คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
การเปิดพื้นที่ “พูดคุยเพื่อสันติภาพ” ระหว่างตัวแทนรัฐไทย ซึ่งมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นแม่งาน กับขบวนการปลอดปล่อยปัตตานี หรือบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ที่มี นายฮาซัน ตอยิบ เป็นตัวแทน ถือเป็นความหวังหนึ่งในการยุติความรุนแรง ความไม่สงบ หรือการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายการเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นฯ สังคมต่างให้ความเชื่อมั่น และฝากความหวังว่า วิธีการนี้ จะทำให้ “สงครามระลอกใหม่” ที่กินเวลายาวนานถึง 9 ปี และย่างเข้าปีที่ 10 คงจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
แต่เมื่อทุกฝ่ายเห็นข้อเสนอ หรือการเรียกร้องของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ทั้ง 5 ข้อ ซึ่งมีการนำเสนอผ่านเว็บไซต์ “ยูทิวบ์” ก่อนที่จะมีการพบปะพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ความหวัง และความเชื่อมั่นต่อเวทีการพูดคุยสันติภาพน่าจะเป็นเรื่องที่ “ไม่สมหวัง” กันอีกต่อไป
ในส่วนของหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะ “กองทัพ” ซึ่งไม่เชื่อมั่นเรื่องเวทีการพูดคุยสันติภาพระหว่าง สมช. กับบีอาร์เอ็นฯ ที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานในครั้งนี้ ถือว่า “แทงหวยถูก” เพราะข้อเสนอทั้ง 5 ข้อเป็นเรื่องเก่าๆ ที่ตัวแทนของกองทัพ ซึ่งมีหน้าที่พูดคุยกับตัวแทนของขบวนการพูโล และบีอาร์เอ็นฯ แบบไม่เป็นทางการ หรือแบบ “ใต้ดิน” มากว่า 10 ปี ต่างล้วนได้รับข้อเรียกร้องดังกล่าวมาแล้ว และเป็นข้อเรียกร้องที่รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะกองทัพรับไม่ได้
สำหรับข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นฯ ที่เป็นเหมือนการ “โยนหินถามทาง” เพราะเสนอผ่านยูทิวบ์ก่อนวันพูดคุยก่อนถึง 5 วันด้วยกัน และนำขึ้นโต๊ะการพูดคุยระหว่าง 2 ฝ่ายเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมาด้วยนั้น มีประเด็นสำคัญๆ ที่ต้องพิจารณาได้แก่
ประเด็นแรก ให้ยกเลิกหมายจับ และปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมด ซึ่งคงจะเป็นเรื่องที่รัฐไทยทำได้ยากมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็น “นิติรัฐ” และ “นิติธรรม” ของรัฐไทยโดยตรง และผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาทั้งหมด แม้ว่าจะมีบางส่วนที่เป็น “แพะ” หรือถูก “เหมาเข่ง” ตามขบวนการกล่าวหาผ่าน ป.วิอาญา แต่ไม่ได้หมายความว่า ทั้งหมดจะเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ หรือไม่มีความผิด
ประเด็นที่สอง ให้รัฐบาลมาเลเซียเปลี่ยนสถานะจากผู้ประสานงานไปเป็น “คนกลาง” ในการพูดคุย หรือเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย” ข้อเสนอนี้รัฐไทยต้องคิดหนัก และคิดให้มาก เพราะการมี “คนกลาง” เพื่อ “ไกล่เกลี่ย” ย่อมไม่ใช่การ “พูดคุย” แต่เป็นการยกระดับของการ “เจรจา” ซึ่งเป็นการยกระดับของปัญหา ยกระดับขององค์กร เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และองค์การสหประชาชาติ (UN) เข้ามาแทรกแซง หรือเป็นส่วนหนึ่งของผู้เข้ามาร่วมแก้ปัญหา ซึ่งวันนี้น่าจะยังไม่ถึงเวลาของการเจรจาเพื่อการยกระดับของปัญหา และขององค์กร
ที่สำคัญคือ รัฐบาลมาเลเซียมีความ “เป็นกลาง” และ “จริงใจ” แค่ไหนกับการเป็น “คนกลาง” และเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย” เพราะที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐไทยเรียกร้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลมาเลเซียมาตลอดกว่า 20 ปีเพียง 3 ข้อคือ
1.ให้รัฐบาลมาเลเซียร่วมลงนามยอมรับว่า ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ เช่นเดียวกับที่มาเลเซียเคยให้รัฐบาลไทยลงนามเพื่อแก้ปัญหาขบวนการคอมมิวนิสต์มลายา หรือ “โจรจีน” ที่เป็นปัญหาความมั่นคงของมาเลเซีย
2.ขอให้มาเลเซียอย่าให้ที่พักพิงแก่ขบวนการผู้ก่อการร้ายทั้งหมดที่ปฏิบัติการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหลบหนีไปหลบซ่อนในหลายรัฐของมาเลเซีย และ
3.ขอให้ส่งผู้ต้องหาตามหมายจับของทางการไทย เพื่อนำมาดำเนินคดีในประเทศไทย
แต่ทั้ง 3 ข้อที่เป็นเรื่องหลัก และมีการพูดคุยทั้ง “บนดิน”และ “ใต้ดิน” กันมานาน ไม่เคยได้รับการสนองตอบจากรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อเป็นอย่างนี้รัฐไทยจะเชื่อมั่นในการให้มาเลเซียเป็นคนกลาง และผู้ไกล่เกลี่ยได้อีกละหรือ
ประเด็นที่สาม ให้ผู้แทนชาติอาเซียน และโอไอซี รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ร่วมเป็นสักขีพยานในการเจรจา วิธีการเช่นนี้ล้วนเป็นการ “ยกระดับ” ของปัญหา และยกระดับขององค์กรฝ่ายของบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งหากเกิดการพลาดพลั้งขึ้นจากการเจรจา รัฐไทยยิ่งจะเสียเปรียบ เพราะการ “แพ้ทางการทหาร” ในพื้นที่หนึ่ง ยังสามารถที่จะปรับยุทธวิธีเพื่อเอาชนะในอีกพื้นที่หนึ่งได้ แต่ถ้าเกิด “แพ้ทางการเมือง” หมายถึงการแพ้ทั้งกระดาน ดังนั้น ข้อเสนอแบบนี้รัฐไทยต้องพยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด
และประเด็นสุดท้าย ให้รัฐไทยยอมรับว่าบีอาร์เอ็นฯ ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน และเป็นผู้ปลดปล่อยรัฐปัตตานี ประเด็นนี้อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เป็นประเด็นของความรู้สึกของคนร่วมชาติที่จะถามว่า ทำไมต้องปลดปล่อยรัฐปัตตานี ใครไป “กักขัง” หรือ “ล่ามโซ่” เอาไว้อย่างนั้นหรือ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ประเด็นนี้ไม่ใช่สาเหตุสำคัญ เพราะหากบีอาร์เอ็นฯ สามารถสั่งการให้ “นักรบปัตตานี” หยุดการใช้ความรุนแรง หยุดการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง การจะเรียกบีอาร์เอ็นฯ ว่าอะไรก็คงจะยอมกันได้
เมื่อข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่รัฐไทย โดยเฉพาะกองทัพน่าจะรับไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพจะต้อง “ล้มเลิก” หรือ “หยุดชะงัก” กลางคัน เพราะข้อเสนอของบีอาร์เอ็นฯ ตัวแทนของรัฐไทยคือ สมช.จะต้องค่อยๆ พูดคุยต่อรองเพื่อหาทางออกว่า สุดท้ายแล้วอะไรบ้างที่รัฐไทยทำได้ เช่น การตรวจสอบผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำผิดจริงหรือไม่ และการคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และวิธีการร่วมกันเพื่อแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นอีกมากมายหลายวิธี
ดังนั้น การเปิดพื้นที่พูดคุยจึงยังต้องมีต่อไป ในขณะที่ประชาชนทั้งในพื้นที่และในประเทศก็อย่าเพิ่งสิ้นหวังกับนโยบายการพูดคุย เพราะการพูดคุยสันติภาพคือส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่ใช่ใช่เป็นวิธีการสุดท้ายของการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
สุดท้ายสิ่งที่ทุกหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ซึ่งเป็นสภาภาคประชาชน องค์กรเหล่านี้จะต้องร่วมกับขับเคลื่อนด้วยการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่าง กลุ่มผู้ติดอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มที่ เพื่อให้คนเหล่านี้ยุติบทบาทของการเป็น “ศัตรู” กับรัฐไทย เพราะถ้ากลุ่มคนกลุ่มนี้เข้าใจนโยบายของรัฐ เชื่อมั่นถึงหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะลดลง ส่วนเวทีการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นฯ ในประเทศมาเลเซียเป็นหน้าที่ของ สมช. ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการต่อไป
สิ่งที่ กอ.รมน.ต้องทำอย่างเข้มข้นคือ การควบคุมบุคคล ควบคุมยุทโธปกรณ์ และควบคุมเส้นทางการเงินของขบวนการ เพื่อลดการก่อการร้าย ลดความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของพลเรือน เพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจรัฐ รวมถึงขวัญ และกำลังใจของประชาชน เพราะการเอาชนะ “สงครามประชาชน” ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ยังมีอีกหลายยุทธวิธี ไม่ใช่การการพูดคุย หรือการเจรจาเพียงอย่างเดียว เพียงแต่วันนี้ที่เรายังไม่ชนะต่อขบวนการ
จึงต้องถามกลับต่อรัฐบาล และกองทัพว่า ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถแล้วหรือยัง??!!