คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สถานการณ์ที่ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ นั่นคือ ลักษณะที่ยันกันไปยันกันมาระหว่างหน่วยรบ “อาร์เคเค” ซึ่งมีทั้งที่อยู่ภายใต้สังกัดของขบวนการบีอาร์เอ็น และที่ไม่ได้สังกัดขบวนการนี้ แต่มีจุดมุ่งหมายในการเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และอำนาจรัฐ ด้วยปฏิบัติการในการสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้น ด้วยวิธีการก่อวินาศกรรม วางเพลิง และซุ่มโจมตีในลักษณะของสงครามกองโจร
ในปี 2556 ที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงมีการ “เปลี่ยนผ่าน” จากการโจมตีเป้าหมายที่อ่อนแอ คือ ประชาชน ไปเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถือเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่ได้ผลของขบวนการ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างมี “อคติ” และ “ทัศนคติ” ที่ไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่เป็นทุนเดิม ดังนั้นความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ในความรู้ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ จึงรู้สึกเฉยๆ ในขณะที่บางกลุ่ม “สะใจ” กับความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ และของรัฐ
แม้ว่าในปี 2556 จะมีภาพในเชิง “บวก” เกิดขึ้นหลายภาพด้วยกัน เช่นใน 365 วันของรอบปีมีวันที่ไม่เกิดเหตุร้ายถึง 160 วัน ในรอบ 3 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปีไม่มีภาพการเกิดขึ้นของคาร์บอมบ์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการเปิด “พื้นที่พูดคุย” ของ สมช.ต่อขบวนการบีอาร์เอ็น หรือการเปิดพื้นที่ในเชิงรุกในมิติด้านการพัฒนา และความเป็นธรรมของ ศอ.บต. หรืออาจจะมาจาก “ยุทธการ” ที่เน้นในด้าน “รบ-รุก” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากยุทธศาสตร์ หรือยุทธวิธีการไหน แต่ก็ทำให้ในสถานการณ์ในด้าน “ลบ” พอจะมีด้านบวกเกิดให้ได้เห็น
แม้ว่าในเดือนสุดท้ายของปี 2556 จะมีสถานการณ์ของความรุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าหมู่ชาวพุทธ จำนวน 5 ศพที่ ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี การวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารที่ ต.ปล่องหอย อ.กระพ้อ จ.ปัตตานี การซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กรงปีนัง จ.ยะลา การวางระเบิดชุดทหารพรานที่ ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี การเสียชีวิตของประชาชนจากการถูกประกบยิง และซุ่มยิงอีกกว่า 10 ราย การก่อเหตุร้ายที่ถี่ขึ้นในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมทั้งการแขวนป้ายโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 100 จุด ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น
ถือเป็นเรื่อง “ปกติ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็น “วงรอบ” ของปฏิบัติการของอาร์เคเคที่ในเดือนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ จะต้องมีเหตุการณ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นทุกปี
เพียงแต่สถานการณ์ความรุนแรงของปีนี้อาจจะรุนแรงกว่าทุกปี เนื่องจากมีปัจจัยอื่น “แอบแฝง” อยู่ในเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ การฉวยโอกาส “ถอนแค้น” ทางการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ จากการที่เพิ่งจะผ่านการเลือกตั้ง อบต.ที่มีการ “เช็กบิล” เกิดขึ้น และที่สำคัญคือ “เงื่อนไข” ของการพูดคุยระหว่าง สมช.กับกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งมีบีอาร์เอ็นเป็นผู้เห็นต่างกลุ่มใหญ่ ที่กำลังใช้ท่าทีที่ “แข็งกร้าว” ด้วยการพร้อมที่จะ “ล้ม” การพูดคุย หากฝ่ายไทยไม่ยอมรับข้อเสนอ 5 ข้อที่บีอาร์เอ็นได้ เรียกร้องมาก่อนหน้านี้
ความ “เฉย” ของฝ่ายไทย รวมทั้งการเดินเกมนำเอาผู้เห็นต่างอย่างขบวนการพูโล และบีไอพีพี เข้ามาร่วมในเวทีพูดคุย เพื่อความได้เปรียบของฝ่ายไทย อาจจะทำให้บีอาร์เอ็นต้องกลับไปใช้วิธีการของความรุนแรงในการก่อเหตุร้าย เพื่อเป็นเงื่อนไขในการบีบบังคับทางอ้อมให้บีอาร์เอ็นมีความได้เปรียบในยุทธศาสตร์ “การเมือง” ซึ่งเป็นความเชี่ยวของบีอาร์เอ็นที่ฝ่ายไทยเสียเปรียบมาโดยตลอด
ดังนั้น เมื่อการขับเคลื่อนเวทีของการพูดคุยยังไม่เกิดขึ้น เพราะความไม่พร้อมของฝ่าย สมช.ที่ยังต้องโรมรันกับความวุ่นวายของการเมืองภายในประเทศที่รัฐนาวาของ “ยิ่งลักษณ์” ที่ยังรบประชิดติดพันกับม็อบของ “เทพเทือก” รวมทั้งความไม่พร้อมของผู้ประสานงานอย่างรัฐบาลมาเลเซีย และความไม่เป็นเอกภาพของบีอาร์เอ็น ที่ล่าสุดมีการตรวจสอบพบว่า “ฮาซัน ตอยิบ” และครอบครัว ได้ถูกนำตัวออกจากบ้านอย่างเงียบๆ ซึ่งย่อมเป็น “นัย” ที่สำคัญต่อแผนของการพูดคุยในครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะมี หรืออาจะล้ม หรือหยุดอย่างไม่มีกำหนด ต่างเป็นไปได้ทั้งสิ้น
งานหนักในการป้องกันการก่อเหตุร้าย เพื่อพิทักษ์ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประเทศชาติ และประชาชน จึงเป็นงานหนักของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ต้องมีการวางยุทธการที่ถูกต้อง ชัดเจน เพื่อ “กดดัน” ให้อาร์เคเคไม่สามารถปฏิบัติการได้ เนื่องจากงาน “การข่าว” ที่มีการรายงานค่อนข้างชัดเจนว่า ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ อาร์เคเคมีแผนการในการก่อวินาศกรรมในเขตเทศบาลต่างๆ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาสเป็นเป้าหมายหลัก รวมทั้งการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการซุ่มยิง และการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง
เมื่องานการข่าวค่อนข้างชัดเจน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงต้องเปิด “เกมรุก” แทนการ “ตั้งรับ” เพราะการเปิดเกมรุกคือ ความได้เปรียบทางด้านยุทธการ มากกว่าการตั้งรับที่มีการโอกาสสูญเสียมากกว่า โดยเฉพาะที่ผ่านมาจะมีการวิเคราะห์อย่างรอบด้านจะพบว่า ความสูญเสียครั้งใหญ่ๆ หลายต่อหลายครั้งล้วนเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ แต่ไม่ได้ป้องกัน
อย่างเช่นการสูญเสียคนไทยพุทธ 5 คนที่ ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี สาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ทหารเข้าทำการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องหาที่มีหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง อาร์เคเคจึงตอบโต้ด้วยการฆ่าหมู่คนไทยพุทธเป็นการแก้แค้น
ถ้าหลังจากที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหา และผู้ต้องสงสัยแล้วมีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่หน่วยข้างเคียงหน่วยอื่นๆ ได้รับทราบ เพื่อเตรียมการป้องกันการ “เอาคืน” ต่อเหยื่อที่เป็นประชาชน รวมทั้งการประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ และให้ระวังป้องกันตนเอง ความสูญเสียอาจจะไม่เกิดขึ้น
แต่นี่เพราะแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ไม่มีการประสานงาน ไม่มีแผนในการป้องกันการเอาคืนของฝ่ายตรงข้าม จึงทำให้เกิดความสูญเสีย โดยเป้าหมายที่กลายเป็นเหยื่อคือ ประชาชนผู้เป็นเป้าหมาย “อ่อนแอ” ซึ่งหมายความว่าบีอาร์เอ็นไม่ได้ทำตามคำขอของ สมช.ที่ขอให้เลิกปฏิบัติการต่อเป้าหมายอ่อนแอที่เป็นประชาชน
เช่นเดียวกับการสูญเสีย 5 เจ้าหน้าที่ทหาร และบาดเจ็บอีก 10 นายที่ ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี เกิดจากความ “ประมาท” เพราะในช่วงเวลาที่มีการสับเปลี่ยนกำลังพลเพื่อให้กำลังพลได้พักนั้น อาร์เคเคได้ปฏิบัติการซุ่มโจมตี และวางกับดักด้วยระเบิดแสวงเครื่องสร้างความสูญเสียให้แก่เจ้าหน้าที่ทหารมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
แต่ก็ยังมีหน่วยทหารหลายหน่วยที่ยังประมาท ไม่มีแผนป้องกันกองกำลังในขณะที่ออกจากฐานปฏิบัติการเพื่อกลับไปพัก ซึ่งในการเคลื่อนย้ายกำลังพล หากมีความ “รอบคอบ” และมีการปฏิบัติตามแผน โอกาสที่จะป้องกันมิให้เกิดความสูญเสียสามารถทำได้อย่างแน่นอน
สรุปสุดท้าย สถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังดำรงอยู่ในขณะนี้ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นสิ่งที่ “ป้องกัน” และสามารถลดความสูญเสียให้น้อยลงได้ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการปฏิบัติตามแผนยุทธการ มีความรอบคอบ ไม่ประมาท เปิดเกมรุกอย่างต่อเนื่องเพื่อชิงความได้เปรียบ
จึงหวังว่าในห้วงแห่งการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คงจะได้ฉลองปีใหม่เหมือนกับผู้คนในภูมิภาคอื่นๆ บ้าง ความหวังนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่จึงอยู่ที่ “ฝีมือ”ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นั่นเอง.