xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานยันจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้อีก 2 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - กระทรวงพลังงาน ยันจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 800 เมกะวัตต์ ในภาคใต้ เพิ่มอีก 2 แห่งในอนาคตข้างหน้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า และเสถียรภาพด้านพลังงาน

วันนี้ (20 ธ.ค.) นายทนงศักดิ์ วงษ์ลา ผู้อำนวยการกลุ่มราคาไฟฟ้าและคุณภาพบริการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2556 ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 2,425 เมกะวัตต์ แต่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าแค่ 2,115 เมกะวัตต์ จึงต้องนำไฟฟ้าจากภาคกลางเข้ามาเสริมในบางส่วน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ในปี 2557 ภาคใต้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้า 2,563 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 2,898 เมกะวัตต์ ส่วนในปี 2558 ภาคใต้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้า 2,709 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 2,910 เมกะวัตต์ ในขณะที่ในปี 2567 ภาคใต้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้า 4,462 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 4,602 เมกะวัตต์ เฉลี่ยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 185 เมกะวัตต์ หรือปีละ 5%

ทั้งนี้ ประกอบกับสถานการณ์การเกิดไฟฟ้าดับในภาคใต้ครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.56 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องมีการพูดคุยกันถึงการจัดหาพลังงานมาเพิ่ม เพื่อเสริมความมั่นคง ซึ่งล่าสุด กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่ จ.กระบี่ โดยคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า รวมทั้งสำรวจความเป็นไปได้ในจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ เช่น จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี รวมทั้ง จ.ตรัง เพื่อผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 800 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ในปี 2565 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดเสถียรภาพด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้มากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้กระบวนการต่างๆ ยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือพูดคุยกัน

ทั้งนี้ การที่จะเลือกพื้นที่ใดในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องดูหลายๆ องค์ประกอบ เช่น มีสถานที่ตั้งอยู่ใกล้กับแนวสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือสะดวกในการขนส่งเชื้อเพลิงด้วยการใช้คมนาคมทางเรือ และมีพื้นที่กว้างขวางตั้งแต่ 300-500 ไร่ อีกทั้งตรงจุดนั้นยังอยู่ใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าปริมาณมากๆ โดยไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน พร้อมกับพยายามให้มีการเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินการอย่างโปร่งใส จึงขอให้ประชาชนชาวภาคใต้ รวมทั้งชาว จ.ตรัง เกิดความสบายใจได้ โดยจะมีการนำข้อเสนอแนะไปยังผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเข้ามาบริหารจัดการโรงไฟฟ้าอย่างแท้จริง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น