นักวิชาการมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้เปิดเออีซีในปี 58 ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยโต 1-2% ต่อปี แนะเร่งเตรียมความพร้อมระบบลอจิสติกส์ ภาษา รองรับโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ รับการเมืองวุ่นวายทำเงินลงทุนต่างชาติหาย 3-4 แสนล้านบาท แถมอาจหลุดการเป็นศูนย์กลางอาเซียน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำผลการวิจัย เรื่อง ประเทศไทยขาดอะไรในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 จะเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 1-2% การจัางงานเพิ่มขึ้น 5-7% ต้นทุนการผลิตเพิ่ม 1-2% ยอดขายสินค้าเพิ่ม 10-15% และประสิทธิภาพในการทำกำไรเพิ่มขึ้น 8-13% โดยหากไทยวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอรับการขยายตัวได้อย่างดี เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มได้อีกถึง 6-7% แต่ทั้งนี้โอกาสที่จะเกิดขึ้นจาก AEC จะต้องอยู่บนพื้นฐานสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลาย รัฐบาลวางรากฐานระบบลอจิสติกส์ไว้พร้อม ภาคเอกชนเตรียมพร้อมทักษะการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารในประเทศกลุ่ม AEC
ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า หากไทยไม่รู้จักที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขัน ในขณะที่การเมืองภายในประเทศยังระส่ำระสาย จะทำให้ไทยไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของอาเซียนภายหลังจากเปิด AEC ในปี 2558 แล้ว เพราะประเทศเพื่อบ้านจะมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงกว่า ขณะที่ไทยอาจจะเสียตำแหน่ง โดยจะเสียตำแหน่งศูนย์กลาง AEC ให้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียได้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สามารถแข่งขันได้หลังเปิด AEC โดยเฉพาะในเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศอาเซียน ข้อกฎหมาย รวมไปถึงต้นทุนการลงทุนแต่ละประเทศอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้หากยังยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาสที่ 2 และ 3 จะส่งผลกระทบให้เงินลงทุนจากต่างประเทศหายไปกว่า 3-4 แสนล้านบาท โดยจะทำให้กระทบ GDP ในทั้งปี 2557 จะขยายตัวต่ำกว่า 3% แต่ในกรณีเลวร้าย GDP จะใกลัเคียง 2% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในประเทศอาเซียน โดยเศรษฐกิจของพม่า ลาว และเวียดนาม จะขยายตัวได้ 7% ขณะที่อินโดนีเซีย จะขยายตัว 6% ทั้งนี้ หากไทยสามารถมีรัฐบาลใหม่ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ รัฐบาลจะตัองเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐเข้าสู่ระบบมากขึ้น และจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติให้กลับมาโดยเร็วที่สุด