คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืนกระต่ายขาเดียวว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านให้เหตุผลว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม เพราะรัฐบาลนี้ได้ใช้เสียงข้างมากออกกฎหมายล้างผิดให้คนโกง คนก่อคดีอาญา และตามด้วยการไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย
ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือ จริงๆ แล้วระบอบประชาธิปไตยมันหมายถึงอะไรกันแน่ ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างจึงจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย ทำไมความหมายของประชาธิปไตยซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นระบอบการปกครองที่มีข้อเสียน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับระบอบอื่นๆ จึงได้ถูกลดทอนความหมายลงมาแค่จำนวนมือของคนในสภาผู้แทนเท่านั้น
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชาธิปไตยได้ถูกลดทอนความหมายลงมาแค่เป็นจำนวนในวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์คณิตศาสตร์มาตลอด ผมรู้สึกเจ็บปวดซ้ำสอง เพราะแท้ที่จริงแล้วคณิตศาสตร์ไม่ได้มีความหมายเป็นแค่เรื่องของตัวเลข แต่มันมีองค์ประกอบสำคัญที่มากกว่าตัวเลขด้วย เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์ประกอบที่สำคัญมากกว่าการเลือกตั้ง
แต่ก่อนจะกล่าวถึงความหมายที่แท้จริงของ “ประชาธิปไตย” และ “คณิตศาสตร์” ผมขอนำคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักคิด นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ มาชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการเรียนรู้อย่างผิวเผินของสังคมไทยที่ผ่านมา
ไอน์สไตน์ ได้กล่าวว่า “Everything should be made as simple as possible, but not simpler.” ซึ่งผมขอแปลว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างควรทำ (หรืออธิบาย) ให้ง่ายที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ง่ายกว่านี้”
ประเด็นที่ชวนคิดก็ตรงท่อนหลังสุดของประโยคนี้ที่ว่า “แต่ต้องไม่ง่ายกว่านี้” ว่ามันมีความหมายอะไร และสำคัญอย่างไร
คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าวิชาคณิตศาสตร์ คือวิชาที่ว่าด้วยการคำนวณ หรือการคิดเลข ใครที่คิดเลขได้เร็ว และถูกต้องจะได้รับคำชมเชยว่า “เก่งคณิตศาสตร์” หรือ “เก่งเลข” ดังนั้น ผู้ปกครองจำนวนมากจึงส่งลูกไปเรียนพิเศษเพื่อให้คิดเลขได้เร็ว แล้วเด็กๆ ก็สามารถทำได้เร็วจริงตามตั้งใจ (ประเทศนิวซีแลนด์ ไม่มีการกวดวิชา นักเรียนไม่มีการเข้าแถวเคารพธงชาติ บ้านเราเคารพธงชาติวันละ 2 เวลา แต่ทั้งโกงชาติ และทะเลาะกันเองอย่างอุตลุด)
แต่ความจริงแล้ว วิชาคณิตศาสตร์ไม่ได้มีเฉพาะการคำนวณเท่านั้น แต่ประกอบไปด้วย 4 ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันเลย คือ ว่าด้วยเรื่องปริมาณ (quantity - ว่าด้วยจำนวน ซึ่งไม่ใช่แค่การคำนวณเท่านั้น) โครงสร้าง (structure- หรือรูปแบบ (pattern) ทั้งที่เป็นโครงสร้างจับต้องได้ เช่น เรขาคณิต และโครงสร้างนามธรรม เช่น พีชคณิตนามธรรม) สเปส (space-บริเวณ) และการเปลี่ยนแปลง (change) ในบางวิชาของคณิตศาสตร์ชั้นสูงแทบจะไม่มีการคำนวณเลยดังที่เราเข้าใจเสียด้วยซ้ำ นักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของโลกบางคนไม่สามารถคิดเงินทอนเวลาซื้อของได้
นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกถึงกับกล่าวว่า ถ้าโลกนี้ปราศจากวิชาที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง (ในวิชาคณิตศาสตร์) เทคโนโลยีของโลกก็ไม่มีทางก้าวหน้าดังทุกวันนี้
ดังนั้น ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนต่อวิชาคณิตศาสตร์จึงนำไปสู่การอบรมบุตรหลานที่ไม่ถูกต้อง และในบางกรณีอาจนำไปสู่การปิดกั้นความสามารถทางการเรียนรู้ที่ควรจะเป็นเสียด้วยซ้ำ
ในเบื้องต้น ผมว่าแทนที่จะสอนบุตรหลานให้คิดเลขเร็วอย่างเดียว เราน่าจะเน้นที่การสอนให้เด็กรู้จักสังเกต หารูปแบบทั้งที่เป็นธรรมชาติ สิ่งก่อสร้าง และตัวเลขด้วย สอนให้รู้จักประมาณการ หรือคาดหมายการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เป็นต้น
เพื่อขยายคำอธิบายที่สั้น และย่อมากดังกล่าว ผมขอนำภาพมาประกอบด้วย ภาพซ้ายมือนอกจากจะเป็นการคำนวณให้ได้ผลลัพธ์แล้ว ยังแสดงถึงการจัดรูปแบบ (pattern) ด้วย ถ้าจะฝึกให้เด็กๆ คิดก็ลองตั้งคำถามว่า ถ้า 11X11 (ซึ่งเป็นจำนวน 2 หลัก) จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 121 โดยมี 2 อยู่ตรงกลาง และถ้าเป็นจำนวน 3 หลัก คือ 111X111 = 12,321 โดยมี 3 อยู่ตรงกลางและขนาบด้วยเลข 2 ต่อไปก็ลองตั้งคำถามไปเรื่อยๆ จนถึงจำนวน 9 หลัก (ดังรูป) และถ้าเป็นจำนวน 10 หลักจะได้อะไร เป็นต้น สำหรับอีก 2 ภาพที่เหลือมาจากพืชชนิดหนึ่งซึ่งมีรูปแบบการเรียงตัวที่แปลก และสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ซึ่งก็มีรูปแบบทางคณิตศาสตร์ซ่อนอยู่อย่างสวยงาม และซับซ้อน หากส่วนย่อยถูกเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถนำมาประกอบกันเป็นส่วนใหญ่อย่างลงตัวที่สวยงามได้
ประเด็นที่จะขอสรุปในเบื้องต้นก็คือ เพราะเราเข้าใจวิชาคณิตศาสตร์น้อยกว่าความเป็นจริงที่มีอยู่ (หรือที่ไอน์สไตน์ได้เตือนไว้ว่าต้องไม่ง่ายกว่านี้) จึงนำไปสู่การให้การศึกษาอย่างไม่สมบูรณ์แบบทั้งการพัฒนาของสมอง และการนำไปใช้ประโยชน์จริง
ต่อไปผมจะกล่าวถึงคำอธิบายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นคำที่มีความซับซ้อนทั้งความหมาย และกระบวนการ คำอธิบายที่โด่งดังที่สุดในโลกและเราต่างก็ท่องจำกันจนขึ้นใจคือ “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” (คำพูดของประธานาธิบดีลินคอล์น ของสหรัฐอเมริกา)
ถ้าเรานำคำพูดของไอน์สไตน์มาจับ ก็ต้องตั้งคำถามว่า เป็นคำอธิบายที่ง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แล้วหรือยัง แล้วถ้าจะอธิบายให้ง่ายกว่านี้แล้ว เมื่อนำไปปฏิบัติจริงจะทำให้เกิดความเสียหายไหม
ผมว่าคำอธิบายนี้ได้กล่าวถึงทั้งความหมาย ทั้งกระบวนการโดยประชาชน และมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อประชาชน แต่มันมีองค์ประกอบที่จำเป็นครบถ้วนแล้วหรือ? กลับมาที่ความหมายที่ครบถ้วนและจำเป็นของ “ประชาธิปไตย” อีกทีครับ แล้วมาช่วยกันดูซิว่า หากความหมายที่น้อยกว่านี้ หรือง่ายกว่านี้ (อย่างที่ไอน์สไตน์เตือน) แล้วจะเกิดปัญหาอะไร
ผมลองค้นคำว่า “What is Democracy” ในกูเกิล ก็ได้พบความหมายที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นมาจาก Stanford University บอกว่า “คือระบบการปกครองที่ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ” คือ
หนึ่ง คือระบบการเมืองสำหรับการเลือกหารัฐบาลโดยการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ และยุติธรรม (ผู้ลงคะแนนต้องสามารถกระทำได้อย่างเป็นความลับ ปราศจากการข่มขู่คุกคาม และความรุนแรง - ไม่ยักบอกว่าปราศจากการซื้อเสียง เพราะคงคิดไม่ถึงว่าเมืองไทยมีเยอะ)
ถ้าเอาความหมายนี้มาส่องดูในบ้านเรา พบว่าเราขาดความเป็นอิสระตั้งแต่การบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคการเมืองแล้ว ซึ่งนักวิชาการบางคนบอกว่ามีแค่ 2 ประเทศในโลกเท่านั้นที่มีข้อกำหนดดังกล่าว ยังไม่จำเป็นต้องพูดถึงการต้องยกมือในสภาฯ
สอง การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประชาชนในฐานะพลเมือง ทั้งในทางการเมือง และวิถีชีวิตของพลเมือง
ในประเด็นนี้ ผมเห็นว่าการลุกขึ้นมา “ขอคืนอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย” ครั้งนี้ได้สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันเมื่อเทียบกับระยะ 81 ปีของการมีประชาธิปไตย แต่นอกจากนั้น เรามักจะถูกมอมเมาให้หลงลืมการทำหน้าที่ต่อสาธารณะ ถูกมอมเมาโดยสื่อมวลชนที่ตกอยู่ใต้อำนาจทุน โชคดีที่เรามีการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ อำนาจของปัจเจกชนจึงได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
สาม การปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมืองทุกคน (ซึ่งสิทธิดังกล่าวต้องเป็นไปตามกฎหมายสากลระหว่างประเทศ) คำว่า “สิทธิ” ตามตัวหนังสือหมายถึง “อำนาจอันชอบธรรม” ซึ่งต้องถือเป็น “หน้าที่” ของรัฐที่ต้องคุ้มครองดูแลไม่ให้ใครมาละเมิด
สี่ การใช้หลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งกฎหมาย และกระบวนการใช้กฎหมายต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อพลเมืองทุกคน
การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้คนโกงชาติของรัฐบาลนี้ได้ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยที่มิอาจให้อภัยได้ ยังไม่ต้องกล่าวถึงการไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ
ในทัศนะของผมแล้ว องค์ประกอบที่สำคัญทั้ง 4 นี้ไม่สามารถตัดออกไปจากคำอธิบายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ได้เลย
ไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว
แต่เราได้รับคำอธิบายอย่างผิวเผินแบบง่ายๆ สั้นๆ ว่า “คือระบบที่ถือมติตามเสียงข้างมาก” โดยไม่คำนึงถึงอีก 3 องค์ประกอบคือ (1) การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของพลเมือง (2) การเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งไม่เพียงแต่หมายถึงส่วนน้อยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงปัจเจกชนเป็นรายๆ ด้วย และ (3) ต้องใช้หลักนิติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ในฐานะที่ได้ทำงานเป็นอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเกือบ 2 ปีพบว่า ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐทั่วประเทศต่างขอเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในสังคม ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ โครงการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย 3.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะโครงการขุดแม่น้ำสายใหม่ (Flood Way) ยาวร่วม 300 กิโลเมตร ที่ประชาชนในแต่ละจังหวัดได้รวมตัวกันแสดงออกว่า “ไม่เอา” และได้ล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นไปเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดทางปลายๆ น้ำ
ในการลุกขึ้นสู้ของประชาชนจำนวนมหาศาลคราวนี้ได้เกิดประเด็นใหม่ที่น่าสนใจศึกษาให้ลึกซึ้ง เช่น สันติวิธีเชิงรุก ซึ่งไม่ใช่การนั่งนิ่งๆ จนก้นเปื่อยอย่างที่เราเคยเข้าใจกัน แต่สามารถยึดสถานที่ราชการอย่างสงบ และปราศจากอาวุธ และการข่มขู่ให้หวาดกลัว
นอกจากนี้ ยังมีคำว่า “สภาประชาชน” ซึ่งนักกฎหมายมหาชนที่มีประสบการณ์จากหลายๆ ประเทศบอกว่าสามารถทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สิ่งเหล่านี้ต่างล้วนกำลังเรียกหาความกระหายใคร่รู้อย่างลึกซึ้ง และครบถ้วนของสังคมไทยทุกคนครับ มิเช่นนั้นเราอาจจะผิดพลาดซ้ำรอยเดิมอีกไปอีกนาน
โดยสรุป นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คณิตศาสตร์ไม่ใช่แค่การคิดเลข ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งโดยใช้จำนวนเลขคณิตเป็นตัวตัดสิน และนักการตลาดที่มีความจำเป็นต้องแปลงเนื้อหาวิชาการที่ซับซ้อนมาเป็นภาษาตลาดที่เข้าใจได้ง่ายๆ จนถึงง่ายที่สุด แต่ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ทำให้ง่ายกว่านี้ จนกลายเป็นเรื่องชุ่ย และสร้างปัญหาต่อประเทศ และสังคมไทยในขณะนี้.