ยะลา - เลขา สมช.ลงพื้นที่พูดคุยพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากชาวไทยพุทธ ยันการพูดคุยวันที่ 13 มิ.ย. เพื่อลดเหตุรุนแรงยังอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย ไม่มีแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ห้องประชุมเทศบาลนครยะลา พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ต.กิตติ อินทรสร รองแม่ทัพภาค 4 ได้ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นการพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ กับชุมชนไทยพุทธกว่า 20 ชุมชน ในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา และรอบเขตเทศบาลนครยะลา
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังร่วมพูดคุยรับฟังข้อเสนอแนะจากพี่น้องประชาชนชาวไทยพุทธที่มีความหลากหลายว่า การพูดคุยร่วมกันครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทยพุทธ และชุมชนในพื้นที่ที่มีข้อเสนอแนะที่หลากหลาย ซึ่งรัฐบาลจะได้รับทราบปัญหาที่แท้จริง และแน่นอนจะต้องนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปแก้ไขให้พี่น้องประชาชนชาวไทยพุทธอย่างเร่งด่วน เพราะเราถือว่าความเสมอภาค ความยุติธรรม นิติรัฐ นิติธรรม ต้องดำเนินการโดยเร็ว และเป็นธรรม
“ส่วนกรณีที่คนไทยพุทธยังห่วงเรื่องขณะที่มีการเจรจา แต่ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ขณะนี้ไม่ถึงการเจรจาเป็นเรื่องของการสืบสภาพ รับทราบข้อเท็จจริง ความไว้วางใจ อยู่ในกระบวนการตรงนี้อยู่ และแน่นอนกระบวนการก็ต้องทำให้เข้มข้นขึ้น ยกระดับชิงความได้เปรียบในการพูดคุยกันต่อไป ซึ่งรัฐบาลโดยฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ประมาท ได้จัดเตรียมการปฎิบัติการในทางยุทธการ การ รปภ. ชีวิต ทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชนเป็นหลักใหญ่ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังต้องเสียสละอยู่ทุกวัน เจ้าหน้าที่ต้องป้องกันชีวิต ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน แน่นอนผลกระทบก็จะต้องเกิดกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยินยอมพร้อมใจดำเนินการมาตรการเหล่านี้ให้สงบสุขให้ได้” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าว
ส่วนวันที่ 13 มิ.ย.นี้ การพัฒนาการพูดคุยยังดำรงอยู่ เพราะจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ต้องเห็นด้วยทั้งกระบวนการ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐไทย และประเทศมาเลเซีย จะต้องไปสืบสภาพซึ่งกันและกันว่า ที่เขายืนยันว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เขาสามารถจะสื่อสารพูดคุยเพื่อลดการก่อเหตุได้ และจะต้องเกิดความชัดเจนว่ากลุ่มไหน พวกไหนที่ก่อให้เกิดปัญหาจะได้มาแก้ไขกันต่อไป ส่วนล่าสุด ที่ทางบีอาร์เอ็นยังแถลงผ่านยูทิวบ์อีกรอบนั้น เป็นข้อเรียกร้องเนื้อหา 5 ข้อเดิมที่ฝ่ายเขาต้องการคำตอบ แต่คำตอบที่สำคัญที่สุดของเรา คือ การมารับฟังประชาชนก่อนว่า สิ่งที่เค้าพูดคุยเป็นปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่
ซึ่งรัฐบาลก็ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งข้อเรียกร้องเป้าหมายของบีอาร์เอ็นยังอยู่ภายใต้กรอบที่ต้องพูดคุยกัน รับฟังความคิดเห็นต่าง ยืนยันว่า อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยที่จะตกลงร่วมกัน และไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งจนถึงขณะนี้ ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นยังไม่ได้แจ้งอะไรมาเพิ่มเติม วันที่ 13 มิ.ย. นี้ ก็จะต้องพูดคุยในเรื่องลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ต่อไป ก็คงจะมีข้อเท็จจริงมากขึ้น และจะต้องมีคำตอบในระดับหนึ่ง