xs
xsm
sm
md
lg

สมช.เมินล้มถกบีอาร์เอ็น อ้างกบฏบอกชาวใต้ขอแยกดินแดน ปัดเพลี่ยงพล้ำ รอดูหยุดยิงหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ สมช.โวคุยกบฏบีอาร์เอ็นดีไม่ล้มเหลว นัดอีก 13 มิ.ย. ยันไม่มีถก 5 ข้อเสนอแยกดินแดน อ้างโจรแจงความเห็นคนในพื้นที่ บอกไม่ได้เป็นต่อ ชี้เสนอสุดโต่งเรื่องปกติ เผยหัวหน้าแก๊งประสานหยุดยิงแล้ว ขอรอดูจนถึงเดือนหน้า ก่อนนำมาพิจารณา ป้องมาเลย์แค่อำนวยความสะดวก ระบุเพื่อนบ้านก็ค้านไอโอซีร่วมแจม เมิน “พัลลภ” แนะล้มโต๊ะ จ่อชงเข้าวง ศปก.กปต. ย้ำยังอยู่ภายใต้ รธน. เลี่ยงตอบสยามอ่อนกดดัน ยังอ้างไม่ได้เพลี่ยงพล้ำ



วันนี้ (30 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี ยังไม่ถือว่าล้มเหลวอะไรทั้งนั้น และจะพูดคุยอีกครั้งวันที่ 13 มิ.ย. ขณะที่การประชุมไม่ได้มีการหยิบยกข้อเสนอ 5 ข้อพูด เพียงแต่ได้รับการชี้แจงว่าเป็นข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ เมื่อถามว่า เป็นเพราะว่าบีอาร์เอ็นคิดว่าเป็นต่อหรือไม่ ถึงได้ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ไม่ได้เป็นต่อรัฐบาลไทย แต่ถือเป็นเรื่องปกติในการเสนออะไรก็ต้องยื่นข้อเสนอที่สุดโต่ง ส่วนข้อเสนอฝ่ายรัฐบาลไทยยังยืนอยู่ในหลักที่ต้องลดความรุนแรง งดการปฏิบัติการในพื้นที่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งทางบีอาร์เอ็นรับข้อเสนอ โดยบอกว่าได้มีการประสานไปยังฝ่ายปฏิบัติการแล้วในการลดความรุนแรงในพื้นที่แล้ว ซึ่งจะต้องดูผลกันต่อไปจนถึงวันที่ 13 มิ.ย. และนำข้อเสนอของบีอาร์เอ็นมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กัน การพูดคุยครั้งนี้ได้มีการสื่อสารครบถ้วนแล้ว ส่วนข้อเสนอให้ทางการมาเลเซียมีส่วนร่วมในเจรจาด้วยนั้น จริงแล้วมาเลเซียแค่อำนวยความสะดวกเท่านั้น และมาเลเซียเองไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีตัวแทนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) เข้ามามีส่วนร่วมเจรจาด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การดึงโอไอซีเข้ามามีส่วนในการพูดคุย เป็นการยกระดับปัญหาในพื้นที่ไปสู่สากลหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ต้องไปวิเคราะห์ด้วย เพียงแต่ตอนนี้เป็นแค่การรับฟัง เมื่อถามว่า พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เสนอให้ล้มการเจรจา พล.ท.ภราดรกล่าวว่า คงต้องเดินหน้าต่อไป เพราะการพูดคุยเป็นการยกระดับให้มีความไว้วางใจกัน และมันก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะสอดคล้องกับนโยบาย นโยบายการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี เมื่อถามว่า เป็นการยกระดับการพูดคุยหรือยกระดับการก่อการให้มีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น พล.ท.ภราดรกล่าวว่า คงไม่เป็นการยกระดับการก่อการร้าย แต่เป็นการยกระดับการพูดคุย และบีอาร์เอ็นก็กล้าพอที่จะสะท้อนปัญหา ซึ่งข้อเสนอตรงนี้ก็ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์และแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.)

เมื่อถามว่า แต่ข้อเสนอดังกล่าวผิดจากข้อตกลงเดิมที่ได้ลงนามไว้ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า อย่างที่บอกเมื่อมีการยื่นข้อเสนอมาก็ได้บอกว่าเจตนารมณ์ที่ลงนามด้วยกันคือต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย โดยมีมาเลเซียอำนวยความสะดวก ต้องยึดกรอบตรงนี้เป็นหลัก เมื่อถามต่อว่า บีอาร์เอ็นยืนยันหรือไม่ที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงเดิม ในกรอบรัฐธรรมนูญของไทย เลขาฯ สมช.กล่าวว่า บีอาร์เอ็นยังยืนยันในกรอบเดิมที่ตกลงกันไว้ ส่วนข้อเสนอให้อาณานิคมสยามต้องยอมรับบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปัตตานี ไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ตรงนี้ที่ต้องมาพูดคุยกัน เมื่อถามอีกว่า จะเชื่อใจได้มากแค่ไหน พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ต้องพูดคุยกันต่อไป และตกลงร่วมกันแล้วทั้ง 3 ฝ่ายจะไม่มีการชะลอการพูดคุย อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการในพื้นที่ได้ส่งสัญญาณไปยังเจ้าหน้าที่ไทยเข้มงวดการปฏิบัติการ ขณะที่การพูดคุยก็ดำเนินการกันต่อไป

เมื่อถามว่า ทำไมฝ่ายไทยไม่มีอำนาจที่จะไปกดดันหรือทำให้บีอาร์เอ็นทำตามที่เราต้องการ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ต้องนำมาหารือฝ่ายความมั่นคงของเราก่อน เมื่อถามอีกว่า ทำไมบีอาร์เอ็นมีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอต่างๆ ขณะที่ไทยไม่มีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า มีสิทธิ์เสนอทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อเสนอมาก็รับฟัง ส่วนเรื่องอำนวยความยุติธรรมเราก็พร้อมดำเนินการอยู่แล้ว อย่างการออกหมายจับเพราะครั้งแรกออกหมายเรียกไปแต่ไม่มา ก็ต้องมีการออกหมายจับ ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยเพลี่ยงพล้ำเดินตามบีอาร์เอ็นนั้น ไม่ได้เพลี่ยงพล้ำและถือว่าไม่ได้เป็นรองฝ่ายปฏิบัติการ เพราะเมื่อเขาอ้างว่าข้อเสนอนี้เป็นแนวคิดของประชาชนก็เปิดใจกว้างรับฟัง และมั่นใจสถานการณ์ดีขึ้นหลังมีการสื่อสารไปยังฝ่ายปฏิบัติการ และรัฐบาลพร้อมพูดคุยกับทุกกลุ่มที่มีความเห็นต่าง ขณะที่บีอาร์เอ็นยืนยันว่าพูดคุยกับทุกกลุ่มได้


กำลังโหลดความคิดเห็น