“ผู้นำฝ่ายค้านฯ” ห่วงข้อเรียกร้องบีอาร์เอ็นทำรัฐบาลไทยลำบาก หลังโจรใต้พยายามยกระดับสถานการณ์สู่เวทีสากล เตือนระหวังจะใช้ความรุนแรงในพื้นที่มากดดันรัฐบาลมากขึ้น แนะกำหนดยุทธศาสตร์วางแผนรับมือให้ชัด ยืนหยัดไม่รับข้อเสนอนอกเหนือกรอบที่ลงนามไว้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่บุคคลที่อ้างเป็นตัวแทนบีอาร์เอ็นได้ยื่นเงื่อนไข 5 ข้อต่อรัฐบาลไทยว่า รู้สึกหนักใจเพราะการแสดงออกของกลุ่มบีอาร์เอ็นจะทำให้รัฐบาลอยู่ในฐานะที่ลำบาก คือ มีการใช้ภาษาเหมือนกับรัฐบาลเป็นฝ่ายที่ทำผิด ซึ่งไม่เหมาะสม ซึ่งตนไม่เข้าใจว่า ทำไมในการลงนามพูดคุยไม่กำหนดให้ชัดว่าแต่ละฝ่ายต้องปฏิบัติอย่างไร ข้อเรียกร้องที่จะดึงมาเลเซียจากผู้อำนวยความสะดวกมาเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยและดึงองค์กรระหว่างประเทศมาเป็นคนกลางจะทำให้เป็นปัญหาลุกลามมากยิ่งขึ้น จะมีการใช้สถานการณ์ในพื้นที่มาเป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะรับมืออย่างไร โดยต้องกำหนดกติกาให้ชัด ไม่ใช่ปล่อยให้บีอาร์เอ็น รุกคืบเพิ่มข้อเรียกร้องเรื่อยๆ ในขณะที่รัฐบาลปฏิบัติลำบาก ในแง่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่และกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนด้วย
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเคยเตือนแล้วว่าในการลงนามครั้งแรกที่แสดงเจตนารมณ์ในการพูดคุยสันติภาพภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญนั้น ข้อความที่ไปลงนามก็ผูกมัดรัฐบาลไทยฝ่ายเดียว แต่บีอาร์เอ็นไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ใดๆ ในเรื่องนี้ด้วย รัฐบาลจึงต้องแก้ไขสถานการณ์นี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกกดดันกลายเป็นฝ่ายตั้งรับจนไม่มีอำนาจต่อรองในการเจรจาพูดคุนย ซึ่งทุกฝ่ายก็แสดงความห่วงใยและเตือนมาแล้วว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่จะเข้าทางบีอาร์เอ็น ซึ่งใช้วิธีการเดินคู่ขนาน ด้านหนึ่งเจรจาแต่อีกด้านก็จะเคลื่อนไหวในพื้นที่ แต่รัฐบางยังขาดการกำหนดแนวทางที่รอบคอบและชัดเจนแต่ต้น ซึ่งรูปแบบการพูดคุยตนก็ไม่เห็นด้วยแต่แรก เพราะความจริงควรมีการตกลงรายละเอียดให้ได้ข้อสรุปก่อน จึงค่อยเปิดเผย แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะใช้รูปแบบนี้ด้วยเหตุผลทางการเมืองและการตลาด สุดท้ายก็ทำให้ทำงานยากลำบากมากยิ่งขึ้น ดังนั้นภาระหนักจึงไปอยู่ที่เลขาฯ ศอ.บต. และเลขาฯ สมช. รวมถึงนายกฯ ว่าจะตัดสินใจกำหนดแนวทางอย่างไร โดยไม่ปล่อยให้สถานการณ์ไหลไปตามแนวทางของบีอาร์เอ็นเพียงฝ่ายเดียว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า บีอาร์เอ็นพยายามที่จะยกระดับของปํญหาขึ้นไปสู้เวทีนานาชาติ โดยดำเนินการทั้งกดดันในพื้นที่ หวังให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้รัฐบาลไทยปฏิบัติยาก หากตอบโต้แรงก็จะเป็นเหยื่อการยั่วยุ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่การกดดันในเรื่องการเจรจารมาขึ้น เพราะหากบีอารฺเอ็นมีความจริงใจจริงก็ต้องคุยภายใน ไม่ใช่ลากคนนอก คนอื่นเข้ามา รัฐบาลต้องตั้งหลักใหม่ ไม่เช่นนั้นปัญหาจะลุกลามบานปผลายไปใหญ่
ส่วนที่เลขาฯ สมช.ระบุว่า หากการพูดคุยมีปัญหา อาจจะมีการหยุดพักการเจรจานั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นดุลพินิจของรัฐบาล ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะต้องคุยให้ชัดเจนเพื่อมีกติการ่วมกัน เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนนี้จะไม่มีผลดีต่อใครเลย และอยากให้รัฐบาลเรียนรู้จากปัญหานี้ว่า การแก้ไขสถานการร์ภาคใต้มีความละเอียดอ่อน ต้องทำด้วยความรอบคอบและเตรียมความพร้อมให้ทุกอย่างสอดรับกัน
“ผมย้ำแต่ต้นว่าไม่อยากให้ทำในรูปแบบนี้ แต่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจไปแล้วก็ต้องเดินให้ได้ โดยตั้งหลักว่า เมื่อเขารุกคืบอย่างนี้จะจัดการอย่างไร ซึ่งต้องยืนยันว่าจะไม่ทำอะไรนอกกรอบที่ลงนามไปแล้ว และยอมรับบีอาร์เอ็นเป็นแค่กลุ่มที่มาขอพูดคุยกับรัฐบาลเท่านั้น”