xs
xsm
sm
md
lg

โจรใต้ปรับแผนโจมตี “จทน.ระดับสูง” โจทย์ที่ท้าทาย “มทภ.4” คนใหม่?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา (ซ้าย) และ นายเชาวลิต ไชยฤกษ์ ปลัดป้องกันจังหวัดยะลา (ขวา)
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
การสูญเสีย “นายอิศรา ทองธวัช” รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และ “นายเชาวลิต ไชยฤกษ์” ปลัดป้องกันจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา จากการวางระเบิดแสวงเครื่องริมถนนสุขยางค์ หรือถนนสาย 412 ยะลา-เบตง ในพื้นที่บ้านน้ำขุ่น ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขณะเดินทางไปราชการที่ อ.เบตง จ.ยะลา นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่เกิดจากฝีมือของ “แนวร่วม” ในการทำ “สงครามประชาชน” ระหว่าง “เจ้าหน้าที่รัฐ” กับ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ที่มีความรุนแรงระลอกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
 
สิ่งที่น่าสังเกตคือ ก่อนหน้าที่ นายอิศรา ทองธวัช และนายเชาวลิต ไชยฤกษ์ จะเป็น “เหยื่อ” ของ “ไฟใต้” เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา แนวร่วมในพื้นที่ได้มีการปรับ “แผนยุทธการ” จากการโจมตีเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป และพลเรือนที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ มาเป็นการมุ่งโจมตีเป้าหมายที่เป็น “เจ้าหน้าที่ระดับสูง” ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วย และเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในด้านการปราบปรามและงานมวลชนแทน
 


 
เช่นเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2556 โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จนสูญเสียชีวิตของ “พ.ต.ท.จักรกฤษ วงศ์พรหมเมศ” รอง ผกก.ป.สภ.รือเสาะ และมีตำรวจชั้นประทวนบาดเจ็บหลายนาย วันที่ 29 มี.ค.2556 โจมตีชุด ฉก.32 ทำให้ต้องสูญเสีย “ร.อ.ศิวัช ศรีอุปโย” โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารบาดเจ็บ 14 นาย และในวันเดียวกัน มีการโจมตีชุดลาดตระเวนของ พ.ต.ท.โสภณ จันทโชติ สวป.สภ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส แต่โชคดีที่เสียหายเฉพาะรถยนต์ และเจ้าหน้าที่รับบาดเจ็บเล็กน้อย
 
วันที่ 3 มี.ค.2556 โจมตี ชุดของ ร.ต.อ.วัชรินทร์ หอมแช่ม สวป.สภ.สุคิริน จ.นราธิวาส ขณะเดินทางกลับจากการประชุมในตัวจังหวัด แต่ระเบิดพลาดเป้า รถยนต์ได้รับความเสียหาย วันที่ 3  เม.ย.2556 แนวร่วม จำนวน 8 คนบุกเข้าจับตัว “พลทหารมะอีลา โต๊ะลู” ทหารสังกัดกองร้อยปืนเล็กที่ 2 ฉก.นราธิวาส 32 จากบ้านพักของภรรยา นำไปยิงทิ้งอย่างโหดเหี้ยม
 
และวันที่ 5 เม.ย.2556 เหยื่อของการโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องคือ “นายอิศรา ทองธวัช” และ “นายเชาวลิตร ไชยฤกษ์” ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูง และเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดคนที่ 2 ที่กลายเป็นเหยื่อของขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยรายแรกคือ “นายสุนทร ฤทธิภักดี” อดีตรอง ผวจ.ปัตตานี เมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา
 

 
สิ่งที่น่าสังเกตคือ การโจมตีต่อเป้าหมายที่เป็นข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลังจากแนวร่วมนำกำลังบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 ฉก.นราธิวาส 32 ที่ ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และแนวร่วมถูกวิสามัญโดยฝีมือของ ฉก.นย.เสียชีวิตถึง 16 ศพ หลังจากนั้นจึงมีการประกาศ “เอาคืน” จากแนวร่วมเพื่อแก้แค้นให้แก่ผู้สูญเสีย และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่แนวร่วมในพื้นที่
 
นอกจากนั้น ปฏิบัติการที่พุ่งเป้าโจมตีต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลส่ง “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคณะไปทำข้อตกลงเปิดพื้นที่พูดคุยกับ “นายฮาซัน ตอยิบ” ตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสันติวิธี ซึ่งเรียกการพูดคุยครั้งนี้ว่าเป็นการ “พูดคุยสันติภาพ” นั่นเอง
 


 
การเปิด “แนวรุก” ครั้งใหม่ด้วยการพุ่งเป้าโจมตีไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแนวร่วมในครั้งนี้ ย่อมมี “นัย” ที่สำคัญ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ “ดับไฟใต้” ต้องมีการตรวจสอบ และวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อที่จะได้ “รับมือ” กับสถานการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้น รวมทั้งการกำหนดยุทธวิธีในการเปิด “เกมรุก” เพื่อสร้างความสูญเสียให้แก่ฝ่ายตรงกันข้าม
 
นัยแรกที่ทุกหน่วยงานต้อง “สำเหนียก” คือ งานการข่าวของแนวร่วมที่เรียกตนเองว่า “นักรบฟาตอนี” หรือ “นักรบปัตตานี” มีความแม่นยำ มีคนของขบวนการเป็น “สายข่าว” ที่ทำหน้าที่เป็น “ไส้ศึก” อยู่ในหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของหน่วยงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการ “หลอก” ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปยัง “พื้นที่สังหาร” ที่มีการวางระเบิด และวางกำลังซุ่มยิงเอาไว้ เช่น กรณีของ ร.อ.ศิวัช ศรีอุปโย ที่มีการหลอกให้ไปตรวจสอบวัตถุต้องสงสัย หรือกรณีของนายอิศรา ทองธวัช ที่เปลี่ยนจากรถราชการเป็นรถเก๋งส่วนตัวเพื่อไปปฏิบัติราชการ แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังปฏิบัติการได้อย่างไม่พลาดเป้า
 
ดังนั้น หน่วยงานของรัฐต้องมีวิธีการป้องกัน และแก้ไขในเรื่องของ “สายข่าว” และ “ไส้ศึก” ที่เป็นเหมือน “หนอนบ่อนไส้” โดยเร็ว ก่อนที่จะต้องสูญเสียหัวหน้าหน่วย หรือข้าราชการระดับสูงเพิ่มขึ้นอีก
 
ส่วนนัยที่ 2 คือ สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น และแนวร่วมปรับยุทธวิธีมุ่งโจมตีผู้นำหน่วยระดับสูง หลังการที่ขบวนการสูญเสียกำลังพล จำนวน 16 ศพ และหลังการเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพระหว่าง สมช. และบีอาร์เอ็นฯ คือ การประกาศตัวไม่ยอมรับสถานภาพการเป็นผู้นำของฝ่ายบีอาร์เอ็นฯ ของกลุ่มนักรบฟาตอนีในพื้นที่
 
ดังนั้น การออกมาปฏิบัติการทั้งหมด หลังการเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพของ สมช. และบีอาร์เอ็นฯ จึงเป็นการบอกให้รัฐรู้ว่า นักรบฟาตอนีไม่ได้อยู่ในสังกัดของบีอาร์เอ็นฯ ที่มีนายฮาซัน ตอยิบ เป็นผู้นำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” “ศอ.บต.”  “ศชต.” และหน่วยงานอื่นๆ ต้องใช้วิธีการอื่นๆ ในการแก้ปัญหา
 
หรือแม้กระทั่งการเปิดพื้นที่พูดคุยกับผู้นำของนักรบฟาตอนีในพื้นที่บ้านเรา เช่นเดียวกับที่ได้เปิดพื้นที่พูดคุยกับบีอาร์เอ็นฯ ในประเทศมาเลเซียเพื่อยุติการสู้รบที่เกิดขึ้น
 


 
สุดท้ายที่ไม่ได้เป็นนัย แต่เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งวันนี้เปลี่ยนตัวผู้นำจาก “พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” ที่ได้ขยับขึ้นรับความดีความชอบที่เหน็ดเหนื่อยกับการดับไฟใต้มานาน ด้วยการครองยศ “พลเอก” และได้ “พล.ท.สกล ชื่นตระกูล” รอง ผอ.กอ.รมน. และ ผอ.กองข่าว มาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าคนใหม่ ที่ต้องปรับปรุง “ยุทธวิธี” และงาน “ยุทธการ” งาน “การข่าว” ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
 
โดย 9 ปีที่ผ่านมา และย่างเข้าปีที่ 10 ของไฟใต้ระลอกใหม่ ถ้ามองให้ชัด พูดให้ตรงประเด็นจะเป็นว่า “ผู้กำหนดเกม” ของสงครามประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “แกนนำ” ในพื้นที่ โดยมีหน่วยงานของรัฐทั้งหมดเป็น “ผู้เดินตามเกม” ที่ฝ่ายตรงข้ามกำหนด ดังนั้น ฝ่ายรัฐจึงไม่มีเปรียบทั้งเรื่อง “การเมือง” และ “การทหาร”
 
มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพียง 2 ตัวคือ ถ้าฝ่ายเราได้เปรียบทาง “การทหาร” การก่อเหตุของแนวร่วมต้อง “ลดน้อยลง” และพื้นที่การก่อเหตุต้อง “แคบลง” แต่วันนี้แนวร่วมยังเลือกก่อเหตุได้ทุกพื้นที่ตามที่ต้องการ และการเพิ่มจำนวนแนวร่วมได้มากขึ้นเป็นกว่า 400,000 คน
 
นั่นแสดงให้เห็นว่า งานด้าน “การเมือง” ของเรายังคง “ล้มเหลว” อย่างต่อเนื่อง
 
เพราะหากงานการเมืองประสบความสำเร็จ จำนวนแนวร่วมต้องลดลง รวมทั้งหลายๆ ครั้งที่เกิดความสูญเสียของฝ่ายเจ้าหน้าที่ จะเห็นว่าส่วนหนึ่งมากจากความ “ประมาท” และขาดความรอบคอบรัดกุมในงาน “ยุทธการ” ขาดขวัญกำลังใจในการต้องสู้ของกำลังพล
 
จึงเป็นโจทย์ที่ “แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่” ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงรุ่มร้อนของเดือน เม.ย.นี้.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น