xs
xsm
sm
md
lg

แหวกฝุ่นตลบไปจับตา “คณะทำงานร่วม” รัฐไทย-บีอาร์เอ็นฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. (บน) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ (ล่างซ้าย) ภาพในวันลงนามกับเลขา สมช.ในวันที่ 28 ก.พ.2556 ที่เพิ่งผ่านมา และ (ล่างขวา) ภาพเมื่อครั้งร่วมแถลงการทางช่อง 5 ภายใต้การผลักดันของ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ในปี 2551 ที่ในครั้งนั้นถูกวิจารณ์ว่าเป็นปาหี่ดับไฟใต้
 
โดย...ไม้  เมืองขม
 
 
หลังการลงนามเพื่อเปิดพื้นที่พูดคุย “สันติภาพ” ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ผู้นำขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สิ่งที่ทุกภาคส่วนคาดหวังในการลงนามครั้งนี้คือ ความสงบสุขในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นก็คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา
 
ดังนั้น เมื่อมีการลงนามของทั้งสองฝ่ายแล้วยังปรากฏเหตุร้ายรายวัน ทั้งการวางระเบิด ทั้งการฆ่าเจ้าหน้าที่ และประชาชน และการป่วนเมือง ด้วยการเผายางรถยนต์ และเผาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ คืนเดียว 7 อำเภอ 50 กว่าจุด อย่างที่เกิดขึ้นที่ จ.ยะลา จึงเป็นเรื่องที่สร้างความสับสน และมีการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งข้อสงสัยว่า การลงนามเพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยครั้งนี้จะสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นได้หรือไม่
 
โจทย์หนึ่งของการเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพที่เป็นโจทย์ใหญ่คือ กลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะอยู่ภายใน “ร่มธง” ของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ก็จริง แต่มีอยู่หลากหลายกลุ่ม มีแกนนำระดับ “สั่งการ” ในพื้นที่ต่างๆ หลายคน ซึ่งมี “อิสระ” ไม่ขึ้นตรงต่อกัน
 
แล้วกลุ่มที่ปฏิบัติการ “ป่วนเมืองยะลา” ด้วยการเผายางรถยนต์กว่า 50 จุดในคืนเดียว คือตัวอย่างของกลุ่มคนกลุ่มใหม่ที่มีชื่อว่า “เปอร์มูดอ บารู” หรือ “แนวร่วมใหม่” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เสริมกำลังให้เป็น “อาร์เคเค” ในอนาคต เป็นการปฏิบัติการป่วนเมืองในรูปแบการเผาสารพัด อย่างการโปรยตะปูเรือใบ การตัดต้นไม้ขวางถนน เป็นบันไดขั้นแรกของการ “ทดลอง” ก่อการร้าย ก่อนที่ก้าวไปสู่การวางระเบิด การซุ่มยิง และการฆ่ารายวัน
 
ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริงคือ การเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างรีบด่วน แต่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้อง “อดทน” ต้องให้โอกาสผู้ที่มีหน้าที่ ทั้งฝ่ายสภาความมั่นคงแห่งชาติ และขบวนการบีอาร์เอ็นฯ
 
โดยเฉพาะบีอาร์เอ็นฯ ที่มีนายฮัสซัน ตอยิบ เป็นผู้นำ ต้องใช้เวลาในการประสานกับกลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำหน้าที่ “การทหาร” และแกนนำที่ทำหน้าที่ “การเมือง” ซึ่งมีอยู่กว่าครึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดพื้นที่พูดคุย เนื่องจากเห็นว่า “เงื่อนไข” ในการพูดคุยยังไม่ “สุกงอม” และขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ไม่ได้ “มีเปรียบ” ในการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพ ในขณะที่หลายกลุ่มยังมี “ธง” ในการต่อสู้ด้วย “อาวุธ” โดยใช้ความรุนแรง เพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายของบีอาร์เอ็นฯ ต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจกับกลุ่มที่ “เห็นต่าง” ให้ได้เสียก่อน ซึ่งคงใช้เวลาไม่น้อย
 
ขณะนี้กำลังติดอาวุธของกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่มีไม่น้อยกว่า 2.000 คน และมีกลุ่มพร้อมที่ถูกฝึกเพื่อให้เป็นกำลังรบอีกไม่น้อยกว่า 50.000 คน มีผู้ที่ถูกชักจูงให้เป็น “แนวร่วม” ในรูปแบบต่างๆ ทั้งแนวร่วมจำยอม แนวร่วมหลงผิด แนวร่วมอุดมการณ์ ไม่น้อยกว่า 400,000 คน
 
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพไม่ได้อยู่ที่ “กองกำลังติดอาวุธ” แต่อยู่ที่ต้องสร้างความเข้าใจกับ “แนวร่วม” ที่ยังไม่ได้กลายเป็น “นักรบ” หรือเป็น “กองโจร” เพื่อสลายแนวคิดในการเป็นปรปักษ์กับรัฐ รวมทั้งการหยุดการ “แตกกอต่อยอด” ในการสร้างมวลชน เพื่อเป็นแนวร่วมเพิ่มขึ้นของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
นั่นคือ บีอาร์เอ็นฯ ต้องเร่งพูดคุยกับฝ่าย “การเมือง” ในพื้นที่ให้ยุติงานมวลชนเอาไว้ เพราะงาน “การทหาร” คือ กลุ่มติดอาวุธนั้น คงต้องใช้เวลา และหากพูดคุยกันไม่ได้ ก็ต้องใช้รูปแบบอื่นๆ ในการเข้าไป “จัดการ”
 
สิ่งที่คนในพื้นที่ต้องเข้าใจตรงกันคือ ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายคือ สมช. กับบีอาร์เอ็นฯ เพียงลงนามข้อตกลงที่จะ “เปิดพื้นที่พูดคุย” เพื่อแสวงหาทางออกในการสร้างความสงบสุขหรือ “สันติภาพ” เท่านั้น แต่โดยข้อเท็จจริง ยังไม่ได้เริ่มต้นปฏิบัติการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย และประเทศอื่นๆ ที่ต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในขั้นตอนการตั้ง “คณะทำงาน” ซึ่งต้องรอให้คณะทำงานของสองฝ่ายเสร็จสิ้นจึงจะเริ่มดำเนินการได้ และเมื่อนั้นจึงจะเห็น “สัญญาณ” ที่เป็น “บวก” หรือ “ลบ” เกิดขึ้น
 
โดยข้อเท็จจริง นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นแกนนำบีอาร์เอ็นฯ รุ่นเก่าแน่นอน แต่การที่เขายอมรับเป็นผู้นำในการเปิดพื้นที่พูดคุยกันติภาพ ย่อมแสดงว่า นายฮัสซัน ตอยิบ ต้องมีศักยภาพ มีเครือข่ายที่จะทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ เพราะหลังการลงนามถ้าเขาทำไม่ได้ อนาคตในการเป็น “ผู้นำ” ของนายฮัสซัน ตอยิบ ย่อมจบสิ้นและย่อยยับอย่างไม่ต้องสงสัย
 
เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย หลังเสร็จสิ้นการลงนามของทั้งสองฝ่าย โดยมี ผบ.สส.ของกองทัพมาเลเซียเป็นสักขีพยาน เท่ากับผู้นำมาเลเซียยอมรับว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายจำนวนหนึ่งที่มีหมายจับได้หลบไปซ่อนตัวในประเทศมาเลเซีย เมื่อรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางในการแก้ปัญหาของไทย เพียงไม่ให้ที่หลบซ่อน ที่พักพิง และยอมจับกุมผู้ที่มีหมายจับส่งให้ฝ่ายไทย ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 4 จังหวัดของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดลงทันที
 
แต่ปัญหาหนึ่งที่ไม่ได้นำมาพูดกันคือ เป็นที่รู้กันว่า พรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมาตั้งแต่เริ่มมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนคือ “พรรคพาส” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน และเป็นพรรคอนุรักษนิยมการปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลาม มีที่นั่งอยู่ในรัฐตอนเหนือที่ติดกับประเทศไทย เช่น รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู และอื่นๆ
 
แต่ที่รัฐกลันตัน และตรังกานู คือ แหล่งที่กลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนไป “ตั้งสำนักงาน” ไปหลบซ่อนอยู่มากที่สุด เช่น นายฮาซัน ตอยิบ ผู้นำบีอาร์เอ็นฯ ก็มีที่พำนักอยู่ที่รัฐตรังกานูเช่นกัน
 
พรรคพาสเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เป็นไม่เบื่อไม้เมากับ “พรรคอัมโน” ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล การที่พรรคอัมโน หรือรัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” เพื่อการลงนามเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพระหว่าง สมช. กับบีอาร์เอ็นฯ จึงเป็นการส่งสัญญาณทางตรงไปยังพรรคพาส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านให้รับรู้ว่า รัฐกลางจะเลิกโอบอุ้มคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนไทยที่หลบหนีเข้าไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ
 
เพราะหากพรรคพาสไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลกลาง รัฐบาลมาเลเซียจะมีวิธีการอย่างไรในการไม่ให้พื้นที่ของรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู และรัฐอื่นๆ ที่อยู่ติดกับชายแดนไทย เป็นที่ตั้งสำนักของขบวนการ และเป็นที่พักพิง เป็นที่หลบซ่อนของกลุ่มก่อการร้าย ที่หลบหนีการไล่ล่าการจับกุมของฝ่ายไทย 
 
สิ่งที่ต้องจับตามมอง และสิ่งที่ สมช.กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบคือ การตั้ง “คณะกรรมการร่วม” หรือ “คณะทำงานร่วมสองฝ่าย” ในการดำเนินการในเรื่องเปิดพื้นที่พูดคุยว่า จะให้บุคคลผู้ใดเข้าไปอยู่ในคณะดังกล่าว
 
โดยเฉพาะบรรดาภาคประชาสังคมที่มีอยู่หลายกลุ่มหลายคณะ ทั้งในพื้นที่ และในกรุงเทพฯ ซึ่งภาคประชาสังคมเหล่านี้ต่างมี “จุดเหมือน” และ “จุดต่าง” รวมถึง “จุดยืน” ที่ไม่เหมือนกัน และมีหลายกลุ่ม หลายคนที่ “กระสัน” อยากจะ “กระโจน” ไปร่วมวงพูดคุยโดยไม่ทันได้รับเชิญ หรือการเสนอตัวไปร่วมในคณะกรรมการสองฝ่าย
 
เช่นเดียวกับฝ่ายของบีอาร์เอ็นฯ ที่มีกลุ่มก้อนต่างๆ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนฯ ไม่ว่าจะเป็น “พูโลเก่า” “พูโลใหม่”  “เบอร์ซาตู” “มูจาฮิดิน” และอื่นๆ ซึ่งมีทั้งที่มีศักยภาพ ที่ไม่มีศักยภาพ แต่ต้องการสร้างราคา สร้างค่าตัว และขอเกาะขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้ายเพื่อ “มีส่วน” ของการดับ “ไฟใต้” ในครั้งนี้
 
ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าผิดฝา ผิดตัว ไปกันคนละทิศทางเมื่อไหร่ คงต้องเสียเวลาในการ “เปิดพื้นที่พูดคุยกันเอง” มากกว่าที่จะได้ไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
 
และคงจะไปเข้าทางของกลุ่ม “สุดโต่ง” และกลุ่ม “เห็นต่าง” ทั้งที่เป็น “กลุ่มก่อการร้าย” และเป็นกลุ่ม “ก่อการดี” ในบ้านเรา ที่ต้องการเห็นความ “ล้มเหลว” ของการลงนามเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพในครั้งนี้.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น