xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าสงขลาเผยราคายางยังทรุด ด้าน IMF คาดอีก 5 ปี อาจร่วงเหลือ 40 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - หอการค้าจังหวัดสงขลา วิเคราะห์สถานการณ์ราคายางพาราในประเทศ ชี้ช่วงนี้ราคายางไม่ดีเหตุจากวิกฤตการเมืองในประเทศ และเศรษฐกิจจีนทรุดหนัก เผยประชาชนยังหวังต้องการ 96 บาทต่อกิโลกรัม ด้านไอเอ็มเอฟ คาดการณ์อีก 5 ปีข้างหน้าราคายางอาจร่วงเหลือกิโลกรัมละ 40 บาท

วันนี้ (25 เม.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่โรงแรมซากุระ แกรนด์วิว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หอการค้าจังหวัดสงขลา ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการจัดทำโครงการหอการค้าสงขลาโพลล์ และผลการวิจัยในประเด็นสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของ จ.สงขลา และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งราคายางพาราที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของ จ.สงขลา โดยมี นายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานหอการค้า จ.สงขลา ดร.มาลิน สืบสุข รองประธานหอการค้า จ.สงขลา และ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกันแถลง

โดยผลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการธุรกิจด้านยางพาราในพื้นที่ จ.สงขลา จำนวน 65 แห่ง พบว่า ราคายางพาราเฉลี่ยในช่วงที่สำรวจอยู่ที่ 63 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่ายังไม่มีความเหมาะสม โดยราคาที่ผู้ประกอบการพอใจขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 96 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคายางในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อยอดการใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่ที่ลดลง และยิ่งทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นตามราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังคงมีราคาสูงอยู่เช่นกัน

ขณะที่แนวโน้มราคายางพาราของประเทศไทยนั้นมีการระบุว่า ในอีก 1 เดือนข้างหน้า ระดับราคาอาจจะมีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 60.83 บาท จากนั้นถัดไปอีก 3 เดือน จะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 63.50 บาท และในอีก 12 เดือนข้างหน้า ระดับราคาจะอยู่ที่ 70.17 บาทต่อกิโลกรัม แต่คาดว่าเป็นการยากที่ราคายางพาราจะสูงถึงระดับ 90-100 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยังไม่ยุติ และไม่มีรัฐบาล ทำให้ผู้ปรกอบการภาคธุรกิจและเอกชนทั้งใน และต่างประเทศไม่กล้าที่จะลงทุน เนื่องจากไม่รู้นโยบายเกี่ยวกับยางพาราของรัฐบาลว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

อีกทั้งไอเอ็มเอฟ ยังมีการนำเสนอผลการวิเคราะห์ด้วยว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ราคายางพาราจะดิ่งไปอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 40 บาท อันเนื่องมาจากความต้องการของตลาดโลกลดลง ประกอบกับกำลังซื้ออันถดถอยของจีน ภาวะสงคราม และการฟื้นตัวที่เปราะบางทางเศรษฐกิจของยุโรป รวมทั้งการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ของอเมริกา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น