xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเครือข่ายภาคประชาชน “ตบหน้ารัฐบาล” หน่วยงานดับไฟใต้จะหาทางออกอย่างไร?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 
ความเคลื่อนไหวของ 4 เครือข่ายภาคประชาชนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) โดยตัวแทนของภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือให้แก่ “กงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา” ผ่านไปยัง “นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย” เพื่อให้ตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของพลเรือน และผู้นำศาสนาที่เกิดขึ้นระหว่างมีการ “พูดคุยสันติภาพ” ระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ย่อมเป็นภาพในด้านลบทั้งต่อรัฐบาลและกองทัพ
 
รวมทั้งหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทั้งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งฝ่ายปกครองใน 4 จังหวัด และไม่เว้นแม้กระทั่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
 
เนื่องเพราะการออกมาขับเคลื่อนของเครือข่ายภาคประชาชนในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความรุนแรงที่มีการวางเพลิง วางระเบิด และโจมตีเจ้าหน้าที่ วันละ 10 กว่าเหตุการณ์ และก่อนหน้านี้มีพลเรือน รวมทั้งผู้นำศาสนาต่างสังเวยชีวิตไปแล้วจำนวนหนึ่ง
 
การเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชน ทางหนึ่งดูเหมือนจะ “ซ้ำเติม” สถานการณ์ที่แรงอยู่แล้ว ให้แรงขึ้นไปอีก และอีกทางหนึ่งดูเหมือนว่าเป็นการ “ประจาน” หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งรัฐบาล ให้รับรู้ว่ายังไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในพื้นที่ได้ รวมทั้งเป็นการ “บังคับ” ให้หน่วยงานต่างๆ ปรับนโยบายให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และความต้องการของคนในพื้นที่
 
เพราะเครือข่ายภาคประชาชนเองก็ทราบดีว่า การเดินทางไปยื่นหนังสือต่อกงสุลใหญ่ประเทศมาเลเซีย ประจำจังหวัดสงขลา ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียนั้น มาเลเซียเองย่อมที่จะ “อึดอัด” และไม่สนองตอบต่อความต้องการของเครือข่ายภาคประชาชนอย่างแน่นอน
 
ในขณะเดียวกัน แม้มาเลเซียต้องการทำหน้าที่ตรวจสอบตามที่เครือข่ายภาคประชาชนต้องการ แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ยินยอม เพราะวันนี้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในความคิดของรัฐบาล และกองทัพ ยังเป็นปัญหาภายในของประเทศที่รัฐบาล และกองทัพต้องแก้ไขเอง โดยไม่ให้ประเทศที่สาม รวมทั้งองค์กรต่างๆ ที่อยู่นอกประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง
 
หน่วยงานความมั่นคงเองจึงต่างตั้งข้อสังเกตว่า การขับเคลื่อนของเครือข่ายภาคประชาชนในครั้งนี้ เป็นเรื่องของการ “ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน” มากกว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
 
แต่โดยข้อเท็จจริง การเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะมีเจตนาอย่างไรก็ตาม ก็ควรแก่การเห็นใจ เพราะตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนและผู้นำศาสนา รวมทั้งครูตาดีกาถูกฆ่า ในทางสืบสวนสอบสวนมักจะหาสาเหตุที่แท้จริงไม่พบ และหลายต่อหลายครั้งที่ ตำรวจ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนว่าเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์
 
ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต่างเชื่อว่า ผู้ตายถูกกระทำให้ตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ความเชื่อที่ต่างกันคือ “ความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้น และกลายเป็น “ความเจ็บปวด” ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่านี่คือ “ความอยุติธรรม” ที่เขาได้รับจากหน่วยงานของรัฐ
 
9 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายผู้นำศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นพระภิกษุมรณภาพเพราะการกระทำของแนวร่วมขบวนการบ่งแยกดินแดน 8 รูป และบาดเจ็บอีกกว่า 10 รูป ในขณะที่ผู้นำศาสนามุสลิม ถูกกระทำให้เสียชีวิต 48 ราย และในจำนวนนี้มีหลักฐานว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่เกิน 8 ราย ส่วนที่เหลือไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการถูกกระทำให้เสียชีวิตของผู้นำศาสนา ครูตาดีกา ก็ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา
 
เหล่านี้คือความเจ็บปวด ความคับแค้น ที่ถูกตอกย้ำเหมือนกับการใช้ “ค้อน” ย้ำ “หัวตะปู” ที่เกิดขึ้นแก่สังคมคนส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมในพื้นที่
 
โดยข้อเท็จจริง “จำเลย” ในเรื่องที่เกิดขึ้นคือ “ตำรวจ” เพราะตำรวจเป็นพนักงานสอบสวน เป็นผู้ทำคดีที่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าตำรวจสรุปสำนวนว่าการตายของคนเหล่านั้นมาจากเรื่องส่วนตัว ตำรวจต้องหาพยาน หลักฐานมาแสดงให้ญาติพี่น้องของคนตาย รวมทั้งสังคมในพื้นที่เชื่อ และสุดท้ายของการทำสำนวนคือ ต้องมีการออกหมายจับผู้กระทำความผิด แม้ว่าในการจับกุมอาจจะจับไม่ได้ เพราะคนร้ายหลบหนี
 
แต่ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ตำรวจเพียงสรุปว่า เสียชีวิตจากเรื่องส่วนตัว หรือจากสถานการณ์ความมั่นคง แต่ไม่รู้ว่าเรื่องส่วนตัวมาจากสาเหตุอะไร และใครเป็นผู้ก่อเหตุ สิ่งเหล่านี้คือการ “คาใจ” ของผู้คนในพื้นที่
 
ในหลายกรณีที่มีการรับรู้กันในสังคมวงกว้างโดยพฤตินัยว่า การเสียชีวิตของคนเหล่านั้นเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ การสืบสวนสอบสวนของตำรวจทำไปได้แบบครึ่งๆ กลางๆ และยุติการสืบสวนสอบสวนไปแบบดื้อๆ และหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ผู้ต้องสงสัยกลายเป็น “อดีตเจ้าหน้าที่” เพราะได้ลาออกจากราชการไปแล้ว และมาก่อเหตุเพราะความแค้นส่วนตัว
 
ดังนั้น หน่วยงานแรกๆ ที่จะต้องมีการปรับนโยบายใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนคือ ตำรวจ เพราะเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ถ้าต้นทางดี เมื่อถึงปลายทางทุกอย่างต้องเรียบร้อย แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวตั้งแต่ต้นทาง ภาพที่ปลายทางต้องอัปลักษณ์อย่างแน่นอน
 
สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้ เกิดขบวนการที่เห็นต่าง และไม่ต้องการให้มีการยุติความรุนแรงเกิดขึ้น มีกลุ่มที่เห็นต่างจาก “กลุ่มบีอาร์เอ็น โคออดิเนต” อย่างน้อย 3 กลุ่มในพื้นที่ โดยเฉพาะแนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ ที่ไปอยู่กับ “กลุ่มมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี” ซึ่งเป็นกลุ่มที่พัวพันกับยาเสพติด และรับจ้างในการก่อเหตุร้าย “กลุ่มมือระเบิด” รุ่นใหม่ที่เพิ่งจะถูกชักจูงเข้ามาร่วมขบวนการ และพร้อมที่จะก่อเหตุเพื่อประโยชน์ที่ต้องการ และเพื่อให้เกิดความรุนแรงเพื่อโหมไฟใต้ให้โชนแสงมากกว่าเดิม
 
พวกเขาอาจจะมีการก่อเหตุร้ายเพื่อป้ายสี หรือโยนความผิดให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการผสานกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ เช่น การแขวนป้ายผ้า พ่นสีบนถนน โจมตีผู้นำหน่วยงานของรัฐ ขับไล่กองกำลังทหาร และอื่นๆ ที่เกิดขึ้น
 
ถ้ากระบวนยุติธรรมเบื้องต้น ซึ่งเริ่มที่ “ตำรวจ” ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน บวกกับ “ความซับซ้อน” ของปัญหาไฟใต้ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จากกลุ่มต่างๆ ยิ่งจะทำให้การแก้ปัญหายุ่งยาก และไร้ทางออกมากยิ่งขึ้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น