คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอทัย
ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมาทั้ง 77 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทมหานครฯ เมืองหลวงของประเทศ สะท้อนถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศโลกที่สาม หรือประเทศด้อยพัฒนาได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
ผู้ได้รับเลือกตั้งมีคะแนนสูงสุดของแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย บุคคลประเภทอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เครือข่ายของนักการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติทั่วทุกภาค นอกจากนั้นก็คือ คนมีเงิน ไม่ว่าเงินนั้นจะได้มาด้วยความสุจริตหรือไม่ก็ตาม
ทั้งๆ ที่บทบาทอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.มีความสำคัญมากมายมหาศาล ถ้าในต่างประเทศในประเทศที่พัฒนาแล้วอันเป็นต้นแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งแบบประธานาธิบดี และแบบรัฐสภา วุฒิสมาชิก หรือสภาสูงจะต้องเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียง และทำคุณประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น ประเทศชาติบ้านเมืองจนเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน
แต่สำหรับประเทศด้อยพัฒนา นักเลงการพนัน เมียนักเคลื่อนไหวทางการเมือง คนร่ำรวยจากการประกอบอาชีพที่ไม่สุจริต นายทหาร นายตำรวจ และบุคคลที่มีประวัติขัดขวาง และเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
บางคนแค่เป็นเมียนักเคลื่อนไหว สนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล และมีคดีการฉกเพชรจากห้างครั้งมีการเผาบ้านเผาเมือง และมีพฤติกรรมน่าขยะแขยงอีกมากมายหลายประการ ก็ยังได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ
ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ป่วยการที่จะพูดถึงการปฏิรูปการเมืองตามที่มวลมหาประชาชนเรียกร้อง หากไม่ทำความเข้าใจในบทบาทอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาให้ประชาชนเข้าใจ และตระหนัก ไม่ใช่ไปเลือกตามแรงส่งของราคากลางในตลาดซื้อขายเสียง และไปตามคำบงการของนักการเมือง หรือผู้นำทางศาสนา
นอกจากนั้น เมื่อ ส.ว.ส่วนใหญ่ที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้มีความใกล้ชิดกับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งโดยตรง และโดยอ้อม ย่อมเป็นผลดีต่อรัฐบาลรักษาการที่ขาดความชอบธรรม โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ไร้วุฒิภาวะ และขาดความสำนึกในความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง ไม่มียางอายต่อการกระทำที่ขัด และละเมิดต่อกฎหมายครั้งแล้วครั้งเล่า แทนที่จะยอมรับคำวินิจฉัย ชี้มูล หรือคำพิพากษาของศาลต่างๆ แต่กลับตอบโต้ท้าทายอำนาจศาล แต่ผลของการวินิจฉัย และชี้มูลของศาลเหล่านี้จะสิ้นสุดลงที่กระบวนการถอดถอนของวุฒิสภา
เมื่อสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาล เสียงข้างมากอาจจะไม่ใช่ฝ่ายที่ให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งตามความต้องการของมวลมหาประชาชน และตามที่ควรจะเป็น เพื่อสร้างความสงบสุขให้แก่สังคมที่คนกระทำชั่วไม่ควรได้รับการยอมรับให้ปกครองบ้านเมืองอีกต่อไป แต่กลับเป็นเสียงสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำที่ผิดกฎหมายที่ผ่านมา และที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้นี้
ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นสิ่งยืนยันให้ “นักเลือกตั้งนิยม” ที่บูชาการเลือกตั้งเป็นสรณะว่า เป็นสิ่งเดียวที่เรียกว่า “เป็นประชาธิปไตย” ที่มีดวงตา และสติปัญญาคิดใคร่ครวญเห็นว่าการเลือกตั้งของประชาชนคนหัวเมืองส่วนใหญ่ ยังไม่ใช่การเลือกตั้งที่มีคุณภาพตามเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย เพราะดุลพินิจในการพิจารณาของประชาชน (ยกเว้น กทม.) ยังไม่ได้ยึดโยงกับชีวิต และผลงานของผู้สมัครที่สอดคล้องเหมาะสมกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.
โชคดีที่การเลือกตั้งในครั้งนี้มีผู้ไปใช้สิทธิน้อยกว่าครั้งก่อนๆ และส่วนหนึ่งกาในช่องไม่ประสงค์จะเลือกใคร ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่า ไม่เห็นด้วยต่อการเลือกตั้ง หรือไม่ก็ไม่มีคนดีให้เลือก แต่สัญญาณแบบนี้มันมีผลในทางปฏิบัติเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น สำหรับประเทศด้อยพัฒนาอย่างเรา ประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีไร้เดียงสา คณะรัฐมนตรีที่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน องค์กรอิสระถูกคุกคาม ศาลถูกข่มขู่ ตำรวจรับใช้รัฐบาลทรราชย์ ทหารทำหน้าที่เก็บศพประชาชน มวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลตกอยู่ใต้คำบงการของนักเคลื่อนไหวรับจ้างแบบ “ม็อบเติมเงิน” การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แบบนี้คงสูญเปล่า
จะอย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ได้สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีสภา 2 สภาอีกครั้งหนึ่ง ผู้ได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่ผู้แทนของปวงชน แต่เป็นผู้แทนของคนส่วนน้อยประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละเขตการเลือกตั้ง หรือเขตจังหวัด หลายจังหวัดผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากได้คะแนนไม่ถึงแสน ในขณะที่มีผู้มีสิทธิร่วมล้านคน แต่มีผู้ไปใช้สิทธิ 2-3 แสนกว่าๆ เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยคาดหวังว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้จะสะท้อนการตื่นรู้ทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในภาคใต้ที่เป็นกองกำลังหลักในการต่อสู้เคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมากลับไม่ต่างกับก่อนการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนในทุกพื้นที่ยกเว้น กทม. ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเพราะเหตุผลหรือปัจจัย 2-3 ประการคือ
1.มีผู้ไปใช้สิทธิน้อย โดยเฉพาะในภาคใต้ เพราะกำนันสเทพ เทือกสุบรรณ นัดมวลมหาประชาชนร่วมชุมนุมที่ กทม.ในวันที่ 29 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นวันก่อนเลือกตั้ง 1 วัน
2.ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมที่ กทม.ก็ไม่ไปเลือกตั้ง เพราะต้องการให้มีการปฏิรูปก่อน
3.ไม่มีผู้สมัครที่อยากจะเลือกเพราะส่วนใหญ่ในหลายจังหวัด ผู้สมัครไม่เป็นที่รู้จักของประชาชน
ผลการเลือกตั้ง ส.ว.ในครั้งนี้จึงเป็นความไม่สมประกอบอีกครั้งหนึ่งของการเมืองไทย และยิ่งตอกย้ำความด้อยพัฒนาของประชาชน และที่สำคัญผลการเลือกตั้งที่ได้สมาชิกสภาสูงไม่ต่างกับสภาล่างที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น แทนที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ กลั่นกรอง และถอดถอน แต่กลับทำหน้าที่สนับสนุนให้ท้าย หรือการันตีให้ฝ่ายบริหารก่อกรรมทำชั่ว สร้างความเสียหายให้แก่ชาติบ้านเมืองอย่างไม่รู้จบสิ้น
ก็ได้แต่หวังว่าสิ่งที่หวั่นวิตกจะเป็นเพียง “หนาวก่อนฝน ตีตนไปก่อนไข้” เพราะสังคมไทยมักจะใจกว้างสำหรับคนไม่ดี และใจแคบสำหรับคนดี.