ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล นำรายละเอียดผลกระทบที่จะเกิดต่อชุมชนตลอดเส้นทางผ่านของโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ ที่เชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าและพลังงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ไปยัง คสช.ให้พิจารณายกเลิกโครงการที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด แล้วหันไปพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ประมง และเกษตรกรรมเป็นรายได้หลัก เพื่อความยั่งยืนของถิ่นที่อยู่อาศัย และแหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศ
วันนี้ (24 มิ.ย.) พ.อ.ธนาวีร์ สุวรรณรัตน์ หัวหน้ากองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รับข้อมูลร้องทุกข์จากตัวแทนประชาชน จ.สงขลา และ จ.สตูล
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ตัวแทนประชาชน ในนามเครือข่ายปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล กล่าวถึงผลกระทบจากโครงการนี้ว่าจะเกิดจากหลายสาเหตุ และส่งผลกระทบทั้งต่อที่อยู่อาศัยของประชาชน แหล่งประกอบอาชีพ แหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ และทั่วประเทศ ทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ไม่ต่างจากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เช่น กรณีผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
“ได้มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ให้เป็นแหล่งรองรับด้านอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ทั้งการขนส่ง หรือลอจิสติกส์ การทำนิคมอุตสาหกรรม และพลังงาน และพบว่าภายใต้กรอบคิดโครงการศึกษาและออกแบบโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารานั้น ได้มีการจัดวางยุทธศาสตร์เพื่อที่จะพัฒนาโครงการอื่นๆ ตามมาหลายโครงการ”
ทั้งนี้ จากร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ ของโครงการสำรวจออกแบบโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ของกรมเจ้าท่า (ฉบับปี พ.ศ.2552) มีภาพรวมดังนี้ 1.โครงการรถไฟรางคู่ เชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกปากรารา จังหวัดสตูล กับท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 (บ้านสวนกง) 2.พัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าไปประเทศมาเลเซีย โดยการเจาะอุโมงค์ (สตูล-เปอร์ริส) 3. คลังน้ำมัน และโรงแยกกลั่นบนพื้นที่ร่วม 5,000 ไร่ (บ้านปากบาง ตำบลละงู) และอีก 10,000 ไร่ ที่จังหวัดสงขลา 4.โครงการสำรวจ และวางท่อน้ำมันดิบตลอดเส้นทางเชื่อมฝั่งอันดามัน-อ่าวไทย (ปตท.) 5.สร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ ทั้งสองพื้นที่ (สงขลา, สตูล) เพื่อจัดหาแหล่งน้ำรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต 6.สร้างโรงไฟฟ้า หรือสถานีไฟฟ้าย่อยเพิ่มเติม 7.เส้นทางด่วนมอเตอร์เวย์ หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย
จากโครงการเหล่านี้ ทำให้พบว่าจังหวัดสตูล และสงขลา จะต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย แหล่งทรัพยากร และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญด้วยการเวนคืน ริบคืน หรือสมัครใจซื้อขายผ่านเอกชน อันจะเกิดความเสียหาย และการสูญเสียอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่กระทบต่อชุมชนแทบทั้งสิ้น ดังนี้
พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และชายฝั่งอ่าวปากบารา จำนวน 4,734 ไร่ จะต้องถูกถอนสภาพ และยกให้แก่กรมเจ้าท่าเพื่อเป็นที่ตั้งในการสร้างท่าเรือฯ นั่นหมายถึงการเสียพื้นที่ทำกิน แหล่งท่องเที่ยว และอาจจะรุกถึงพื้นที่ของชุมชนหลังท่าเรือในระยะต่อไป (ขณะนี้กรมเจ้าท่ายื่นขอใช้พื้นที่จะกรมอุทยานฯ แล้ว กำลังรออนุมัติ)
ชาวบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จะต้องสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเลในหมู่บ้าน เพื่อการสร้างท่าเรือน้ำลึกบ้านสวนกง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณนั้นในหลายมิติตามมา
มีการออกกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของชาวบ้านลาหงา ในตำบลละงู มีที่อาศัย และที่ทำกินในบริเวณนั้น จำนวน 82 ราย รวมเนื้อที่กว่า 40 ไร่ เพื่อต้องการก่อสร้าง และขยายถนนเข้าสู่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา (กฤษฎีกา รอบแรกหมดอายุไปแล้ว)
ที่ตั้งคลังน้ำมัน และอาจจะมีโรงแยกกลั่นน้ำมัน บนเนื้อที่ 5,000 ไร่ ของบ้านปากบาง และบ้านใกล้เคียงในตำบลละงู และที่ตั้งคลังน้ำมันอีก 10,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา (ได้มีการสำรวจออกแบบเบื้องต้นไว้แล้ว โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นเจ้าของเรื่อง
ชาวบ้านตำบลทุ่งนุ้ย จะต้องสูญเสียที่ทำกินเพราะถูกน้ำท่วมรวมพื้นที่เกือบ 2,000 ไร่ เพื่อโครงการเขื่อนคลองช้าง ที่ขณะนี้กำลังศึกษา และออกแบบโครงการ (EIA (ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมุสลิม) คาดว่าน้ำจากเขื่อนแห่งนี้จะถูกนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดขึ้นของโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต
เวนคืน ริบคืนพื้นที่ตลอดเส้นทางรถไฟจากสตูล-สงขลา ในระยะความกว้างเบื้องต้นประมาณ 70-100 เมตร ตลอดความยาว 142 กิโลเมตร เพื่อวางรางรถไฟแบบรางคู่ และอาจะมีการขยายเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
เวนคืนพื้นที่ทำนาบ้านนายสี ตำบลหูทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 5,000 ไร่ เพื่อจัดทำเป็นลานเทกองสินค้า ซ่อมเก็บตู้คอนเทนเนอร์
ระเบิดภูเขา จำนวน 8 ลูก ถูกสำรองไว้เพื่อถมทะเลเป็นท่าเรือ พบว่ากระจายในอำเภอควนกาหลง 6 ลูก อำเภอทุ่งหว้า 1 ลูก และอำเภอละงู 1 ลูก ซึ่งกรมเจ้าท่าอ้างว่าไม่ต้องศึกษาผลกระทบการระเบิดเขา เพราะจะซื้อจากบริษัทเอกชน
และมีการขุดทรายชายหาดเพื่อถมทะเลสร้างท่าเรือ จำนวน 20 ล้านคิว ในเอกสารระบุชัดเจนว่า ทรายจากบ้านบ่อเจ็ดลูก 10 ล้านคิว และทรายจากบ้านปากละงู (หัวหิน) อีก 10 ล้านคิว เป็นทรายมีคุณภาพ และเหมาะสม
นอกจากนี้ มีการศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรม 150,000 ไร่ ในอนาคตใน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลเขาขาว และตำบลใกล้เคียง ของอำเภอละงู ขณะนี้ได้มีการแก้ไขผังเมืองใหม่ และได้กำหนดให้พื้นที่แห่งนี้เป็นโซนอุตสาหกรรม (ผังเมืองใหม่นี้จัดทำเสร็จ และกำลังรอประกาศบังคับใช้)
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดเบื้องต้นที่ถูกกำหนดไว้ในเอกสารที่มีความหนา 1,000 กว่าหน้า และยังมีเอกสารที่เป็นโครงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA อีก 3 เล่ม รวมถึงเอกสารสำรวจโครงการของบริษัท ปตท. ที่แต่ละเล่มมีความหนาใกล้เคียงกัน ประชาชนชาวจังหวัดสตูล และสงขลา ได้รวมตัวเป็นเครือข่ายฯ เพื่อศึกษา เรียนรู้โครงการฯ ผ่านเอกสาร ข้อมูลและจากสื่อต่างๆ โดยมีนักวิชาการอิสระคอยให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยสร้างเวทีเรียนรู้ที่เป็นหลักวิชาการให้แก่ชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา
จึงทำให้ได้ค้นพบข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยตัวเอง และพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องออกมาสื่อสารถึงข้อเท็จจริงให้มากกว่านี้แต่ก็ไม่เป็นผล นอกจากนั้น ยังได้พยายามจะสอบถามข้อสงสัยเหล่านั้นไปยังผู้มีอำนาจ และหน่วยงานเจ้าของโครงการมาตลอด เพื่อสร้างความกระจ่างชัดต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากแต่ไม่เคยได้รับความร่วมมือมาจนถึงบัดนี้
ความคลุมเครือเหล่านี้ กลายเป็นประเด็นถกเถียง และข้อสงสัยของชาวสตูล และชาวสงขลามาตลอด และยิ่งหนักมากขึ้น เมื่อกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่เคยสนใจข้อทักท้วงของประชาชน แต่กลับขออนุมัติงบประมาณให้ทำโน่น ทำนี่ เพื่อเตรียมเดินหน้าโครงการอยู่ตลอดเวลา
การพัฒนาประเทศถือเป็นเรื่องจำเป็นที่พวกเราต่างเข้าใจดี และพร้อมที่จะยอมรับ หากแต่ไม่ใช่การพัฒนาแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ ที่จะต้องแลกด้วยการสูญเสียดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น ซึ่งจะต้องตอบคำถามถึงความว่าเหมาะสม และคุ้มค่าของโครงการที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด ต่อสิ่งที่จะต้องสูญเสียไป นั่นคือ สิ่งที่รัฐบาล หรือหน่วยงานเจ้าของโครงการ รวมถึงกลุ่มทุนเอกชนต่างๆ ที่ออกมาสนับสนุนจะต้องพินิจพิเคราะห์ให้รอบคอบ และรอบด้าน และต้องเข้าใจถึงอัตตลักษณ์ และศักยภาพที่แท้จริงของความเป็นภาคใต้ รวมถึงความเป็นจังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา ในมิติต่างๆ คือ สังคม เศรษฐกิจ ศาสนา วัฒนธรรม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว ที่ได้หล่อเลี้ยง และหล่อหลอมให้คนทั้ง 2 จังหวัดนี้ดำรงชีวิตอย่างปกติสุขมาได้จนถึงวันนี้ หาใช่แต่คำนึงเพียงผลกำไรของนักแสวงผลประโยชน์กลุ่มเล็กๆ ที่มาในคราบของนักลงทุนเพียงฝ่ายเดียว
ทั้งนี้มีการแนบหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเนื้อหาระบุดังนี้
“ตามที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการโครงการสะพานเศรษฐกิจ สงขลา-สตูล หรือที่เรียกว่า “แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล” นั้น พบว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างความเดือดร้อนและผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชาวบ้าน และชุมชนตลอดเส้นทางการก่อสร้าง ด้วยชุดโครงการดังกล่าวยังมีโครงการย่อยต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง อย่างเช่น โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกบ้านสวนกง จังหวัดสงขลา ที่ต้องใช้พื้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเลของทั้ง 2 จังหวัดเพื่อกิจกรรมดังกล่าวจำนวนมาก รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือสองฝั่งทะเล (อันดามัน-อ่าวไทย) ที่จะต้องเวนคืนพื้นที่ตลอดเส้นทางรถไฟกว่า 140 กิโลเมตร และยังพบว่า จะต้องเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีกิจกรรมอุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมีรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับ คือ การสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้า ทั้ง 2 พื้นที่
โครงการดังที่ได้กล่าวแล้วนั้น ได้มีการดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับเสียงคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างมากตามที่ปรากฏในสื่อสาธารณะทั่วไป ที่สำคัญยิ่งคือ ชุดโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวนั้นยังมีข้อบกพร่องในการจัดทำโครงการที่ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้ อีกทั้งยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยของประชาชนทั่วไปในหลายประเด็นตามที่ได้มีการยื่นเรื่องร้องเรียน และสอบถามกับรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมาไปแล้วหลายครั้ง กลับไม่มีการรับฟังเสียงทักท้วงจากประชาชนแต่อย่างใด จนเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามเดินหน้าโดยการบรรจุโครงการดังกล่าวอยู่ในพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไว้ด้วย สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันได้มีมติให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวตกไปในที่สุด
เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สงขลา-สตูล จึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ดำเนินการทบทวน และยุติการดำเนินโครงการดังกล่าวไว้ก่อนเพื่อคืนความสุขให้แก่ชุมชน และขอให้มีการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้จัดทำเอกสารรายงานผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนทั้ง 2 จังหวัดแนบมาด้วยแล้ว
ด้าน พ.อ.ธนาวีร์ สุวรรณรัตน์ หัวหน้ากองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 42 เสนอแนะว่า นอกจากชาวบ้านนำหนังสือร้องเรียนมายื่นต่อทาง คสช.แล้ว ควรจะยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการทั้ง 2 จังหวัดให้ทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนด้วย ส่วนหนังสือที่รับจากประชาชนวันนี้จะเร่งนำเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป