าครอบครัวนี้อาชีพเดียวกันทั้งบ้าน ประเทศไทยมีประชากรเกือบตั้ง 70 ล้านคน เราก็ต้องเฉลี่ยกันให้มีความหลากหลาย ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับจะได้สภาครอบครัว หรือสภาผัวเมีย ที่เป็นกลุ่มเครือญาติใกล้ชิดกันอยู่ เมื่อมองไปแล้วก็ไม่น่าจะทำงานได้ประสิทธิผลอย่างเต็มที่ โดยหากเฉลี่ยกันเข้าไปในสภาแม้จะมีที่นั่งเท่าเดิมแต่ก็เพิ่มความหลากหลายทางความคิด

พล.อ.ธีรเดช กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการสรรหา ส.ว. จากนิยามคำว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” นั้น ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งประธาน ส.ว. ตนมองว่าเรื่องคุณวุฒิไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เพราะในประเทศยังมีผู้ที่มีประสบการณ์จริงๆ ที่มีความรู้ความสามารถมากมายในกิจการนั้นๆ แต่ไม่มีโอกาสเข้ารับการศึกษาอยู่อีกมาก โดยไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาสูงๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านในศาสตร์หลายๆ แขนงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนั้นก็ไม่ได้มีปริญญาบัตร ทั้งยังเป็นสิ่งที่ค้นคว้าปฏิบัติได้ผลมาแล้วด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรให้ความจำเป็นความจำเป็นในเรื่องวุฒิบัตรมากจนเกินไป โดยส่วนนี้เชื่อว่าหากได้รับเลือกเข้ามาแล้วก็คิดว่าบุคคลเหล่านั้นก็จะต้องมีอะไรพิเศษจึงผ่านการกลั่นกรองเข้ามาได้

ทั้งนี้ ถึงแม้ตนจะไม่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับ กกต. ชุดนี้เป็นการส่วนตัว แต่ก็มั่นใจในการทำงานว่าน่าจะเป็นคณะที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดังนั้น ในสมัยที่เป็นเป็น ส.ว. จึงเลือก กกต. ชุดนี้มาทำงาน ซึ่งก็น่าจะร่วมงานกันได้ดีกับคสช. ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันเป็นแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ เท่าที่ตนได้ฟังเสียงสะท้อนกลับมาจากภายนอกก็เห็นว่า ณ เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งสามารถดูได้จากโพลที่ให้คะแนนพล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งห่างจากอันดับสองอย่างเห็นได้ชัด จึงชี้ให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นคนที่สามารถแก้ปัญหาให้คนไทยได้ดีที่สุด โดยคิดว่า คสช. ควรจะดูแลบ้านเมืองให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งให้สำเร็จเรียบร้อยจริงๆ ส่วนเรื่องระยะเวลา เท่าที่ฟังเสียงสะท้อนกลับมาก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องกำหนดว่ากี่เดือน หรือกี่ปี แต่ทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองที่นิ่งจริงๆ ซึ่งก็ต้องบริหารจัดการไปตามขั้นตอนในโรดแมปที่วางไว้

ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีขึ้นเบี้ยประชุมเหมาจ่ายในสมัยที่เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน พลเอก ธีรเดช ชี้แจงว่า ในเรื่องดังกล่าวนั้น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลอกระเบียบการขึ้นเบี้ยประชุมเหมาจ่ายมาแบบคำต่อคำจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งองค์กรอิสระอื่นๆ ก็ไปออกระเบียบของตัวเอง เช่น ป.ป.ช. กกต. แล้วต่อมาถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้มีโทษจำคุก 2 ปีเช่นเดียวกันทั้งหมด แต่เนื่องจากในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าไม่ผิดจึงได้ส่งอุทธรณ์ ซึ่งปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องโดยไม่มีผู้ใดเสนอขอฎีกา

ดังนั้น คดีดังกล่าวจึงถือว่าสิ้นสุดโดยไม่มีความผิดใดๆ และต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นต้นแบบของระเบียบดังกล่าวก็ได้รับการตัดสินจากศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องเช่นเดียวกัน โดยสรุปคือชี้ให้เห็นว่าระเบียบเรื่องเบี้ยประชุมเหมาจ่ายของ 2 องค์กรศาลเห็นว่าทำได้ตามกฎหมาย แต่ในส่วนของ กกต. กับ ป.ป.ช. นั้น อาจจะมีรายละเอียดของกระบวนการการออกระเบียบที่ต่างจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยทราบว่าขณะนี้ กกต. กำลังขอฎีกาอยู่ เพราะศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ตัดสินเหมือนกัน

เมื่อถามว่าจะดำเนินการฟ้องร้องกลับหรือไม่ อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดินคนแรกให้ความเห็นว่า “ที่ผ่านมาเรื่องดังกล่าวสร้างความเสียหายกับชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูลเป็นอย่างมาก แต่จะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น ก็ต้องพิจารณาให้รอบครอบก่อน” พล.อ.ธีรเดช กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น