xs
xsm
sm
md
lg

“ระเบิดเวลา” ในไฟใต้ที่รอปะทุครั้งใหม่ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นมา ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า แม้การก่อ “เหตุร้ายรายวัน” ยังคงดำรงอยู่ โดยเป้าหมายของผู้ตกเป็นเหยื่อมีด้วยกัน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ตำรวจ ทหาร และข้าราชการพลเรือน กลุ่มที่ 2 คือ ประชาชน แต่สิ่งหนึ่งที่หายไปจากการเป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ นั่นคือ “คาร์บอมบ์”
 
เพราะคาร์บอมบ์ และจักรยายนต์บอมบ์ รวมทั้งระเบิดแสวงเครื่องชนิดต่างๆ ที่ “แนวร่วม” เคยใช้ในการทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ และในการทำลายเป้าหมายที่ต้องการก่อการร้าย ได้ลดความถี่ลงทั้งในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา จนทำให้มองเห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบกำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี ความสูญเสียลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
 
ความสูญเสียของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นความสูญเสียครั้งสำคัญๆ ในเดือนกันยายนมีเพียง 3 ครั้งคือ การซุ่มโจมตีตำรวจชุดปราบน้ำมันเถื่อนของ ศชต. หรือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 ศพ และการซุ่มโจมตีทหารพรานจนทำให้มีทหารเสียชีวิต 3 ศพ และการพยายามฆ่าครูไทยพุทธที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
 
ส่วนการฆ่ารายวันที่ประชาชนตกเป็นเป้าในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสถานการณ์ความไม่สงบ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความขัดแย้งในเรื่อง “การเมืองท้องถิ่น” การแข่งขันในสนามเลือกตั้ง อบต. เพราะในเดือนตุลาคมจะมีการเลือกตั้งผู้บริหาร อบต.กว่า 200 แห่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
คำถามที่ทุกคนต้องการคำตอบคือ สถานการณ์การก่อการร้ายที่ลดความถี่ของการเกิดคาร์บอมบ์และระเบิดแสวงเครื่องมาจากอะไร หรือมี “ปัจจัย” อะไรที่ทำให้การก่อการร้ายจากการใช้ระเบิดแสวงเครื่องลดน้อยลง และระเบิดแสวงเครื่องจะกลับมาถี่ๆ เหมือนเดิมอีกหรือไม่
 
คำตอบคือ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มิใช่มีเพียง “บีอาร์เอ็นฯ” เพียงขบวนการเดียว และบีอาร์เอ็นฯ ก็ไม่สามารถที่จะ “พูดคุย” กับขบวนการก่อการร้ายกลุ่มอื่นๆ ให้หยุดการก่อเหตุร้ายได้อย่างที่รับปากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไว้
 
ดังนั้น เมื่อ “รัฐไทย” เลือกที่จะพูดคุยกับบีอาร์เอ็นฯ เพียงกลุ่มเดียว กลุ่มอื่นๆ ที่ตก “ขบวนรถไฟสันติภาพ” จึงได้ปฏิบัติการด้วยความรุนแรงในพื้นที่ในตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ สมช.เปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นฯ โดยเฉพาะในช่วงของ “เดือนรอมฎอน” ที่บีอาร์เอ็นฯ ประกาศว่าจะลดความรุนแรงลง กลับมีเหตุรุนแรงเกิดมากขึ้น สวนทางกลับการประกาศของบีอาร์เอ็นฯ อย่างชัดเจน
 
ความรุนแรงดังกล่าวจึงมิใช่เกิดจากการกระทำของกลุ่มบีอาร์เอ็นฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการอื่นๆ ที่ สมช. หรือรัฐไทยไม่ให้ความสำคัญในการติดต่อประสานงานเพื่อพูดคุยเช่นเดียวกับที่ทำกับบีอาร์เอ็นฯ
 
ต่อเมื่อรัฐไทยโดย สมช. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เห็นว่าการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นฯ เพียงขบวนการเดียว และเชื่อว่าบีอาร์เอ็นฯ คงไม่มีความสามารถในการ “สั่งการ” ให้กลุ่มก้อน หรือขบวนการอื่นๆ ที่ยังมีอยู่ทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัด และในต่างประเทศเพื่อยุติการใช้ความรุนแรง สมช.และ ศอ.บต.ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนในการพูดคุยกับกลุ่มก่อการร้าย หรือกลุ่มผู้เห็นต่าง จึงได้ประสานงานติดต่อ เพื่อพูดคุยกับกลุ่มและขบวนการต่างๆ เช่น พูโลเก่า, พูโลใหม่, บีไอพีพี และกลุ่มอื่นๆ
 
ผลของการที่รัฐไทยให้ความสำคัญ และติดต่อประสานงานทำการพูดคุยกับทุกกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ จึงทำให้เกิดการลดการปฏิบัติการเพื่อเรียกร้องความสนใจจากรัฐ และเพื่อแสดงให้รัฐไทยเห็นว่า กลุ่มก้อนขบวนการของตนมีอยู่จริง และมีขีดความสามารถในการก่อเหตุร้ายให้เกิดความสูญเสียได้
 
ดังนั้น ในช่วงของการติดต่อประสานไมตรีระหว่างตัวแทนของรัฐไทยกับกลุ่มก้อน และขบวนการ จึงได้ลดการปฏิบัติการลง ปฏิบัติการที่ยังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นฝีมือของกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับเวทีการพูดคุยเพื่อยุติความรุนแรง ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก
 
การที่ สมช.และ ศอ.บต.เปิดพื้นที่พูดคุยกับตัวแทนทุกขบวนการ แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่ดีเพื่อให้ทุกกลุ่มทุกขบวนการได้อยู่ในขบวนรถไฟสันติภาพ ไม่มีผู้ตกขบวนรถออกมาเรียกร้องความสำคัญ และก่อการร้ายเพื่อสร้างความสำคัญ แต่สิ่งที่ติดตามมาคือ “ความยุ่งยาก” ต่อเวทีการพูดคุย เนื่องจากแต่ละกลุ่ม แต่ละขบวนการมีความเห็น มีความต้องการที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีอยู่หลายกลุ่ม หลายขบวนการที่เกือบจะหมดสภาพของการเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน สามารถอาศัย “ช่องทาง” ของการพูดคุยสร้างราคา และสร้างขบวนการให้ฟื้นคืนมาใหม่อีกครั้ง รวมทั้งเรียกร้องในสิ่งที่ “แพง” เกินความจริง
 
และการพูดคุยของ สมช.กับของ ศอ.บต.นั้น เปิดเพียงการรับฟังข้อเรียกร้อง ข้อเสนอแนะ และความต้องการของขบวนการต่างๆ แต่ไม่สามารถที่จะให้คำตอบ หรือตกลงในเรื่องของข้อเรียกร้องต่างๆ ได้ เช่น ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นฯ ที่มีหลายข้อไม่สามารถทำได้ตามข้อเรียกร้อง จนสุดท้ายการพูดคุยจึงทำได้แค่พูดคุย แต่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่ฝ่ายผู้เรียกร้องต้องการได้ ซึ่งบทสรุปสุดท้ายคือ แค่เป็นการ “ซื้อเวลา” เพื่อลดความรุนแรงเพียงครั้งคราวเท่านั้น
 
ดังนั้น คาร์บอมบ์ และระเบิดแสวงเครื่อง และความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังจะมีต่อไป และยังจะรุนแรงมากขึ้น หากการพูดคุยกับขบวนการ และกลุ่มก้อนต่างๆ ที่แสดงตัวออกมาพูดคุยกับรัฐไทยเพื่อผลประโยชน์ที่ต้องการ และไม่สมประโยชน์ เพื่อ “บีบ” ให้รัฐไทยต้องให้ในสิ่งที่ต้องการ เพราะแทนที่จะเป็นการปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ เพียงกลุ่มเดียว จะกลายเป็นปฏิบัติการจากหลายกลุ่ม และสุดท้าย ขบวนการทั้งหมดทั้งปวงจะจับมือเป็น “พันธมิตร” กันอีกครั้งเพื่อ “กดดัน” รัฐไทยให้ต้องเดินใน “ลู่” ที่ขบวนการต้องการ
 
ถ้าเป็นดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานในพื้นที่ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศชต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบทาง “ยุทธการ” จะต้องมีความพร้อมทั้งด้าน “การข่าว” และ “ยุทธวิธี” เพื่อ รักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน
 
เพราะหากลักษณะการพูดคุยที่ไม่มีความ “ก้าวหน้า” เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นฝ่ายขบวนการจะใช้ความรุนแรงเป็นการกดดันอย่างแน่นอน และนั่นหมายถึง “ประชาชน” ในพื้นที่จะต้องกลายเป็น “ตัวประกัน” กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศชต.จะช่วยเหลือตัวประกันเหล่านี้อย่างไร
 
และนี่คือ “โจทย์” ข้อใหญ่ของ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น