รองนายกฯ ด้านความมั่นคงลงพื้นที่ภาคใต้ครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง พร้อมด้วยเลขาฯ สมช. เยี่ยม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และเลี้ยงเปิดปอซอมัสยิดกลางปัตตานี “ภราดร” ย้ำไทยไม่เคยละเมิดข้อตกลงบีอาร์เอ็น ปลอบชาวสะเดาเหมารวมพื้นที่ก่อความไม่สงบแค่อำนวยความสะดวก ด้านหนึ่งในตัวแทนคุยบีอาร์เอ็นบอกไม่ควรไปสนใจ ด้าน “ทวี” คั้งคณะกรรมการตรวจสอบ
วันนี้ (21 ก.ค.) ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศปก.กปต.) พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกของ พล.ต.อ.ประชา หลังรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง โดยจะเดินทางไปรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ และการดำเนินการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเยี่ยมหน่วยปฏิบัติงานที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี พร้อมร่วมเลี้ยงรับประทานอาหารละศีลอด หรือเปิดปอซอ กับหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา และประชาชน ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีด้วย
พล.ต.อ.ประชา กล่าวก่อนลงพื้นที่ว่า ในฐานะที่ได้รับงานจากนายกรัฐมนตรีจึงจำเป็นต้องลงไปพบกับหน่วยที่ปฏิบัติในพื้นที่ เป็นการพูดคุยกัน และไปดูความพร้อม รวมถึงให้คำแนะนำบางประการ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนนโยบายการปฏิบัตินั้นชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งทุกหน่วยมีนโยบายชัดเจนในการปฏิบัติ ส่วนการดูแลประชาชนชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิม ยืนยันว่า เท่าเทียมกันไม่ได้มีการละเลยใดๆ เราให้ความสำคัญเท่ากันหมด
ด้าน พล.ท.ภราดร กล่าวถึงกรณีที่ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ในฐานะตัวแทนในการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทย ยื่นหนังสือต่อ นายดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย เพื่อประท้วงว่าฝ่ายไทย ได้ละเมิดข้อตกลงในการลดความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนว่า เราได้มีการชี้แจงผ่านผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียว่า ข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างนั้น การปฎิบัติของเรายังเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ ไม่ได้มีการละเมิดการปฏิบัติแต่ประการใดทั้งนี้ยืนยันว่า ฝ่ายไทยไม่ได้ตกเป็นรองฝ่ายบีอาร์เอ็น เพราะแนวทางในการดำเนินการของเรายึดภาคประชาชนเป็นหลัก โดยตอบสนองความปลอดภัยของประชาชน และแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะต้องไปตอบโต้ผ่านทางกระทรวงต่างประเทศ
ทั้งนี้ หลักของเราคือ มาตรการเชิงรับ คือ การดูแลความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนทั้งเป้าหมายที่อ่อนแอ และสถานที่สำคัญต่างๆ ส่วนพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลาเรายืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ก่อความไม่สงบ พื้นที่หลักในการก่อความไม่สงบยังเป็นพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บวกกับ 4 อำเภอใน จ.สงขลาอยู่ ทั้งนี้ อ.สะเดา เป็นช่องทางที่ประชาชนชาวไทยมุสลิมที่ไปทำงานที่มาเลเซียแล้วต้องเดินทางกลับมายังประเทศไทยช่วงเดือนรอมฎอนจำนวนมาก ซึ่งผู้อำนวยความสะดวกสื่อสารตรงนี้มาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยให้ประชาชนชาวไทยมุสลิมเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมว่า เป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยแต่อย่างใด ทั้งนี้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เราต้องยอมรับว่า ไม่ได้เกิดจากขบวนการก่อความไม่สงบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยจากภัยแทรกซ้อนอย่างอื่นอีก เหตุความรุนแรงคงจะต้องมีบ้าง แต่จากสถิติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ยังน้อยกว่า 4 ปีที่ผ่านมาอยู่มาก
อีกด้านหนึ่ง พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 และหนึ่งในตัวแทนที่พูดคุยเพื่อสันติภาพ ระหว่างตัวแทนรัฐบาล กับบีอาร์เอ็น กล่าวถึงกรณีที่บีอาร์เอ็นส่งสัญญาณว่า ไทยเป็นฝ่ายละเมิดสิทธิก่อน ว่า ไม่ควรไปสนใจ เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อเหตการณ์ที่เกิดขึ้น และเบื้องต้น คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามผลเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ในช่วงเดือนรอมฎอน พบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาจากเรื่องอื่นมากกว่า โดยเฉพาะกรณีเหตุยิง มีทั้งเรื่องส่วนตัว ยาเสพติด และความขัดแย้ง
ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายอดทนเพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชน ตอนนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนแล้ว ถือว่าอยู่ระหว่างการเร่งหาข้อเท็จจริง ขอเป็นกำลังใจกับทุกฝ่าย เพื่อสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้