“ธปท.” การันตีฐานะการเงินแบงก์พาณิชย์ของไทยยังแข็งแกร่งเพียงพอ สามารถฝ่ามรสุม ศก.ได้แม้จะไม่สามารถประเมินได้ว่า ปัญหาการเมืองที่ส่งผลต่อ ศก.ไทยจะยืดเยื้อนานแค่ไหน ชี้แบงก์พาณิชย์ของไทยตุนกำไรไว้มากในช่วง 10 ปีที่ผ่าน แถมตั้งสำรองไว้สูง ขณะที่ช่วงนี้ ศก.ชะลอตัวก็ยังมีความระมัดระวังในการให้สินเชื่อเพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องหนี้เสีย
นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันไม่สามารถประเมินสถานการณ์การเมืองได้ว่าจะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน แต่มั่นใจว่าเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เป็นปัญหาต่อเสถียรภาพทางการเงิน โดยทางธนาคารพาณิชย์มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้ค่อนข้างสูง เมื่อย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมา ทางธนาคารพาณิชย์มีกำไรสูงจึงส่งผลให้มีการตั้งสำรองที่สูง และเชื่อว่าภาพรวมของธนาคารพาณิชย์จะมีการคุ้มครองป้องกัน และรักษาตัวเองได้ และช่วยประคับประคองลูกค้าได้ในช่วงระยะหนึ่ง อีกทั้งยังไม่สร้างภาระต่อระบบเศรษฐกิจด้วยแม้ในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอในปัจจุบัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ธปท. ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2556 มีเสถียรภาพ และผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ดี แม้สินเชื่อจะขยายตัวชะลอลง แต่คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะมีแนวโน้มด้อยลงบ้าง ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรอง และกองทุนอยู่ในระดับสูง เพื่อรองรับผลกระทบจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ โดยในปี 2556 ธนาคารพาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 2.14 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.11 หมื่นล้านบาท
ขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ขยายตัว 11% จากปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 12.9% จากปีก่อน เป็นการชะลอลงในเกือบทุกสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อรถยนต์หลังการสิ้นสุดของมาตรการรถคันแรก สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตจากความระมัดระวังในการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน และความระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์
ส่วนคุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มียอดคงค้างอยู่ที่ 2.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.14 หมื่นล้านบาท ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ ลดลงเหลือ 2.2% ส่วนเอ็นพีแอลสุทธิหลังหักกันสำรอง ลดลงเหลือ 1%
ทั้งนี้ คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มจะด้อยลงบ้าง โดยยอดคงค้างสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) หรือสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 1-3 เดือน เพิ่มเป็น 2.95 พันล้านบาท จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ โดยสัดส่วนเอสเอ็มต่อสินเชื่อรวมจึงเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% จากเดิม 2.2%
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังได้มีการกันสำรองเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นเป็น 168.3% เงินฝาก และเงินกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวต่ำกว่าสินเชื่อ ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก และเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็น 90.7% จากเดิมที่ 87.9% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงมาอยู่ที่ 15.7%
ด้านนางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงนี้ถือว่ามีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบของปัญหาการเมืองภายในประเทศ ในขณะที่ผู้ขอสินเชื่อก็ลดลงตามไปด้วย จึงเห็นแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางการยอดการอนุมัติสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์นั้น อาจสะท้อนให้เห็นถึงภาวะสินค้าที่มากกว่าความต้องการ ซึ่งเห็นมาระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่ยังเกิดขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งแบงก์ชาติได้มีการติดตามดูอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าปัญหานี้จะไม่นำไปสู่จุดเสี่ยงทางภาวะเศรษฐกิจ หรือเกิดปัญหาฟองสบู่แตก เพราะเป็นเพียงแค่ภาวะโอเวอร์ซัปพลายในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งราคาสินทรัพย์ไม่ได้ปรับลดลงมากนัก