xs
xsm
sm
md
lg

“ภราดร” ปลื้มรอมฎอนดีกว่าปีก่อนๆ ปัดบีอาร์เอ็นชี้ “สะเดา” พื้นที่เสี่ยง ชู “ประชา” เหมาะดูใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
เลขาฯ สมช. แจงสถานการณ์รอมฎอนถือว่าเป็นผลดีเมื่อเทียบปีก่อนๆ อ้างเหตุป่วนส่วนใหญ่เรื่องส่วนตัว รอสรุปภาพรวม เหตุลดถือว่าถกสันติภาพเป็นผล ปัดบีอาร์เอ็นมอง อ.สะเดาพื้นที่เสี่ยง แค่ห่วงคนไทยกลับจากมาเลย์แยะ ยันไม่ได้ลดกำลังในสงขลา แค่ปรับให้เหมาะ ลั่นไม่ได้ถูกโจรใต้ชี้นำ พร้อมใช้เสียง ปชช.ออกแบบมาตรการ เผยรายงานยังไร้แผนป่วน รับแนวโน้มดีแต่ไม่ประมาท ชีวิตคน จชต.ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบีอาร์เอ็น อวย “ประชา” ดูแลใต้เป็นเรื่องดี

วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยภายหลังเข้าหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอนว่า ได้รายงานความก้าวหน้าสถานการณ์ในช่วงต้นเดือนรอมฎอน โดยเทียบเคียงกับสถิติที่ผ่านมาพบว่าผลเป็นในเชิงบวก เพราะเมื่อเทียบกับช่วง 5 วันในเดือนรอมฎอนในอดีต ย้อนไป 4 ปี ถือว่าปีนี้ดีที่สุด ไม่ได้เกิดเหตุ ซึ่งในอดีตเฉลี่ยจะเกิดเหตุรุนแรง 5-11 ครั้ง ทั้งนี้ ปกติเหตุการณ์รุนแรงในอดีตที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนกับปลายเดือนรอมฎอน สถานการณ์รุนแรงจะเกิดขึ้นมาก ส่วนช่วงกลางเดือนจะไม่ค่อยเกิดเหตุ

สำหรับเหตุการณ์คนร้ายยิงชาวบ้านเสียชีวิตที่ อ.เมือง ยะลา เมื่อกลางดึกวันที่ 15 ก.ค. และช่วงเช้าวันที่ 16 ก.ค.ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลานั้น พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ตนได้รับรายงานว่าเป็นเรื่องปัญหาส่วนตัวของบุคคล ไม่ใช่การสร้างสถานการณ์ ทั้งนี้ จากการที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ว่าราชการจังหวัดสรุปสาเหตุตั้งแต่เข้าเดือนรอมฎอนเป็นต้นมา ยังเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่าการสร้างสถานการณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการวัดผลการลดการก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนเมื่อใด พล.ท.ภราดรกล่าวว่า คงต้องเอาตัวเลขทั้งเดือนรอมฎอนมาสรุปผลแล้วนำมาถัวเฉลี่ยในแต่ละห้วงเพื่อเปรียบเทียบกับ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนลดลง แสดงว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพประสบความสำเร็จ และเป็นนโยบายยุทธศาสตร์หลักที่ต้องดำเนินการต่อไป

เมื่อถามว่าจะทำหนังสือประท้วงแถลงการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ระบุว่า อ.สะเดา จ.สงขลา เข้าไปเป็นพื้นที่เสี่ยงด้วยหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า นัยของบีอาร์เอ็นไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง แต่ในข้อเท็จจริงทางฝ่ายขบวนการมองว่าพื้นที่ดังกล่าวมีพี่น้องชาวไทยข้ามไปอยู่ฝั่งมาเลเซียเป็นจำนวนมาก แล้วจะมีการเดินทางกลับมาในช่วงปลายเดือนรอมฎอนเป็นจำนวนแสนๆ คน โดยผ่านจุดนี้ เขาจึงมีความกังวลโดยให้เราดูแลความปลอดภัยและการอำนวยสะดวกต่างๆ ให้ เฉพาะในห้วงเดือนรอมฎอนเท่านั้น นัยมีแค่นี้ ไม่ใช่พื้นที่อันตรายอะไร

เมื่อถามถึงกรณีนักธุรกิจใน จ.สงขลา กังวลว่ามาตรการลดการป้องกันของเจ้าหน้าที่ในช่วงเดือนรอมฎอนจะส่งผลต่อธุรกิจ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ลดมาตรการ เพียงแต่ปรับกำลังให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมในช่วงเดือนรอมฎอน โดยมีการปรับกำลังทหารที่แต่เดิมอาจจะมีการวางถี่ แต่เปลี่ยนเป็นปรับพื้นที่รวมพลในที่ที่เหมาะสมและพร้อมที่จะเคลื่อนที่เร็วได้ตลอดเวลาหากมีเหตุการณ์ขึ้น ขณะเดียวกัน กำลังเจ้าหน้าที่เราไม่ได้ลดลง ยังเท่าเดิม เพียงแต่นำกำลังตำรวจ และอาสารักษาดินแดน (อส.) เข้าไปแทน

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนมองว่ารัฐถูกบีอาร์เอ็นชี้นำ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า คงไม่ได้ชี้นำ เพราะแผนสันติสุข 4567 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เกิดจากเสียงสะท้อนของประชาชนทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดจากขบวนการใด เป็นมาตรการที่ฝ่ายเราเป็นผู้ออกแบบไว้ ซึ่งเราคาดหวังว่าสถิติที่ลดลงในช่วงเดือนรอมฎอนจะทำให้วางใจได้ตลอดไป แต่เราต้องดูพฤติกรรมและความจริงใจกันต่อไป เรื่องพฤติกรรมจะดูได้ต้องอยู่ที่เหตุการณ์ คงจะต้องเฝ้ามองกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เราต้องมีความระมัดวังตลอดเวลา เพราะปัจจุบันการก่อเหตุมีได้หลายปัจจัย

เมื่อถามว่า ได้รับรายงานข่าวว่าจะมีการเกิดเหตุในช่วงนี้บ้างหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า จากการติดตามและประเมินยังไม่มี เมื่อถามว่าเหตุการณ์ที่ลดลงแสดงว่าตัวแทนบีอาร์เอ็นมีความสามารถที่จะพูดคุยในกลุ่มเขาได้จริงหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ต้องมองต่อไปว่าจริงไหนแค่ไหน เพราะยังมีห้วงเวลาที่เหลือ อย่างไรก็ตาม การข่าวของฝ่ายเราดูว่ามีแนวโน้มที่น่าจะดีขึ้น แต่ไม่ประมาท

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่หลังจากผ่านพ้นเดือนรอมฎอนไปจะมีการก่อเหตุอีก เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ที่คุยกันคือขอช่วงรอมฎอนไม่ให้มี แต่หลังรอมฎอนค่อยมาว่ากันใหม่ เมื่อถามว่า จะถูกมองได้หรือไม่ว่าการใช้ชีวิตของคนภาคใต้ขึ้นอยู่กับการตัดสินของบีอาร์เอ็น เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนมากกว่า ตามนโยบายรัฐต้องคุ้มครองประชาชนทั้งเชิงรุกและเชิงรับ

เมื่อถามว่า การที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี มาดูแลงานด้านความมั่นคง ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า พล.ต.อ.ประชามีประสบการณ์ เป็นทั้ง ส.ส. รัฐมนตรี และอดีตอธิบดีกรมตำรวจ แน่นอนว่าการมากำกับดูแลในเชิงบูรณาการทั้งสมช. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ และกระทรวงกลาโหม จะมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์แบบขึ้น เมื่อถามว่า พล.ต.อ.ประชา กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะอดีตรองนายกฯ มีการทำงานแตกต่างกันอย่างไร เลขาฯสมช.กล่าวว่า คนละสไตล์ แต่ทำงานได้ ทั้งนี้ พล.ต.อ.ประชาจะเข้ามาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.)


กำลังโหลดความคิดเห็น