คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ปมความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยในปัจจุบันที่ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดยุติลงด้วยดีในเร็ววัน เห็นทีว่าจะต้องผ่านความเลวร้าย นำพาสังคมสู่มิคสัญญี เกิดการบาดเจ็บล้มตาย ท่ามกลางความเกลียดชังของคนในชาติสองฝ่ายที่ต่างยืนยันว่าฝ่ายตนมีความถูกต้องชอบธรรม และแน่นอนอีกฝ่ายหนึ่งคือ ฝ่ายเลวร้าย และต่ำทราม
ประเด็นปัญหาส่วนหนึ่งของความขัดแย้งน่าจะมาจากอิทธิพลของนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละฝ่ายที่มีความแตกต่างกันจนเกือบจะเรียกได้ว่า อยู่กันคนละโลก คนละระบบนิเวศทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางการเมืองจนไม่สามารถพูดคยแลกเปลี่ยน หรือสื่อสารกันให้รู้เรื่องโดยดีได้ เพราะมันเป็น “มนษยนิเวศ” กับ “เดรัจฉานนิเวศ” โดยแท้
“มนุษยนิเวศ” เป็นระบบสังคมมนุษย์ที่มีบริบทแวดล้อมความเป็นมนุษย์ ที่แตกต่างจากเดรัจฉานโดยพื้นฐาน เช่น มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีวัฒนธรรม วัฒนธรรมเป็นมรดกตกทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่าอย่างมีพัฒนาการ เป็นสังคมที่มีการฝึกฝนเรียนรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมเป็นเครื่องมือในการปลูกฝังกล่อมเกลาความเป็นสมาชิกของสังคม มีสถาบันทางสังคมทำหน้าที่กล่อมเกลา มนุษย์เป็นสัตว์สังคม สัตว์ที่มีเหตุผล ธรรมชาติพิเศษนี้เป็นส่วนเฉพาะของมนุษย์ คือมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ เป็นสัตว์ที่ศึกษาได้ หรือเป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้ แปลกจากสัตว์อื่ที่ฝึกฝนตัวเองไม่ได้ หรือเรียนรู้ไมได้ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก สัตว์อื่นอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ เรียนรู้ได้นิดเดียว ไม่สามารถสร้างโลกของมันต่างจากโลกธรรมชาติได้
แต่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกไม่เรียนรู้ก็อยู่ไม่ได้ เมื่อฝึกแล้วก็จะมีปัญญาเพิ่มพูนขึ้น สื่อสารได้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเจริญทั้งในทางนามธรรม และวัตถุธรรม สามารถพัฒนาโลกวัตถุ เกิดเทคโนโลยี ศิลปวิทยาการ เกิดวัฒนธรรม อารยธรรม เกิดโลกมนุษย์ท่ามกลางโลกของธรรมชาติ
การฝึกพัฒนาตนทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ประเสริฐสูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก การเรียนรู้ ถ้าไม่ฝึก ไม่เรียนรู้จะด้อยกว่าเดรัจฉาน จะต่ำทรามกว่า คำว่าฝึกคือสิกขา หรือศึกษา หรือเรียนรู้หรือพัฒนาในสังคมปัจจุบันนั่นเอง
ส่วน “เดรัจฉานนิเวศ” ก็จะตรงกันข้ามกับ “มนุษยนิเวศ” และเดรัจฉานมีความรู้หลักอยู่ ๓ อย่างคือ รู้สืบพันธุ์ รู้กินอาหาร และรู้รักษาตัวกลัวตายหรือหนี-ป้องกันภัย โดยทั่วไปเดรัจฉานไม่รู้บุญหรือบาป ไม่รู้จักเลี้ยงตนด้วยการทำมาค้าขาย ทำไร่ ทำนา บางชนิดกินหญ้า บางชนิดกินเถาวัลย์ บางชนิดกินใบไม้ ผลไม้ บางชนิดกัดกินกันเอง บางชนิดกินสัตว์ที่อ่อนแอกว่าตน เมื่อตายไปก็ย่อมเกิดในอบายภูมิ ๔ สัตว์ซึ่งเดินคว่ำตัวลงขนานกับพื้นที่เรียกว่าเดรัจฉานมีทั้งดี และไม่ดี
สำหรับคู้ความขัดแย้งในสังคมไทยในปัจจุบันมีบริบท และองค์ประกอบความเป็น “มนุษย์นิเวศ” และ “เดรัจฉานนิเวศ” ที่ค่อนข้างจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน จึงทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่นับวันจะบานปลาย และไม่อาจจะหาข้อยุติที่จะจบลงด้วยดีได้ ไม่ว่าจะโดยวิธีใด โดยเฉพาะวิธีการเจรจาประนีประนอม เพราะไม่มี “คนกลาง” ระหว่าง “มนุษย์” กับ “เดรัจฉาน” ที่เรียกว่า “เทวดา” นั่นเอง
สุดท้ายหากมนุษย์กับเดรัจฉาน (ในคราบมนุษย์) ไม่อาจจะตกลงกันได้ก็จะนำสังคมเข้าสู่ “นรกนิเวศ” ซึ่งประกอบด้วยนรกบริวาร ๑๖ ขุม ได้แก่ นรกแม่น้ำหวาย คือ นรกของผู้ที่เคยมั่งคั่ง มีทรัพย์สินและบริวารมากมาย แต่มักทำร้ายผู้อื่นเพราะมีกำลังมากกว่า (ข่าวว่าประมาณ ๑๕ ล้านเสียง) นรกหมา คือ นรกของผู้ที่ด่านักบวช ผู้ทรงศีล พ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ครูอาจารย์ (เช่น ด่าหลวงปู่พุทธะอิสระ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และนักวิชาการอาวุโสของบ้านเมือง ฯลฯ) นรกเปลวไฟ คือ นรกของผู้ที่ด่าผู้ทรงศีล (เช่น ด่าหลวงปู่อิสระ ด่าพระโพธิรักษ์ ฯลฯ นรกหลุมถ่านเพลิง คือ นรกของผู้ที่เอาทรัพย์สินของคนที่ทำบุญมาใช้ประโยชน์ตน (เช่น บางสำนักสัมปทนานิพพานแถวปทุมธานี และรายการ “งี่เง่าเช้านี้” ที่อมเงินบริจาคน้ำท่วม ฯลฯ)
นรกหม้อเหล็กแดง คือ นรกของผู้ที่ทำร้ายสัตว์ ผู้ทรงศีล ครูอาจารย์ (เช่น ยิงเอ็ม ๗๙ ใส่ที่ชุมนุม ขว้างระเบิด ลอบยิงผู้ชุมนุม ฯลฯ) นรกแกลบและฟาง คือ นรกของผู้ที่เคยเอาข้าวลีบ แกลบ ฟาง มาปนกับข้าวเปลือกแล้วเอาไปหลอกขายว่าข้าวดี (รวมทั้งพวกหลอกให้ชาวนาเอาข้าวเปลือกไปจำนำแล้วไม่จ่ายเงินด้วย) นรกหอก คือ นรกของผู้ที่เคยลักขโมยทรัพย์สินของคนอื่นแล้วกล่าวหาเจ้าของทรัพย์ว่าเป็นโจร (รวมทั้งพวกโกงบ้านกินเมืองแล้วปราบปรามประชาชนด้วย) นรกอาจมเก่า คือ นรกของผู้ที่เคยกระทำบาปกรรมโดยการข่มขู่ผู้อื่นว่าจะใช้ขื่อคาผูกมือ และเท้าข่มเหงเขา (เช่น แจ้งข้อหากบฏ อายัดบัญชีธนาคาร ฯลฯ)
นรกเบ็ดเหล็กแดง คือ นรกของผู่ที่เคยติดต่อซื้อสินค้าจากผู้อื่นแล้วหลอกว่าจะจ่ายเงินให้ แต่แล้วไม่ให้เงิน (เช่น รับจำนำข้าวหลอกชาวนา) นรกพิฆาต/นรกต้นงิ้วเหล็ก หรือ นรกหย่อนหัวลง คือ นรกของผู้ที่เป็นชู้กับสามี หรือภรรยาคนอื่น (เช่น กรณี ว.๕) นรกของผู้เห็นผิด คือ นรกของผู้เห็นผิด ๒ ประเภทคือ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายมีเหตุ และทำความดีไม่ได้ (เช่น อ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่บอกไว้ว่าให้ลาออกได้ หรืออยู่เพื่อรักษากติกา หรือยอมตายในสนามประชาธิปไตย เป็นต้น)
ใครถนัดจะอยู่ขุมไหนก็เชิญตามสะดวกเถอะครับ.
เอกสารอ้างอิง
พระพรหมคุณาภรณ์ (๒๕๕๓). พุทธธรรม กรุงเทพมหนคร : ธรรมสภา.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ม.ป.ป.). ไตรภูมิพระร่วง พระนิพนธ์พญาลิไท กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา.