คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
แม้ว่าจะผ่านพ้นเดือนรอมฎอนไปแล้ว แต่สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ ยังมีการก่อวินาศกรรมด้วยระเบิดแสวงเครื่อง การซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ และพลเรือน ซึ่งเป็นเป้าหมายอ่อนแอ และที่น่าวิตกกังวลคือ การทำร้าย หรือฆ่าผู้นำศาสนา แล้วป้ายสีว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งนำไปเป็นเงื่อนไขในการทำร้ายครู และพระภิกษุสงฆ์ โดยอ้างว่าเป็นการแก้แค้นให้แก่ผู้เสียชีวิต
เช่นเดียวกับการเสียชีวิตของอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี นายยะโก๊บ หร่ายมณี ซึ่งเป็นการกระทำของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างชัดเจน เพราะมีทั้งหลักฐาน และภาพจากกล้องวงจรปิดยืนยัน
แต่หลังเกิดเหตุ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็อาศัยความได้เปรียบในด้านทัศนะความเชื่อของประชาชน ที่มองเจ้าหน้าที่รัฐด้วยความหวาดระแวง ตลอดทั้งมีความเชื่อโดยไม่ต้องมีเหตุผลรองรับ ทำการโฆษณาชวนเชื่อ ผ่านบุคคล และสื่อสังคมออนไลน์ จนทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเชื่อว่าการเสียชีวิตของอิหม่ามยะโก๊บ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และมองว่าการแถลงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาก “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เป็นการแก้ตัว
นี่คือความได้เปรียบในงานโฆษณาชวนเชื่อที่ตลอดหลายสิบปีของสงครามแบ่งแยกดินแดน ประชาชน หรือมวลชนในพื้นที่ยังเชื่อในคำกล่าวหา และการป้ายสีของขบวนการอยู่ และถือเป็น “งานยาก” ของกองทัพ หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการที่จะสื่อสารสร้างความเข้าใจ เพราะในใจของประชาชนส่วนใหญ่มีความไม่เชื่อถือ และมีอคติเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว
ดังนั้นวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปขบคิดว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อในถ้อยแถลงที่มีต่อสถานการณ์ และต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องให้หน่วยงานอื่นๆ ของฝ่ายพลเรือนที่ประชาชนเชื่อถือ ทำหน้าที่แถลงข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้แก่ประชาชนได้รับทราบ
ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด ความตายของเจ้าหน้าที่ และของประชาชน รวมถึงของแนวร่วมที่เกิดจากการวิสามัญของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการทำลายบรรยากาศของการ “พูดคุยสันติภาพ” ระหว่างตัวแทนรัฐไทยที่นำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต โดยมีตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน
เนื่องจากมีปัญหามาตั้งแต่หลังย่างเข้าเดือนรอมฎอนเพียง 10 วัน เพราะเกิดความรุนแรงแบบไม่เป็นไปตามข้อตกลงยุติความรุนแรงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะบีอาร์เอ็นยืนยันจะไม่ทำร้ายเป้าหมายที่อ่อนแอ แต่ 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า บีอาร์เอ็นไม่สามารถที่จะหยุดความรุนแรงในพื้นที่ได้ เพราะยังมีกลุ่มแนวร่วมที่เห็นต่าง และยังใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุในสิ่งที่ต้องการ
ในขณะที่หลายหน่วยงานต่างนำเอาสถิติของการเกิดเหตุในช่วงเดือนรอมฎอนของปีที่ก่อนๆ มาใช้เปรียบเทียบว่า ในเดือนรอมฎอนปีนี้ การก่อเหตุลดลง แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้น รวมทั้งเป้าหมายอ่อนแอคือ ประชาชนเสียชีวิตน้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงคือ เดือนรอมฎอนของปีนี้เหตุเกิดน้อยกว่าจริง แต่มีความสูญเสียมากกว่า เพราะเราต้องสูญเสียครูที่ตาย และบาดเจ็บ สูญเสียผู้นำศาสนาคนสำคัญ สูญเสียฐานเศรษฐกิจที่ถูกระเบิด ถูกเผาทำลาย เช่น โรงานยางพารา โรงงานไม้ยาง โชว์รูมรถ โรงบรรจุแก๊ส การป่วนย่านการค้าที่เป็นของชาวไทยพุทธ เป็นต้น
สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การก่อการร้ายในชายแดนใต้ ยังคงมีความรุนแรงไม่เปลี่ยนแปลง
และนับจากนี้ความรุนแรงยังจะคงต่อเนื่องไป โดยเฉพาะในช่วง 10 วันหลังพ้นเดือนรอมฎอน ซึ่งมีการข่าวยืนยันว่า แนวร่วมกำหนดแผนก่อเหตุไว้แล้ว เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงศักยภาพ และให้รัฐ และบีอาร์เอ็นเห็นว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางพูดคุยสันติภาพ ดังนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงต้องมีแผนพิทักษ์ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนให้ชัดเจน และต้องเปิด “เกมรุก” เพื่อ “กดดัน” อย่าให้แนวร่วมเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี
วันนี้รัฐบาลไทยต้องยอมรับความจริงว่า เวทีการพูดคุยสันติภาพระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กับนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เต็มไปด้วย “ขวากหนาม” ที่ยากจะเดินไปได้อย่างสะดวกอีกต่อไปแล้ว
นอกจากนี้ การข่าวยังระบุด้วยว่า มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นจากนายฮัสซันเป็นบุคคลอื่นๆ แถมยังมีแรงกดดันจากบีอาร์เอ็นให้รัฐไทยตอบสนองข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เคยยื่นไว้ หากรัฐไม่ทำตามก็จะยุติการพูดคุยอย่างไม่มีกำหนด ทั้งหมดล้วนเป็น “เงื่อนตาย” ที่กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเดินหน้าแสวงหาแสงสว่างจากการพูดคุยสันติภาพทั้งสิ้น
แน่นอนว่าการแก้ปัญหาไฟใต้นั้น “การพูดคุย” หรือ “การเจรจา” กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนถือเป็นนโยบายที่ดีที่สุด และหลายประเทศในโลกกลมๆ ใบนี้ที่เคยได้สันติภาพกลับคืน ได้ความสงบสุขกลับสู่ประชาชนก็ด้วยวิธีการเดียวกัน แต่หนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าวได้จำเป็นต้องมี “เอกภาพ” ทั้งในฝ่ายของผู้กุมอำนาจรัฐ และของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
แต่สำหรับไฟใต้ในแผ่นดินปลายด้ามขวนนั้น รัฐบาลไทยยังไม่มีเอกภาพในการใช้นโยบายพูดคุยสันติภาพ เพราะกองทัพยังมีท่าที่เมินเฉย ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายค้านก็ไม่เห็นด้วย และที่สำคัญ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่แสดงการสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะคนที่อยู่นอกพื้นที่ชายแดนใต้ยังไม่ตกผลึกในเรื่องนี้
ขณะที่บีอาร์เอ็นที่เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนใหญ่ที่สุด เวลานี้ก็ไม่มีเอกภาพภายในองค์กร เพราะยังมีกลุ่มผู้เห็นต่างที่ประกาศตัวไม่ยอมรับชัดเจน ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ที่กำหนดบทบาทให้บีอาร์เอ็นเดินคือ รัฐบาลมาเลเซีย หาใช่เกิดจากความยินยอมอย่างเป็นเอกฉันท์ของกลุ่มแกนนำบีอาร์เอ็นไม่
เมื่อเป็นเช่นนี้ “เวทีพูดคุยสันติภาพ” ที่เกิดขึ้น จึงเป็นอะไรที่ “เปราะบาง” และพร้อมที่จะ “พังพาบ” ลงมาได้ทุกเมื่อ เพราะอย่างน้อยก็เกิดขึ้นความวุ่นวายให้เห็นกันแล้ว
ดังนั้น สิ่งที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, ศชต., ศอ.บต. และ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานในภูมิภาคของรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตาม “ยุทธศาสตร์” เดียวกัน อย่าได้ฝากความหวังไว้ที่เวทีการพูดคุยสันติภาพเพียงอย่างเดียว เพราะจากเงื่อนปมปัญหา และอุปสรรคดังกล่าวยังต้อใช้เวลาที่ยาวนาน ซึ่งอาจจะนานกว่า 10 ปีก็เป็นได้
การวาดหวังที่จะให้ “เวทีการพูดคุยสันติภาพ” เป็นเหมือนน้ำไปราดรดดับไฟใต้ จึงอาจจะเป็นการรอที่สูญเปล่าอย่างสิ้นเชิง.