xs
xsm
sm
md
lg

แนวคิดในการปฏิรูปประเทศเบื้องต้น (2) / จรูญ หยูทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างโปสเตอร์รณรงค์การปฏิรูปตามนโยบาย One Malaysia นโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาลมาเลเซีย (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
คอลัมน์..คนคาบสมุทรมลายู
โดย..จรูญ หยูทอง

ในการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จจะต้องเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมการปฏิรูปที่ผ่านมาจึงล้มเหลว เนื่องจาก 1.มักเป็นการปฏิรูปแค่เปลือกนอก ปฏิรูปแต่ปาก 2.มักปฏิรูปโดยการแต่งตั้งคนดี คนเก่งให้มาเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปอะไรสักอย่างแล้วให้คนดี คนเก่งเป็นประธานประชุมหาทางปฏิรูป 3.สุดท้ายลงเอยเหมือนกันทุกครั้งคือ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรถูกปฏิรูป ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย 4.องค์กรอิสระที่มีขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทยในอดีต ทำได้แค่แปลงคนดีเป็นเทวดา และปลอดจากการเชื่อมโยงกับประชาชน และปลอดจากการตรวจสอบ

ดังนั้น การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ต้องเป็นการปฏิรูปที่มียุทธศาสตร์ และมีความโปร่งใส จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า 1.จะปฏิรูปอะไร 2.ทำไมต้องปฏิรูป 3.ปฏิรูปให้เป็นอย่างไร 4.วิธีการในการปฏิรูปจะต้องทำอย่างไร ความโปร่งใสจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น มีโรดแมปที่ชัดเจนเขียนโดยทุกฝ่ายในสังคม

ตัวอย่างการปฏิรูปในประเทศเพื่อนบ้านคือ มาเลเซียเมื่อ พ.ศ.2534 สมัย ดร.มหาเธร์ ประกาศ “วิสัยมัศน์ 2020” เป้าหมายหลักคือ ทำให้มาเลเซียเป็นประเทศพัฒนาแล้วโดยวัดจากรายได้เฉลี่ยประชาชาติในประเทศเกิน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา/ปี หรือประมาณ 480,000 บาท/ปี ถือว่าเป็นความกล้าหาญชาญชัยมาก เพราะตอนนั้นมาเลเซียมีระดับการพัฒนาพอๆ กับไทย คนมาเลเซียมีรายได้คนละ 79,000 บาท/ปี ขณะคนไทยมีรายได้เฉลี่ยคนละ 52,000 บาท ต่างกัน 27,000 บาท

วิสัยทัศน์ 2020 ทำให้มาเลเซียรู้ว่า ต้องปฏิรูปอะไรบ้าง ต้องลงทุนในอุตสาหกรรมอย่างไร 20 ปีหลังจากประกาศเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 6.2% มากกว่า AEC ที่โตเฉลี่ย 5% และไทย 4.5% วันนี้มาเลเซียมีรายได้เฉลี่ยคนละ 311,000 บาท/ปี คนไทย 164,000 บาท/ปี ต่างกัน 147,000 บาท

มาเลเซียเกรงว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วไม่ทันในปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 จึงประกาศปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่อีกครั้ง ปี พ.ศ.2553 การปฏิรูปรอบที่ 2 เรียกว่า “ONE MALAYSIA” สมัยนายกรัฐมนตรีนาจิ๊บ ราซัค มาเลเซียมั่นใจว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี พ.ศ.2561 ด้วยซ้ำ

ONE MALAYSIA มีเป้าหมายปฏิรูป 2 อย่างคือ 1)ปฏิรูปการบริหารจัดการประเทศ และ 2)ปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยใช้หลักการ 8 ข้อในการปฏิรูป 1.สำรวจความต้องการของประชาชนทั้งประเทศว่ามีความเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องอะไรบ้าง ต้องการให้รัฐบาลปฏิรูปอะไรบ้างเอามา “จัดลำดับความสำคัญ” แล้วเอาเข้า ครม. ให้ ครม.รับรองประกาศเป็นยุทธศาสตร์ทิศทางในการปฏิรูป

2.เอาเรื่องที่จะปฏิรูปทั้งหมดมาเข้า “แล็บ” ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาระดมความเห็นกันว่า หัวข้อที่จะปฏิรูปนั้นต้องทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ ถ้าต่างประเทศทำได้ดีก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาเข้าแล็บด้วย ถ้าจำเป็นก็ไปดูงาน เช่น การปฏิรูปการปราบปรามอาชญากรรมส่งคนไปดูงานตำรวจนิวยอร์ก และเอาระบบไอทีของตำรวจนิวยอร์กมาใช้ในมาเลเซีย

3.เมื่อได้ข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญจากแล็บก็เอาไปให้ประชาชนรับรู้ วิพากษ์วิจารณ์ และเพิ่มเติมแนวทางในการปฏิรูปเรียกว่า “OPEN DAY” ขั้นตอนนี้ให้ความสำคัญมาก และเปิดกว้าง ใครก็ได้ที่สนใจจะร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั่วถึงทุกๆ ทาง ให้เวลาเต็มที่ หลายรอบ รอบละ 2-3 วัน 4.เขียนโรดแมปชัดเจนในแต่ละเรื่องว่ามีขั้นตอนปฏิรูปอย่างไร ใครทำอะไรในขั้นตอนไหน 5.กำหนด KPI เป็นลำดับชั้น เริ่มตั้งแต่ระดับชาติว่าเรื่องที่จะปฏิรูปนั้นจะวัด KPI ได้อย่างไร แล้วค่อยๆ แตกย่อยลงมาเป็น KPI ระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี และระดับรองๆ ลงมา จุดเด่นของ KPI มาเลเซียคือ ถ้าคนทีรับผิดชอบทำตามขั้นตอน และบรรลุ KPI แล้วการบรรลุนั้นต้องส่งผลให้การปฏิรูปสำเร็จได้ตามเป้าหมาย

เมื่อถึงเวลา นายกรัฐมนตรีจะเรียกรัฐมนตรีมาคุยเป็นรายคนถึงผลงานตาม KPI พร้อมๆ กับซีอีโอของหน่วยงานที่คอยกำกับติดตามอยู่ และประเมินผลการปฏิรูปที่ชื่อว่า “PEMANDU” 6.เริ่มปฏิรูปจริง ผลการปฏิรูปจะตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างเปิดเผย โปร่งใส ว่างานแต่ละขั้นตอนได้เดินหน้าตามกำหนดเวลาหรือไม่อย่างไร ผลงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ 7.เชิญผู้ตรวจสอบ หรือออดิเตอร์จากต่างประเทศมาตรวจสอบว่า KPI ที่ได้ผลงานออกมานั้นเป็นตัวเลข และผลงานจริงหรือไม่ และจะเป็นผลงานที่นำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปได้จริงตามเป้าหมายหรือไม่

8.พอครบรอบปีของการปฏิรูป รัฐบาลจะจัดทำเป็นรายงานประจำปี ทั้งที่เป็นรูปเล่มและจัดทำเป็น eReport ในเว็บไซต์ PEMANDU ทำแบบละเอียดยิบ และครบถ้วนว่าการปฏิรูปแต่ละเรื่องที่ตั้งไว้ อะไรคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน แต่ละเรื่องต้องมีตัวเลขกำกับชัดเจน

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น