xs
xsm
sm
md
lg

รัฐไทยจะเดินเกมอย่างไรจึงไม่ติด “กับดัก” ของบีอาร์เอ็น-ซี / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไปใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
คงต้องยอมรับความจริงเรื่องหนึ่งของการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า นับแต่นี้ต่อไปการแก้ปัญหาจะต้องอยู่ท่ามกลางการ “พูดคุย” และ “การสู้รบ” เพราะนี่คือทางออกสุดท้ายที่สถานการณ์บีบบังคับให้จำเป็นต้องเดิน และจำเป็นที่จะต้องทำ ไม่ว่าอยากจะทำหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะมีใครเห็นด้วย หรือเห็นต่าง ก็ปฏิเสธไม่ได้
 
เพราะเวทีแห่งการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับ “ขบวนการบีอาร์เอ็น-ซี” ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา เป็นเวทีแห่งการยกระดับของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ “สาธารณะ” ให้เห็นถึงกลุ่มขบวนการผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจน
 
ชัดเจนว่า เสียงปืน เสียงระเบิด การปะทุของเปลวเพลิง การตายรายวัน ทั้งของเจ้าหน้าที่รัฐและของประชาชนเป็นการกระทำของกลุ่มผู้จับอาวุธ ไม่ว่าจะเป็น “นักรบปัตตานี” “ฮาลีเมา” หรือกลุ่มไหนต่อกลุ่มไหน แต่โดยรวมคือมีบีอาร์เอ็น-ซี เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด และเป็นกลุ่มที่ออกรับว่าเป็น “ผู้นำ” วันนี้จึงไม่มี “อีแอบ” หรือ “ไอ้โม่ง” ในสถานการณ์ความไม่สงบอีกต่อไป เพราะบีอาร์เอ็น-ซี ยอมรับกับสังคมโลกแล้วว่า เขาคือคนทำ
 
ดังนั้น ไม่ว่าข้อเสนอ 5 ข้อของนายฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนบีอาร์เอ็น-ซี ที่เสนอผ่าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตัวแทนของรัฐไทย จะเป็นข้อเสนอที่ “ไม่ปลื้ม” และ “ขมขื่น” สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ แต่เวทีการ “พูดคุยเพื่อสันติภาพ” หรืออาจจะเป็นเวที “สงครามประชาชนในอนาคต” ก็ต้องดำเนินต่อไป
 
เนื่องเพราะหากไม่ดำเนินต่อไปจะเป็นผลร้ายต่อทั้งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกำลังจะตกเป็น “ตัวประกัน” กับกรณีการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพ นอกจากนั้นหากรัฐไทยล้มเลิกการพูดคุยกลางคัน ยิ่งจะเป็นการกลายเป็น “จำเลย” ในสายตาของประเทศที่สาม โดยเฉพาะกับ “โอไอซี” และ “ยูเอ็น” ถึงความไม่จริงใจของรัฐไทยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ตัวแทนของรัฐไทยต้องเดินทางไปพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นครั้งที่ 4 กับตัวแทนของบีอาร์เอ็น-ซี ที่มีตัวแทนของประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกอีกครั้ง และครั้งนี้ตัวแทนของรัฐไทยจะต้องตอบคำถามของบีอาร์เอ็น-ซี ถึงข้อเสนอทั้ง 5 ข้อที่ได้นำเสนอให้รัฐไทยยอมรับและทำตามข้อเรียกร้องเหล่านั้น ซึ่งคงจะเป็นเรื่องที่ “หนักใจ” สำหรับตัวแทนของรัฐไทยไม่น้อย
 
เพราะข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น-ซี ตั้งแต่ข้อที่ 1 คือ ให้ประเทศมาเลเซียเลื่อนตำแหน่งจากผู้อำนวยความสะดวกมาเป็น “คนกลาง” ในการพูดคุย ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ของฝ่ายความมั่นคง เพราะคำว่า คนกลาง หมายถึงมีหน้าที่ไกล่เกลี่ย ออกความเห็น และสามารถเสนอแนวทาง ซึ่งสามารถเอนเอียงให้คุณให้โทษกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้
 
ในขณะที่ข้อที่ 2 คือ ขอให้ประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน เอ็นจีโอ และโอไอซี เข้าร่วมวงการพูดคุยสันติภาพในฐานะผู้สังเกตการณ์และสักขีพยาน
 
ทั้งข้อ 1 และข้อ 2 ในสายตาของฝ่ายความมั่นคงของกองทัพ และของกลุ่มผู้มีความเห็นต่างที่คัดค้านการพูดคุยมาโดยตลอดจะต้องคัดค้าน เนื่องจากเป็นเงื่อนไขการยกสถานะของขบวนการบีอาร์เอ็น-ซี ไปสู่ “สากล” กลายเป็น “องค์กร” ที่มีการยอมรับถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐไทยไม่ยินยอม เพราะรัฐไทยปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่อง “ภายใน” ของประเทศไทย
 
ส่วนข้อเรียกร้องข้อที่ 4 ของบีอาร์เอ็น-ซี คือต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาอย่างไม่มีเงื่อนไข และต้องระงับหมายจับผู้ต้องสงสัย ซึ่งในข้อเรียกร้องการระงับหมายจับผู้ต้องสงสัยอาจจะมีการสนองตอบได้ เพราะเป็นเพียง “ผู้ต้องสงสัย” ยังไม่ใช่ผู้กระทำความผิด
 
แต่ในส่วนของผู้ที่มีหลักฐานการทำความผิด และมีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว จะปล่อยตัวอย่างไร ในเมื่อรัฐไทยเป็น “นิติรัฐ” และ”การดำเนินการเป็นไปตาม “นิติธรรม” ซึ่งหากต้องทำตามข้อเรียกร้องนี้ นั่นหมายถึงการออกกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ซึ่งอาจจะทำได้ หากบีอาร์เอ็น-ซี สามารถสั่งให้กองกำลังในพื้นที่ “วางอาวุธ” ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างสิ้นเชิง
 
ข้อสุดท้าย ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง และควรจะเป็นข้อที่ 1 ด้วยซ้ำ นั่นคือ รัฐไทยต้องยอมรับสถานะของกลุ่มบีอาร์เอ็น-ซี ว่าเป็นผู้ปลอดปล่อยรัฐปัตตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งหมายความว่า 3 จังหวัดกับ 4 อำเภอของปลายด้ามขวานเป็นประเทศ หรือ “รัฐปัตตานี” ที่ถูก “สยาม” ยึดครอง และบีอาร์เอ็น-ซี คือผู้เข้ามาปลดปล่อย หรือ “เอาคืน”
 
ซึ่งหากรัฐไทยยอมรับในข้อเรียกร้องนี้ แสดงว่ายอมรับทั้งในสถานะของดินแดน และสถานะของบีอาร์เอ็น-ซี ซึ่งแน่นอนว่าข้อนี้เป็น “โจทย์ยาก” สำหรับรัฐไทย
 
นั้นคือข้อเสนอของนายฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนของบีอาร์เอ็น-ซี ที่มีต่อ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ตัวแทนของรัฐไทย ซึ่งในวันที่ 13 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ตัวแทนของรัฐไทยจะต้องมีคำตอบว่า อะไรบ้างที่ให้ได้ และอะไรบ้างที่ให้ไม่ได้ตามข้อเสนอ
 
แต่ในส่วนของข้อเรียกร้องของรัฐไทยที่ผ่านทาง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เช่น ขอให้กองกำลังติดอาวุธในพื้นที่หยุดการทำร้าย “เป้าหมายอ่อนแอ” ที่เป็นพลเรือน และหยุดการใช้ “คาร์บอมบ์” ในพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งสุดท้ายบีอาร์เอ็น-ซี ก็ยังทำไม่ได้ เพราะจนถึงวันนี้เป้าหมายที่เป็น “พลเรือน” ยังเสียชีวิต และ “ระเบิด” ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะการฆ่า 6 ศพที่ ต.รูสะมิแร อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นการกระทำของนักรบปัตตานี
 
หลังเกิดเหตุนายฮาซัน ตอยิบ ตอบตัวแทนความมั่นคงของรัฐไทยว่า ไม่ใช่การกระทำของบีอาร์เอ็น-ซี แต่เป็นการกระทำของ “กองกำลังอีกกลุ่มหนึ่ง” ที่อยู่เหนือการควบคุมของบีอาร์เอ็-ซี แสดงให้เห็นว่าวันนี้บีอาร์เอ็น-ซี ยังไม่มี “เอกภาพ” ในการ “สั่งการ” กำลังติดอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริง
 
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ในเมื่อโจทย์ของการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกสถานการณ์ บีบให้ต้องพูดคุย หรือเจรจากันไป และสู้รบกันไปด้วยโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นทีมพูดคุย ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐไทย จำเป็นที่จะต้องมีการทำ “การบ้าน” ที่ชัดเจน รวมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งที่ต้องไปปฏิบัติ มีผู้ที่มีประสบการณ์ในการเจรจาพูดคุย
 
เพราะเวทีสันติภาพแห่งนี้กำลังก้าวเข้าสู้ “โหมด” ของการ “ต่อรอง” ซึ่งกลุ่มผู้แทนจะต้องมี “ข้อมูล” และ “ชั้นเชิง” ของการเจรจา และต้องมี “อำนาจ” พอสมควรในเวทีแห่งการพูดคุยหรือการเจราจา ไม่ใช่อยู่ในสถานะของ “ผู้รับฟัง” และ “นำสาสน์” มาให้กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว อย่างที่มีผู้ออกมาวิพากษ์ถึงบทบาทของตัวแทนรัฐไทยบนเวทีของการพูดคุยสันติภาพทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา
 
แน่นอนว่าวันนี้รัฐไทยยังไม่ได้เสียเปรียบ หรือเพลี่ยงพล้ำต่อบีอาร์เอ็น-ซี แต่อย่างใด เพราะข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น-ซี เรายังไม่ได้ตอบตกลงแม้แต่ข้อเดียว แต่การพูดคุยในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 และหลังจากนั้นสภาพการณ์จะเปลี่ยนไปจากเวที “พูดคุย” จะเป็นการ “เจรจา” และจะมี “ความต้องการ” ซึ่งจะนำมาซึ่ง “การต่อรอง” มากยิ่งขึ้น
 
ดังนั้น “บทบาท” ของผู้แทนรัฐไทยจะต้องรับบทหนักที่จะนำพาเวทีการพูดคุยเพื่อสันติภาพเดินต่อไป เพราะการล้มเวทีแห่งนี้จะส่งผลถึง “ตัวประกัน” คือประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กลายเป็นผู้ “รับเคราะห์” อย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น