xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธการใหม่โหมไฟใต้! เก็บ ‘ผู้นำศาสนา-การเมือง’ ป้ายสีรัฐ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
สถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเดินหน้าไปสู่โหมดของ “ความรุนแรง” โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุพุ่งเป้าหมายไปยังผู้นำศาสนาในพื้นที่ จ.ปัตตานี เป็นเป้าหมายหลัก โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างความหวาดกลัวให้แก่ “ผู้นำศาสนาสายกลาง” ที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และเห็นด้วยกับการเปิดพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง
 
แต่ประเด็นที่สำคัญในการ “เก็บ” ผู้นำทางจิตวิญญาณของผู้นับถือศาสนาอิสลามในครั้งนี้ กลุ่มผู้ก่อการต้องการที่จะ “ป้ายสี” ว่าเป็นการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปลุกระดมให้ประชาชนเข้าใจผิด มองเห็นเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหาร และตำรวจคือ “ศัตรูของมุสลิม” และเป็นการปลุกระดมให้กลุ่มผู้เห็นต่างในภาคส่วนของ “เยาวชน” ปฏิบัติการก่อความไม่สงบ เพื่อเป็นการตอบโต้ หรือ “แก้แค้น” ให้แก่ผู้เสียชีวิต
 
กรณีการเสียชีวิตของ “ยะโก๊บ หร่ายมณี” อิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ทั้งที่มีหลักฐานในขั้นต้นพอสมควรว่า เป็นการปฏิบัติของคนร้ายในกลุ่มของ “แนวร่วม” ที่มีอาชีพเป็น “มือปืนรับจ้าง” อยู่ด้วย รวมทั้งจากการสืบค้นพบว่า อิหม่ามยะโก๊บ มีเรื่องส่วนตัว มีความขัดแย้งในองค์กร และมีความขัดแย้งในเรื่องธุรกิจที่ทำอยู่
 
แต่ด้วยความชาญฉลาดของกลุ่มผู้ก่อเหตุสามารถทำการปลุกระดม และโฆษณาชวนเชื่อ โดยใช้บุคคล และการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียไปสู่คนในพื้นที่ และต่างประเทศเพื่อป้ายสีให้เห็นว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ในขณะที่ไฟแห่งความแค้นของผู้คนที่หลงเชื่อในกรณีการเสียชีวิตของ อิหม่ามยะโก๊บ ยังร้อนระอุ ก็เกิดการเสียชีวิตของ “อับดุลรอฟา ปูแทน” อดีตนักการเมืองท้องถิ่น ครูสอนศาสนา เจ้าของโรงเรียนและมูลนิธิในพื้นที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
 
และที่สำคัญเป็นที่รู้กันว่า อับดุลรอฟา เป็นหนึ่งในคนสนิทของ “สะแปอิง บาซอ” อดีตเจ้าของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิติ ซึ่งเป็นผู้ถูกทางการระบุว่าเป็น “แกนนำ” ระดับสูงของขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต
 
การถูกฆ่าของ อับดุลรอปา ถูกกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนนำไปสร้างกระแส ด้วยการสื่อสารไปยังประชาชนผู้เป็นมุสลิมในพื้นที่ และต่างประเทศอย่างรวดเร็วหลังการเสียชีวิตเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยกล่าวหาว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ มีการพุ่งเป้าไปที่ทหารเป็นด้านหลัก
 
จากการสังเกตพบว่า ขบวนการ “ส่งสาร” เพื่อ “สื่อสาร” กับประชาชนของกลุ่มขบวนการในครั้งนี้เป็นไปอย่างมีระบบ มีทิศทางเดียวกัน และรวดเร็ว เหมือนกับจะรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการสังหาร อับดุลรอปา และมีการเตรียม “สาร” ที่จะสื่อไปสู่สังคมเอาไว้ล่วงหน้า
 
ด้วยความที่ อับดุลรอปา เป็นหนึ่งในคนสนิทของ สะแปอิง รวมทั้งเคยตกเป็นผู้ต้องหาของ กอ.รมน.และหน่วยงานด้านความมั่นคง การออกมากล่าวหาว่าทางการเป็นผู้ปฏิบัติการเก็บ อับดุลรอปาจึง “จุดติด” อย่างรวดเร็ว คนที่ได้รับสารจากกลุ่มขบวนการจึงเชื่อในทันที โดยที่ไม่ต้องหาเหตุและผลมาเป็นส่วนประกอบ
 
ดังนั้น ในวันนี้สถานการณ์ในชายแดนใต้ โดยเฉพาะใน จ.ปัตตานี จึงต้องมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องมีการออกมาตอบโต้เพื่อ “เอาคืน” จากกลุ่ม “เยาวชนสุดโต่ง” ที่ตกเป็นเครื่องมือทางอ้อมของกลุ่มผู้ปฏิบัติการฆ่า อิหม่ามยะโก๊บ และ อับดุลรอปา ในครั้งนี้ รวมทั้งจะมีกลุ่มขบวนการที่เรียกว่า “มือที่สาม” จะเข้าผสมโรงเพื่อโหมไฟใต้ ก่อนที่จะมีการ “พุดคุยสันติภาพ” ระหว่าง 3 ฝ่ายคือ ไทย บีอาร์เอ็น และมาเลเซียในครั้งที่ 4
 
สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” กำลังตกหลุมพรางที่ฝ่ายตรงข้ามขุดขึ้น และจากการตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า กลุ่มขบวนการผู้ก่อการยังมีการ “จับเป้า” บุคคลที่เป็นผู้นำศาสนา นักการเมืองท้องถิ่น ครูสอนศาสนา ซึ่งเป็นผู้นำของประชาชนในพื้นที่ โดยจะมีการปฏิบัติการเช่นเดียวกับที่ทำกับ อิหม่ามยะโก๊บ และ อับดุลรอปา เพื่อเพิ่มความรุนแรงของสถานการณ์ และเติมไฟแค้นของประชาชนที่เข้าใจผิดให้มีความ “คับแค้น” และ “เกลียดชัง” เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกับ “กองทัพ” ให้มากยิ่งขึ้น นั่นคืนแผนการในการแยก “มวลชน” ออกจากอำนาจรัฐ
 
ยิ่งมีคำตอบจาก “ฮัสซัน ตอยิบ” ตัวแทนบีอาร์เอ็นผ่านทางสื่อต่างๆ ว่า กรณีของ อิหม่ามยะโก๊บและ อับดุลรอปา รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ที่เสียชีวิตในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นการกระทำของบีอาร์เอ็น แต่ไม่รู้ว่าเป็นการกระทำของใคร ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อในข่าวสารทางโซเชียลมีเดียที่ส่งผ่านจากพื้นที่มากยิ่งขึ้น
 
“ทหาร” และ “ตำรวจ” จึงเป็นจำเลยของคนในพื้นที่ ดังนั้น เมื่อมีการโจมตีทหารและตำรวจ หรือหน่วยงานที่ติดอาวุธเกิดขึ้น จึงไม่ได้รับ “ความเห็นใจ” จากประชาชน และในขณะเดียวกัน คนในกลุ่มบีอาร์เอ็นยิ่งจะกลายเป็น “คนดี” ในความรู้สึกของคนในพื้นที่
 
ดังนั้น วันนี้สิ่งที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” กับ “ศชต.” และหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ โดยเฉพาะ “สมช.” ซึ่งรับผิดชอบในการพูดคุยสันติภาพ 3 ฝ่ายจะต้องเร่งดำเนินการหาข้อเท็จจริงที่ “จับต้องได้” เช่น หลักฐาน พยาน คนร้ายที่ก่อเหตุในการฆ่าอิหม่ามยะโก๊บ และอับดุลรอปา ให้ได้โดยเร็ว
 
มีอีกภารกิจหลักคือ เมื่อทุกครั้งที่มี “คนตาย” โดยเฉพาะผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือครูสอนศาสนาเกิดขึ้น เมื่อบีอาร์เอ็นบอกว่าไม่ได้กระทำ สิ่งที่หน่วยงานของรัฐต้องเร่งดำเนินการคือ การหากลุ่มผู้กระทำว่าเป็นกลุ่มใด เป็นกลุ่ม “นักรอบปัตตานี” หรือเป็นกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ หรือเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเป็นการกระทำของมือที่สามที่ต้องการให้ชายแดนใต้ตกอยู่ในเมฆหมอกของความมืดมน เพื่อรักษาผลประโยชน์เอาไว้
 
สิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงต้องนำมาวิเคราะห์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ “ถูกสร้าง” ขึ้นมานั้น ในห้วงของเดือน ก.ย.-ต.ค. จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในระดับ อบต.เป็นจำนวนมาก เช่นที่ จ.ปัตตานี มีกว่า 80 แห่ง ที่ จ.ยะลา อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งการแข่งขันทางการเมืองท้องถิ่นคือ สาเหตุของการ “สั่งตาย” จากคู่แข่งทางการเมือง
 
โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ควรลืมคือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีแผนในการ “รุกคืบ” ทางการเมือง ด้วยการส่งผู้บริหารของขบวนการเข้า “ยึดครอง” พื้นที่ โดยการเป็นผู้บริหาร อบต.ต่างๆ เพื่อความมั่นคงทางการเมือง และการทหารของขบวนการ
 
ดังนั้น ในวันนี้การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะทำหน้าที่แถลงข้อเท็จจริงของสถานการณ์ให้ประชาชนรับรู้เพียงอย่างเดียว หรือมีหน่วยงานของรัฐออกมา “แก้ข่าว” วันละครั้ง แถมประชาชนไม่เชื่อถืออีกต่างหาก การกระทำแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่เพียงพอแล้ว เพราะประชาชนในพื้นที่รับสารที่สื่อจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายทางโซเชียลมีเดีย ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 
นี่คือโจทย์ใหญ่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และของฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยว่า จะแก้สมการนี้อย่างไร และจะทำดำเนินการอย่างไรกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสื่ออิสระที่เกิดขึ้นมากมาย โดยที่ไม่มีกรอบของการควบคุมที่ชัดเจน จนกลายเป็นช่องทางให้กลุ่มก้อนของขบวนการใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารกับประชาชนในทางที่ไม่ชอบ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของพื้นที่ชายแดนใต้.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น