“โกปี้” หรือ กาแฟ โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตรัง นิยมดื่มกินกันตั้งแต่เช้ามืด ยันดึกดื่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมการกินที่ไม่ธรรมดา “กินกาแฟกับหมูย่าง” คือมนต์เสน่ห์ที่สร้างชื่อเสียงกระฉ่อน ร้านกาแฟที่ จ.ตรัง มีจำนวนมากผุดขึ้นอย่างรวดเร็วราวกับดอกเห็ด นอกจากได้ทานมือเช้า หรือมือไหนๆ ได้อิ่มสบายท้องแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเสพข่าวสาร เป็นแหล่งข้อมูลอย่างดี นี่คือ “สภากาแฟของคนตรัง”
สิ่งที่ชาวตรังให้ความนิยมกินกันมาก และต่อเนื่องยาวนานจนโดดเด่นเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของจังหวัด ซึ่งก็คือ กาแฟ หรือที่ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า “โกปี้” โดยกินกันตั้งแต่เช้ามืด ไปจนสาย เที่ยง บ่าย เย็น หัวค่ำ ยันถึงดึกดื่น อีกทั้งวัฒนธรรมการกินกาแฟของชาวตรังก็ยังไม่เหมือนใครที่ไหน เพราะเอาแค่กินกาแฟกับหมูย่าง ปาท่องโก๋ หรือติ่มซำ ก็สร้างความแปลกใจระคนสงสัยว่า จะเข้ากันได้อย่างไร แต่นั่นคือมนต์เสน่ห์ และมนต์ขลังที่สร้างชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วประเทศในเวลานี้
ความพิเศษของร้านกาแฟ หรือ “โกปี้” ไม่ใช่แค่เป็นที่ฝากท้องให้คลายหิวเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะสมัยก่อนในยุคที่ยังไม่มีทีวี การจะรับข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะราคายางพารา พืชเศรษฐกิจประจำภาคใต้ ว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรก็ต้องฟังจากวิทยุ ซึ่งมักจะมีอยู่ตามร้านรับซื้อยางพารา จึงทำให้ร้านกาแฟ กับร้านรับซื้อยางพารา ตั้งอยู่คู่กัน โดยช่วงที่ข่าวยางพารายังไม่มา ก็จะนั่งกินกาแฟแล้วพูดคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่ชาวตรังชอบเป็นชีวิตจิตใจ
ผ่านพ้นมานานแล้ว แต่วิถีชีวิตของชาวตรังวันนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากอดีตเลย เพราะนับตั้งแต่เช้ามืด จะมีพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เสร็จภารกิจค้าขายกันแล้ว รวมทั้งชาวบ้านที่เสร็จสิ้นจากการกรีดยางพาราแล้ว จะมามารวมตัวกันตามร้านกาแฟ หรือ “โกปี้” เนื่องจากจะเป็นเวลาที่ทุกคนต่างมีความสุขในการกินอาหารมื้อเช้าที่แสนพิเศษอลังการ นั่นคือ มีอาหารจานเล็กๆ สารพัดเมนูวางเต็มโต๊ะไปหมด ซึ่งมิใช่เฉพาะหมูย่าง ปาท่องโก๋ และติ่มซำ เท่านั้น ควบคู่กับการจิบน้ำชา กาแฟ และนำไปสู่การนั่งเสวนา
จากการที่เริ่มพูดคุยถึงเรื่องครอบครัว และเรื่องใกล้ตัวในชุมชน ก็จะเปลี่ยนไปเป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ ข่าวสารเหตุการณ์ประจำวัน แต่หัวข้อ และการวิพากษ์วิจารณ์ที่คุยกันได้อย่างสนุก หรือถกกันอย่างออกรสชาติมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการเมือง จนกลายเป็นที่มาของ “สภากาแฟเมืองตรัง” นี่เอง ก่อนขยายตัวไปเป็นแหล่งนัดพบของผู้คนในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว ร้านกาแฟ หรือ “โกปี้” จึงก่อเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย และรวดเร็ว ตั้งแต่ในระดับธรรมดาแบบชาวบ้าน ไปจนถึงระดับหรูในห้าง หรือโรงแรม
ทั้งนี้ ปัจจุบันคาดว่าในจังหวัดตรัง จะมีร้านกาแฟเป็นจำนวนมากถึง 1,000 ร้าน เฉพาะในเขตเทศบาลนครตรัง คาดว่าจะมีประมาณ 200 ร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟโบราณ หรือร้านกาแฟสด ที่เปิดให้บริการริมถนน ในห้างสรรพสินค้า ในบ้านเรือน ห้องเช่า หรือในสถาบันการศึกษา แต่ที่สำคัญก็คือ ทุกร้านจะมีลูกค้าเข้าไปอุดหนุนกันอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงเช้า จนถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวตรังไปแล้ว และกลายเป็นสถานที่พูดคุย สนทนา หรือแม้กระทั่งทำสัญญา เจรจาการค้า
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีผู้คน และนักท่องเที่ยวเข้าไปนั่งกินกาแฟ หรือ “โกปี้” กันทุกๆ ร้าน เกือบตลอดทั้งวันทั้งคืน แต่ก็ใช่ว่าทุกแห่งจะมีธุรกิจที่เติบโตขึ้นอย่างสวยงามเสมอไป หากไม่พัฒนาตนเอง ทั้งสถานที่ บรรยากาศ การบริการ รวมไปถึงเครื่องดื่ม และอาหาร ที่นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก จึงทำให้ร้านกาแฟในยุคหลังๆ แทบจะมีความแตกต่างไปจากอดีต เพราะดูหรูหรา ทันสมัย หรือมีคิดค้นเครื่องดื่ม หรืออาหารแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อนำมาเสิร์ฟบนโต๊ะ ถือเป็นการพยายามสร้างจุดเด่น และสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น
ภาพ/เรื่อง โดย เมธี เมืองแก้ว