xs
xsm
sm
md
lg

โจทย์ที่รัฐต้องแก้ให้ได้ก่อนเจรจาดับไฟใต้รอบใหม่ 29 เม.ย.นี้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
แผ่นป้าย และใบปลิวจำนวนหลายร้อยแผ่นที่ถูกติดในถนนสายต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เขียนด้วยอักษรรูมีเป็นภาษายาวี แปลเป็นไทยได้ใจความว่า “ความสงบจะไม่เกิดขึ้น หากไปเจรจาผิดคน” ผู้ที่นำข้อความนี้มาทำเป็นป้ายผ้า และแผ่นปลิวคือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เรียกตัวเองว่า “นักรบปัตตานี” ซึ่งเป็นขบวนที่ทำการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในขณะนี้
 
การติดแผ่นป้าย และใบปลิวในครั้งนี้เป็นเช่นเดียวกับการที่แนวร่วมในพื้นที่เคยติด “ธงชาติมาเลเซีย” จำนวนกว่า 400 จุดมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งเคยมีการวิเคราะห์ว่าเป็นการกระทำที่ต้องการ “สื่อ” ถึงความต้องการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนว่า ต้องการอะไร เช่นเดียวกับการติดแผ่นป้ายจำนวนหลายร้อยอันในวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นการบอกความหมายที่ชัดเจนว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่าง “รัฐไทย” กับ “บีอาร์เอ็นฯ” เป็นการ “พูดคุย” ที่มีการ “ต่อต้าน” จากกลุ่มขบวนการในพื้นที่ หรืออาจมี “มือที่สาม” ที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยระหว่างรัฐกับบีอาร์เอ็นออกมาเคลื่อนไหว เพื่อต่อต้านขบวนการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้
 
แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องอธิบายความคือ “ความล้มเหลว” ของงาน “การข่าว” และการป้องกันการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ว่าเป็น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตำรวจ และฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะหน่วยข่าว ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สันติบาล กองทัพเรือ กองทัพบก หน่วยข่าวสำนักนายกฯ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งปฏิบัติงานการข่าวอยู่ในพื้นที่จำนวนหลายหน่วย ซึ่งไม่มีข่าวระแคะระคายถึงการออกมาปฏิบัติการติดป้าย และแผ่นปลิวดังกล่าว และแน่นอนว่าถ้าแนวร่วมเปลี่ยนการติดแผ่นป้าย และใบปลิวไปเป็นการ “วางระเบิด” แทน เสียงระเบิด และความสูญเสียย่อมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
 
สิ่งที่น่าวิตกคือ พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ จะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย ซึ่งมีการประเมินว่าเป็นพื้นที่ “ปลอดภัย” นั้น แท้จริงแล้วปลอดภัยจริงหรือไม่ เพราะจำนวนแผ่นป้าย และใบปลิวในพื้นที่ที่ปรากฏอยู่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว ซ่องสุมกำลัง และเป็นพื้นที่ “หลบซ่อน” ของขบวนการอยู่ ไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดจากขบวนการก่อการร้ายอย่างที่หลายฝ่ายเชื่อมั่น
 

 
การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่ม “นักรบปัตตานี” ในรูปแบบของความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่างรัฐไทย และบีอาร์เอ็นฯ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยข่าวความมั่นคงมีข้อมูลว่า เป็นการ “สั่งการ” มาจาก “แกนนำ” ที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านให้ “แนวร่วม” ในพื้นที่ก่อเหตุร้ายให้รุนแรงยิ่งขึ้น จนมาถึงการปิดแผ่นป้ายเพื่อ “สื่อ” โดยตรงว่า “ความสงบจะไม่เกิดขึ้น ถ้าการพูดคุยไม่ถึงคน” แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ไม่สามารถควบคุมกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “นักรบปัตตานี” ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ชายแดนใต้ได้
 
สอดคล้องกับข่าวเชิงลึกจากหน่วยข่าวในพื้นที่ ซึ่งมีข้อมูลว่า กลุ่มผู้ติดอาวุธในพื้นที่ไม่เห็นด้วยการพูดคุยสันติดภาพระหว่างรัฐไทย และบีอาร์เอ็นฯ ที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน โดยคำถามหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ถามว่า 9 ปีที่ผ่านมาพวกเขามีความสูญเสียมากมาย เมื่อมีการพูดคุยเพื่อยุติการสู้รบ พวกเขาจะได้อะไรเป็นการตอบแทน
 
ประเด็นนี้จึงเป็น “โจทย์” ที่สำคัญที่จะเป็น “ประเด็น” ในการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นฯ ที่มี ฮาซัน ตอยิบ เป็นตัวแทน เพราะเหตุที่ยิ่งใกล้วันเจรจารอบที่ 3 เท่าไหร่ การก่อการร้ายในพื้นที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น อันอาจจะมาจากคำถามของกลุ่มนักรบปัตตานีในพื้นที่ว่า “เขาจะได้อะไร” หรือพวกเขาล่วงรู้มาว่า กลุ่มตัวแทนทั้งบีอาร์เอ็นฯ และพูโลต่างได้อะไรจากรัฐไทยไปแล้ว
 
สิ่งหนึ่งที่รัฐไทยไม่ควรมองข้ามคือ “จุดอ่อน” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในชายแดนใต้ ตั้งแต่อดีตกว่า 100 ปี จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนที่ทำให้การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนของขบวนการต่างๆ ล้มเหลวมาโดยตลอดนั้นคือ การขาด “เอกภาพ” การ “แตกแยก” ของกลุ่มผู้เป็น “แกนนำ” ของขบวนการ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐไทย เพราะความแตกแยกทางความคิดของขบวนการที่ผ่านมา ทำให้ขบวนการอ่อนแอ ไม่สามารถทำการใหญ่ได้
 
แต่จุดอ่อนอันนี้ก็เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาบนเวทีการ “พูดคุย” ทั้งเวที “ใต้ดิน” หรือ “เวทีบนดิน” มาโดยตลอดในระยะ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแกนนำของขบวนการที่อยู่ในประเทศที่ 3 ไม่สามารถ “สั่งการ” ให้กองกำลังในพื้นที่ปฏิบัติตามได้
 
การเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในวันนี้คือ ความไม่เป็น “เอกภาพ” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งในกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออดิเนตเองก็ไม่ได้มีเอกภาพอย่างที่รัฐไทยมองเห็น เพราะหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่มีการ “แตกตัว” ออกมากมายหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มต่างมี “ธง” ของตนอง เมื่อยังมีขบวนการพูโล และอื่นๆ เข้าร่วมผสมโรงในการพูดคุยกับรัฐไทย ยิ่งทำให้มีปัญหาและอุปสรรคที่มากยิ่งขึ้น เมื่อผนวกกับหน่วยงานหลักๆ ในประเทศอยู่ในลักษณะที่ “ไม่ยินดียินร้าย” กับผลของการพูดคุยสันติภาพ ยิ่งทำให้การเปิดพื้นที่พูดคุยยากเย็นยิ่งขึ้น
 

 
แน่นอนว่า ขบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพต้องเดินต่อไป ไม่ว่าจะเห็นความหวัง หรือยังต้อง “รอ” ความหวังที่จะเห็นสันติภาพเกิดขึ้น เพราะขบวนการสันติภาพยังไม่เคยเกิดขึ้นแค่ข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาหลายต่อหลายปี ดังนั้น สิ่งที่รัฐไทยต้องทำคือ การเปิดพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ให้มากกว่าการพูดคุยกับขบวนการในประเทศมาเลเซีย เพราะกลุ่มคนในชายแดนใต้ต่างหากคือ “กลไก” ที่สำคัญ ทั้งในการก่อเหตุร้ายและการปลุกระดมให้ประชาชนต่อต้านอำนาจรัฐ
 
ในเมื่อกลุ่มนักรบปัตตานีในพื้นที่ชายแดนใต้ยังอยู่ในอาการของผู้ที่ “ไม่สมประโยชน์” จากการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นฯ ดังนั้น เสียงปืน เสียงระเบิด และความสูญเสียในปลายด้ามขวานก็ยังคงดำเนินต่อไป และอาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนกว่าการสมประโยชน์จะเกิดขึ้นกับทุกกลุ่ม ทุกขวนการที่ต่างคาดหวังในสิ่งที่ตนเองต้องการ
 
ล่าสุด การสูญเสียจากระเบิดแสวงเครื่องที่เกิดขึ้นกับชุดเก็บกู้ระเบิด ฉก.นราธิวาส 32 น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า “แนวร่วม” ในพื้นที่ยังไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีการพัฒนาการขีดความสามารถด้วยการประกอบระเบิดที่ทันสมันยิ่งขึ้น เช่น มีการทำชนวน “ระเบิด 2 ชั้น” เพื่อหลอกเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ รวมทั้งข่าวการตั้งชุด “สไนเปอร์” เพื่อปฏิบัติการ “เด็ดชีพ” เจ้าหน้าที่ระดับสูงในเขตเมือง ล้วนเป็นสิ่งบอกเหตุให้หน่วยงานของรัฐเร่งปรับยุทธวิธีในการรับมือกับปัญหาการก่อการร้ายให้รัดกุม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
หากหน่วยงานของรัฐยังล้าหลัง ทั้งด้านการข่าว การเมือง และการทหาร กว่าการพูดคุยสันติภาพจะบรรลุถึงจุดหมาย สถานการณ์ในพื้นที่อาจจะ “สุกงอม” จนเกินกว่าจะเยียวยาก็ได้
 



 
วันนี้ “บีอาร์เอ็นฯ” ในประเทศมาเลเซียเปิดพื้นที่พูดคุยกับรัฐไทยเพื่อต้องการ “สันติภาพ” แต่ “นักรบปัตตานี ประการชัดเจนว่าต้องการ “เอกราช” โดยใช้ความรุนแรงเครื่องมือ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ “โจทย์” ที่ถูกตั้งขึ้น เพราะสถานการณ์วันนี้บอกให้รู้ว่า รัฐบาลหมดเวลาที่จะ “ลองผิด ลองถูก” หรือเอาประเทศชาติ และประชาชนเป็น “หนู” เพื่อ “ทดลองยา” อีกต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น