ทันทีที่ศูนย์พัฒนาและบำรุงทางที่ 3 กรมเจ้าท่า เข้าพื้นที่ขุดลอกร่องน้ำคลองเกาะแก้ว ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อแก้ปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน เรือท่องเที่ยว เรือสปีดโบต และเรือยอตช์ไม่สามารถเข้า-ออกได้ในช่วงที่น้ำลดต่ำสุด ทางจังหวัดภูเก็ต จึงได้ผลักดันขอสนับสนุนงบประมาณจากกรมเจ้าท่า จำนวน 12 ล้านบาท ทำการขุดลองร่องน้ำดังกล่าว ให้เรือสามารถเข้า-ออกได้ตลอดเวลา ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเล หรือการเป็นฮับมารีนาของโลกของจังหวัดภูเก็ต ก็ได้ถูกคัดค้านจากสภาเกษตรจังหวัดภูเก็ตทันทีเช่นกัน โดยเรียกร้องให้ทางกรมเจ้าท่าเปลี่ยนวิธีการขุดลอกร่องน้ำให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
โครงการขุดลอกร่องน้ำคลองเกาะแก้ว ก่อนที่กรมเจ้าท่าจะเริ่มขุดลอกนั้น ทางกรมเจ้าท่าได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอรูปแบบการดำเนินการ และรับฟังถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการขุดลอกร่องน้ำดังกล่าวจริง ทั้งในช่วงของการขุดลอก และหลังการขุดลอก ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในวันนั้นที่ห้องประชุมโครงการรอยัล ภูเก็ต มารีนา มารีนาหรูระดับโลก มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว ผู้ประกอบการท่าจอดเรือยอตช์ หรือมารีนา ชาวประมงพื้นบ้านบ้านเกาะแก้ว สะปำ และบ้านยามู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยทุกฝ่ายเห็นฟ้องต้องกันให้มีการขุดลอกล่องน้ำคลองเกาะแก้ว ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร โดยแบ่งการขุดลอกออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ส่วนในคลองระยะทาง 1.5 กิโลเมตร และร่องน้ำเดินเรือเดิมด้านนอกคลอง ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร มีความลึก 2 เมตร โดยให้ขุดตามล่องน้ำเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขุดลอก และในส่วนของชาวประมงพื้นบ้านที่เข้าร่วมประชุมก็เห็นด้วยต่อการขุดลอกดังกล่าว
แต่เมื่อทางกรมเจ้าท่าได้ส่งเรือขุดเข้าพื้นที่เพื่อทำการขุดลอกร่องน้ำคลองเกาะแก้ว ปรากฏว่าสภาเกษตรจังหวัดภูเก็ต ที่นำโดย นายจิตติ อินทรเจริญ ประธานแก้ไขปัญหาประมง สภาเกษตรจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต คัดค้านวิธีการขุดลอกร่องน้ำของศูนย์พัฒนาและบำรุงทางน้ำที่ 3 ในจังหวัดภูเก็ต โดยระบุว่า ไม่ได้รับแจ้งจากกรมเจ้าท่าในการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีการใช้วิธีการขุดด้วยการใช้เรือติดหัวปั่นเลนแล้วสูบทิ้งในทะเล เนื่องจากวิธีการดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต และการประกอบอาชีพของเกษตรกร จึงอยากให้มีการใช้เครื่องมือที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแทน
โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ศูนย์พัฒนาและบำรุงทางที่ 3 กำหนดให้มีการจัดทำโครงการขุดลอกร่องน้ำในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นระยะอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปี ด้วยวิธีการขุดด้วยการใช้เรือติดหัวสว่านปั่นเลนแล้วสูบทิ้งในทะเล ซึ่งเป็นวิธีที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต และการประกอบอาชีพของเกษตรกร เช่น ทำให้สัตว์น้ำตายระหว่างขุด พื้นเลนเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นทราย ป่าชายเลนในพื้นที่ใกล้เคียงตาย สัตว์น้ำหลายชนิดหายไปจากพื้นที่ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหายทั้งระหว่าง และหลังดำเนินการ เป็นต้น
ที่ผ่านมา มีกลุ่มเกษตรกรได้คัดค้านการขุดลอกร่องน้ำด้วยวิธีการดังกล่าวมาตลอด เพราะเป็นวิธีการที่สร้างความเสียหายอย่างมากมาแล้วในหลายพื้นที่ของไทย โดยเฉพาะในอ่าวไทย แต่ด้วยจำนวนประชากรที่ทำการเพาะเลี้ยงของภูเก็ตมีไม่มาก ทำให้เสียงคัดค้านไม่ได้รับความสนใจ แต่ผลความเสียหายจากเรือขุดดังกล่าวได้สั่งสมทำลายจนเห็นชัดแล้วว่าได้ทำลายสิ่งแวดล้อมในอ่าว 2 แห่ง คือ อ่าวสะปำ และสะพานหิน กลายเป็นอ่าวซึ่งเดิมมีสภาพเป็นดินเลน กลับเป็นเนินทรายกระจายไปทั้งอ่าว ทำให้ในหอยธรรมชาติหายไป และปูทะเลทุกชนิดลดลง เนื่องจากไร้ที่อาศัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลดลงทุกชนิด เนื่องจากสมดุลในธรรมชาติถูกทำลาย ส่งผลให้เรือประมงขนาดเล็กที่หากินจับสัตว์น้ำชายฝั่งโดยพึ่งธรรมชาติ และมักถูกใช้เป็นตัวแทนภาคเกษตรในการสนับสนุนการขุดร่องน้ำ ต้องเลิกอาชีพไปเป็นจำนวนมากแบบไม่รู้ตัว ไม่คุ้มค่า สัตว์น้ำไม่มี เพราะอ่าวที่สมบูรณ์ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนสมดุลธรรมชาติถูกทำลาย ตลอดระยะเวลาอ่าวทางภาคตะวันออกทั้งหมดของภูเก็ตเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงเพื่อผลิตอาหารทะเลสดๆ สำหรับภาคท่องเที่ยวในภาคตะวันตก
คณะทำงานด้านการแก้ไขปัญหาด้านการประมง สภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เกษตรกรมิได้คัดค้านการขุดลอกร่องน้ำธรรมชาติที่จะมีประโยชน์ต่อการคมนาคม และการดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่คัดค้านวิธีการขุดลอกร่องน้ำแบบเดิมที่สร้างความเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐซึ่งเป็นผู้กระทำควรดำเนินการใดๆ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และให้เกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาควบคุมเพื่อดูแลทรัพยากรของตนมิให้ถูกทำลายจากกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยง ทั้งก่อน และหลังกิจกรรมด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากการขุดลอกร่องน้ำคลองเกาะแก้วนั้น ทางกรมเจ้าท่า ได้กำหนดให้บริเวณในคลองระยะทาง 1.5 กิโลเมตร เป็นการขุดลอกด้วยแบ็กโฮในโป๊ะ และอีก 3 กิโลเมตรกว่าๆ ใช้การขุดลอกแบบเรือติดหัวปั่นเลนแล้วสูบทิ้งในทะเล หรือการขุดแบบคัตเตอร์ ซึ่งการขุดลอกดังกล่าวทางสภาเกษตรจังหวัดภูเก็ตมองว่าส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน จึงอยากจะให้ทางกรมเจ้าท่าปรับเปลี่ยนวิธีการขุดลอกให้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยต้องการให้ใช้การขุดลอกแบบแบ็กโฮในโป๊ะทั้งระยะทาง 4.5 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสภาเกษตรจังหวัดภูเก็ตออกมาคัดค้านวิธีการขุดลอกของกรมเจ้าท่า ทางจังหวัดภูเก็ต และศูนย์พัฒนาและบำรุงทางที่ 3 กรมเจ้าท่า ได้เชิญตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูเก็ตมาหารือร่วมกับอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2557 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต เป็นประธาน มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบการเรือ ผู้ประกอบการมารีนา ผู้นำชุมชน และสภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต เอ็นจีโอ เป็นต้น
ทางเจ้าท่าภูเก็ต ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ในการขุดลอกร่องน้ำคลองเกาะแก้วด้วยวิธีเรือติดหัวปั่นเลนแล้วสูบทิ้งในทะเลในระยะทาง 3 กิโลเมตรกว่าๆ และการขุดด้วยแบ็กโฮในโป๊ะในระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ในบริเวณคลอง และไม่สามารถที่จะเปลี่ยนรูปแบบการขุดลอกได้ เนื่องจากการขุดลอกดังกล่าวจากการศึกษาของทางกรมเจ้าท่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้น และการประกอบอาชีพของประมงพื้นบ้าน รวมทั้งการขุดลอกด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้ล่องน้ำออกมาสวยงามเหมือนกับที่เคยดำเนินการมาแล้วในหลายๆ พื้นที่ เช่น ที่จังหวัดสตูล ที่ชาวบ้าน และชาวประมงในบริเวณนั้นพอใจมาก รวมทั้งหากมีการหยุดขุดลอกก็จะทำให้การขุดลอกดังกล่าวชะงักไป เพราะการขุดลอกร่องน้ำนั้นทางกรมเจ้าท่ามีโปรแกรมการขุดลอกที่ชัดเจน
ที่สำคัญใน ที่ประชุมวันนั้นชาวประมงพื้นบ้านที่บริเวณบ้านเกาะแก้ว บ้านยามู ยังคงยืนยันว่าการขุดลอกดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อประมงพื้นบ้านแต่อย่างใด และระหว่างที่มีการขุดลอกอยู่นั้นสัตว์น้ำชายฝั่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ส่งผลดีต่อการทำประมงพื้นบ้าน
ขณะที่ฝ่ายตัวแทนจากสภาเกษตรจังหวัดภูเก็ต นายจิตติ อินทรเจริญ ตัวแทนสภาเกษตรฝ่ายประมง กำนันตำบลบเกาะแก้ว และผู้ใหญ่บ้านบ้านสะปำ รวมทั้งเอ็นจีโอ ยืนยันว่า จากการลงพื้นที่สำรวจการขุดลองล่องน้ำคลองเกาะแก้วด้วยวิธีเรือติดหัวปั่นเลนแล้วสูบทิ้งในทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และสัตว์น้ำในบริเวณนั้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพราะการขุดลอกล่องน้ำแบบวิธีเรือติดหัวปั่นเลนแล้วสูบทิ้งในทะเล ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในบริเวณอ่าวสะปำอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าเกาะมะพร้าว
แต่เพื่อให้การพัฒนาจังหวัดภูเก็ตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศต่อไปในอนาคตนั้น ขอฝากถึงกรมเจ้าท่าว่า ในการขุดลอกร่องน้ำที่ภูเก็ตในโครงการต่อไป ขอให้เลิกใช้วิธีวิธีเรือติดหัวปั่นเลนแล้วสูบทิ้งในทะเล เปลี่ยนมาใช้วิธีอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม และสัตว์น้ำน้อยที่สุด และพร้อมที่จะให้ทางกรมเจ้าท่าขุดลอกร่องน้ำคลองเกาะแก้วไปจนเสร็จสิ้นในครั้งนี้
การขุดลอกร่องน้ำถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในการนำพาภูเก็ตก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง หรือฮับการท่องเที่ยวทางทะเล โดยเฉพาะการเป็นฮับของเรือยอตช์จากทั่วโลก จากความพร้อมในเรื่องของท่าจอดเรือยอตช์ หรือมารีนาที่ได้มาตรฐานระดับโลก เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การพัฒนานั้นจะต้องก้าวไปบนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน และเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ประโยชน์ แต่อีกฝ่ายกลับได้รับผลกระทบเต็มๆ