คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ข่าวการฆาตกรรมนายกมล ดวงผาสุก หรือ ไม้หนึ่ง ก. กุนที หรือไผ่ กวีรุ่นใหม่ขวัญใจเสื้อแดงและ นปช. เมื่อไม่นานมานี้สร้างความสนใจแก่คอการเมืองและผู้คนในแวดวงการเมืองภาคประชาชนทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายเสื้อแดงที่ต้องเศร้าโศกเสียใจ และนำเอาเหตุการณ์นี้มาขับเคลื่อนสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตน ประเภทว่า “หากินกับศพ” หรือ “ศพเพื่อนมีลิขสิทธิ์” (สำนวน ศิริวร แก้วกาญจน์) กับฝ่ายมวลมหาประชาชนที่ก่นด่าสาปแช่งและสะใจต่อการตายแบบ “ตายโหง” ของกวีที่พวกเขาเห็นว่าเป็น “กวีล้มเจ้า” ผู้เนรคุณแผ่นดิน
ผู้เขียนรู้จัก ไม้หนึ่ง ก. กุนที ผ่านทางบทกวีที่ตีพิมพ์เผยแพร่ประจำในกวี/กระวาดของมติชนสุดสัปดาห์ ที่บัดนี้มีจุดยืนเดียวกันกับเขา และเป็นจุดยืนที่อยู่ตรงข้ามกับมวลมหาประชาชน หลังจากนั้นผู้เขียนได้รับหนังสือรวมบทกวีของเขาเล่มแรกชื่อ “บางเรา ในนคร” จัดพิมพ์โดยยิปซีสำนักพิมพ์ เมื่อเดือนมีนาคม 2551 มี เริงวุฒิ มิตรสุริยะ เป็นบรรณาธิการ พิเชฐ แสงทอง เป็นผู้ช่วยบรรณธิการและเขียนบทความท้ายเล่มหนังสือ มี ศิริวร แก้วกาญจน์ อนุ แสงหาด และ อังคาร จันทาทิพย์ กวีซีไรต์คนล่าสุดร่วมเป็นกองบรรณาธิการ และมี คฑาวุธ ทองไทย เขียนภาพประกอบ พิทักษ์ ใจบุญ ออกแบบปก โดยมี เสถียร จันทิมาธร ผู้ชื่นชอบแนวกวีแบบไม้หนึ่งเป็นผู้เขียนคำนำเสนอ
เสถียร จันทิมาธร ให้ความเห็นเกี่ยวกับตัวตนและผลงานของไม้หนึ่งไว้ตอนหนึ่งว่า
“ไม้หนึ่ง ก. กุนที ไม่ได้เกิดขึ้นจากว่างเปล่า ไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า ตรงกันข้าม เขาคือผลิตผลแห่งยุคสมัยของเขาเอง ความเป็นนักเรียนทางด้านอักษรศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรมจากครูดีๆ ระดับคุณหญิงผอบ โปกฤษณะ และ นันทา ขุนภักดี ยืนยันพื้นฐานทางวรรณคดีโบราณของเขาได้ระดับหนึ่ง ยืนยันถึงการผ่านรูปการสำแดงออกของสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙ มาแล้ว…ไม้หนึ่ง ก. กุนที อาจมิใช่กวีผู้ยิ่งใหญ่ แต่เขามีความสุขในการเคี่ยวกรำทำงานหนัก…” (คำนำเสนอ. ๒๕๔๑)
จากการอ่านงานกวีนิพนธ์ในเล่มนี้พอจะทำให้ทราบถึงโลกทัศน์ของกวีในบางด้าน เช่น ทัศนคติที่มีต่อประชาชน ทัศนคติต่อยุคสมัย ทัศนคติต่อผู้คน ทัศนคติต่อการศึกษา ฯลฯ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
“ดุจพรายพระจันทร์เพ็ญ
เร้นร่างในไขแสง
มิปรารถนาจะสำแดง
อุบัติรูปธรรมใด
ดุจพรายฟอสฟอรัส
เพียงจรัสบนหาดทราย
ระยับอยู่แล้วเลือนหาย
มิลุกไหม้เศษซากเรือ
แต่ละคนคล้ายขนนก
รวมอาจผกถึงดาวเหนือ
เส้นเดียวใครจักเชื่อ
ว่าจะโบกจิกดาริกา
แต่ละคนคือหยดเดียว
ไร้คลื่นเกลียวอันเชี่ยวกล้า
ละอองของสมทรา
ร่วมกลืนกินทุกหมู่เรือ.
(ประชาชน. ๒๕๓๙)
หมู่เราอาจเป็นคนชนิดนั้น
ถูกข้อมูลปลุกปั่นจนผันผวน
ถูกข่าวสารรุมหลอมจนเรรวน
ที่สุดรู้แค่บางส่วนอย่างเลือนลาง
หมู่เราอาจเป็นคนชนิดนั้น
ดูเหล่าทัพโรมรันอยู่ห่างห่าง
สนับสนุนความชอบธรรมอย่างคว้างคว้าง
ด้วยผิวบางเกินจะร่วมทุกข์ระทม
หมู่เราอาจเป็นคนชนิดนั้น
ถูกต้มกลั่นเอามารวมเทหมักบ่ม
ด้วยระบบการศึกษาค่านิยม
ของกลุ่มชนผู้อยู่บอดปิระมิด
หมู่เราอาจเป็นคนชนิดนั้น
รากสะบั้นรอยต่อเชื่อมขาดสนิท
พันธะแห่งหน่อพันธุ์ตอชีวิต
ต่อไม่ติดกับโคตรเหง้าหัวพื้นพื้น.
(ผู้ต่างหัว. ๒๕๔๐)
กมล ดวงผาสุก เป็นบุตรชายคนที่ 1 ของ นายทิพย์ นางสมหมาย ดวงผาสุก เกิดที่บ้านคลองดอนบุก ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มาเติบโตแถวทุ่งนา สวนองุ่นและแปลงผักของ ต.โคกพระเจดีย์ ลุ่มน้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นพี่ชายคนที่ 1 ของบุญธรรม ดวงผาสุก ประทีป ดวงผาสุก อุทิศ ดวงผาสุก และ ไพรทูล ดวงผาสุก เป็นชาวสวนน้ำตาลมะพร้าวเหมือนพ่อแม่และน้องชาย เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนพอใช้ จากโรงเรียนวัดสาธุชนาราม (สินประชารามนุกูล) ต.บางแค อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และ TAWARANUKUL SCHOOL ต.แม่กลอง อ.แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม
จบอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว นครปฐม เป็นพ่อค้าส้มโอที่ร้านวันสตาร์ เป็นพนักงานของร้านวันสตาร์ข้าวหน้าเป็ด หมูแดง หมูกรอบ บะหมี่เกี๊ยว ราชวัตร และเป็นไผ่ของ รุจิรา จารุนันท์ เป็นกวีเสื้อแดงของ นปช. และสุดท้ายเป็นเหยื่อของประเทศที่การเมืองการปกครองและการดูแลประชาชนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
จนบัดนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าเขาตายอย่างกวีในฐานะกวีของประชาชน หรือตายอย่างสามัญปุถุชนคนในประเทศด้อยพัฒนาทั่วไป แต่จะอย่างไรก็ตาม เขาไม่ควรตายในเวลาอันไม่สมควร และด้วยวิธีการอันป่าเถื่อนเช่นนี้ ไม่ควรมีใครดีใจและอาศัยศพของเขาเพื่อตอบสนองจุดหมายทางการเมืองอย่างที่เห็นกันอยู่เช่นนี้.